Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

10 หลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ชาวพุทธสมควรศึกษา โดยพศิน อินทรวงศ์

Posted By มหัทธโน | 09 ก.ค. 63
314,201 Views

  Favorite

10 หลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ชาวพุทธสมควรศึกษา

(อ่านเพื่อไปค้นคว้าต่อด้วยตนเอง)

โดย พศิน  อินทรวงค์

 

1. "อิทธิบาทสี่"

ศึกษาเพื่อบ่มเพาะคุณธรรมแห่งความสำเร็จ  ไม่สับสนระหว่างฉันทะกับตัณหา  คือความรักที่จะลงมือทำและความอยากมี อยากได้ อยากเป็น   ผู้เข้าใจอิทธิบาทสี่จะประเมิณตนเองได้ว่า  สิ่งที่ตนกำลังทำอยู่จะพบกับความสำเร็จได้หรือไม่  เป็นหลักธรรมที่หาค้นคว้าได้ทั่วไป

 

2. "ศีลห้า"

ศีลห้านี้เป็นหลักธรรมที่เราได้ยินกันบ่อยที่สุด  แต่ความจริงแล้ว  เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  มีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย  โดยเฉพาะศีลในข้อวาจา  งดเว้นการพูดเท็จ  ซึ่งในสังคมปัจจุบันทำผิดกันมาก  จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา  ในพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า  ผู้ใดก็ตามที่โกหกจนเป็นนิสัย  หรือบิดเบือนความจริงจนเป็นนิสัย  ทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่กระพริบตา  บุคคลผู้นั้นย่อมมีอันตรายเพราะมีโอกาสสูงที่จะต้องตกอบายภูมิ  ดังนั้น  ศีลห้าจึงเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่  ที่จะทำให้ชีวิตของตน  และสังคมสงบได้  คุณธรรมนี้สามารถศึกษาค้นคว้าได้ทั่วไป

 

3. "อริยสัจสี่"

อริยสัจสี่นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  เป็นความจริงของชีวิต  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบและทำให้พระองค์หลุดพ้น    ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  คืออะไร  ชาวพุทธทั้งหลาย  ไม่ควรสงสัย  คลุมเครือ หรือไม่แน่ใจ  แต่ควรจะมีความเข้าใจ  แตกฉาน  สามารถตอบคำถามและแนะนำได้  หากมีผู้สงสัย   แม้ไม่รู้จักสิ่งนี้  คุณกำลังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าของตนเอง  หลักธรรมข้อนี้  สามารถศึกษาค้นคว้าได้ทั่วไป

 

ที่มาภาพ : Shutterstock.com

 

4. "ขันธ์ห้า"

หลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องขันธ์ห้านี้  อาจดูไกลตัวสำหรับคนทั่วไป  แต่ที่จริงแล้ว  ขันธ์ห้าคือสิ่งที่ทุกคนต้องศึกษาเล่าเรียน  เพราะขันธ์ห้านี้เอง  ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกูของกู  พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า  มนุษย์ทั้งหลายไม่เคยตื่นขึ้นเลย  มนุษย์ล้วนใช้ชีวิตอยู่ในการหลับไหล  ก็เพราะไม่รู้เรื่องขันธ์ห้า   ตราบที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องขันธ์ห้า  อย่าพูดเด็ดขาดว่าท่านรู้จักชีวิตของท่านดีแล้ว

 

5. "ระบบกรรม"

กรรมนิยาม  เป็นหนึ่งในกฏธรรมชาติห้าอย่าง  ที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกมาสั่งสอนชาวโลก  ระบบกรรมเป็นระบบที่ยุติธรรมเสมอ  ไร้ช่องโหว่  ถ้าเราศึกษาจนเข้าใจ  เราจะสามารถตอบคำถามของชีวิตได้อีกหลายอย่าง  ระบบกรรมนี้  ไม่ได้ระบุไว้เพียง  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  หากแต่ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย  ซึ่งถ้าไม่ศึกษา  ก็ไม่มีวันเข้าใจได้จากการคิด  วิเคราะห์ด้วยตนเอง  เพราะต้องใช้ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้น  จึงสามารถแยกย่อย  ตีแผ่ออกมาได้  แนะนำให้ศึกษาโครงสร้างของกรรม  เพราะจะสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องไปถามใครต่อใครอีกว่า  ทำไมเราเกิดมาเป็นแบบนี้  ทำไมต้องพบกันคนนี้  ทำไมมีแต่เรื่องแบบนี้  และจะแก้ไขชีวิตได้อย่างไรให้ดีขึ้น  ครุกรรมคืออะไร  อาสันนกรรมคืออะไร  อาจิณกรรมคืออะไร  กตัตตากรรมคืออะไร  เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวพุทธคนสนใจศึกษาเล่าเรียน

 

6. "ภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิด"

ในเรื่องภพภูมินี้  แม้คนส่วนใหญ่จะพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาไม่ได้  แต่หากไม่ศึกษาค้นคว้าไว้เลย  ก็จะเป็นเหตุให้มองโลกผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก  เพราะความรู้ภพภูมินี้  จะทำให้เราเข้าใจว่า  เราเองไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน  ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ที่สุด  ไม่ใช่คนที่เก่งกาจที่สุด  ตรงกันข้าม  เรานี่แหละที่เคยเกิดเป็นสัตว์นรก  เป็นเปรต  เป็นอสุรกาย  เป็นสัตว์เดรัจฉานมาแล้วนับไม่ถ้วน  เป็นเทวดาก็เป็นมาแล้ว    สูงที่สุดก็เคยเป็นมาแล้ว  ต่ำที่สุดก็เคยเป็นมาแล้ว  ทุกคนเป็นเพียงสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิด  ไม่มีใครดีไปกว่าใคร  ความเข้าใจเรื่องภพภูมินี้  จะทำให้เราสำนึกตนเองว่า  เราไม่สมควรประมาทต่อชีวิต อีกทั้งควรมองผู้อื่นดุจกัลยาณมิตร  หรือคนในครอบครัว  ไม่แบ่งเขา  แบ่งเรา  ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ  กระทำตนต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ  ความรู้เรื่องภพภูมินี้  สามารถศึกษาได้จากหนังสือเล่มต่างๆ (ร้านบริเวณท่าพระจันทร์จะมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาขายอยู่เป็นจำนวนมาก  ลองไปหาซื้อมาอ่านได้ตามอัธยาศัย) 

 

7. "จิตสุดท้าย"

หลักธรรมในข้อนี้  ถ้าพูดกันตามตรงอาจเป็นหัวข้อแรกๆ  ที่เราควรทำความเข้าใจ  เพราะความตายนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่าที่คิด  วันพรุ่งนี้กับชาติหน้า  เราไม่สามารถรู้เลยว่าอะไรจะมาก่อนมาหลัง ในการเวียนว่ายตายเกิดนั้น  มีคำว่า  "จิตดวงเดียวท่องเที่ยวไป"  คุณคนเดียวเท่านั้นที่เกิด  คุณคนเดียวเท่านั้นที่ตาย  คุณคนเดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยเหลือตนเองในนาทีสุดท้ายของชีวิต  ความรู้เรื่องจิตสุดท้ายนี้จะทำให้เราเข้าใจว่า  เราควรวางจิตก่อนตายอย่างไรเพื่อไม่ต้องเสวยภูมิอยู่ในนรก  นรกไม่ได้มีสำหรับคนชั่วเท่านั้น  แต่ยังมีไว้สำหรับคนดีที่มีความประมาทด้วย  เมื่อศึกษาความรู้เรื่องจิตสุดท้ายแล้ว  ขอให้ลองสังเกตอารมณ์ระหว่างวันของตนเองให้ดี  การสังเกตอารมณ์ของตนเอง  เป็นเหมือนการทำนาย  ประเมิณผลแบบคร่าวๆ  ว่าเมื่อสิ้นภพชาตินี้แล้วเราจะไปเกิดเป็นอะไรต่อ  สิ่งนี้ไม่ต้องไปถามใคร  ไม่ต้องไปพึ่งหมอดูที่ไหน  รู้ได้เป็นปัจจัตตังเฉพาะตน  ทำอย่างไร  ได้อย่างนั้น  ฝึกจิตมาอย่างไร  เตรียมรับผลแห่งการกระทำไว้ได้เลย

 

8. "สติปัฏฐาน 4"

คงเป็นเรื่องตลกไม่น้อย  ถ้าเราบอกว่า  เราเป็นชาวพุทธแต่เราไม่รู้จักความหมายของคำๆ นี้เลย  สติปัฏฐาน 4 คือหัวใจแห่งการปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถเอาชนะความทุกข์ได้  ทุกวันนี้เราเล่าเรียนเรื่องความสุขกันมากมาย  จากคนที่ยังมีความทุกข์อยู่  ศึกษาจากผู้อื่นแล้วยังไม่หายทุกข์  ก็มาศึกษาจากพระพุทธเจ้าของเราบ้าง  สติปัฏฐาน 4  คืออะไร  กาย  เวทนา  จิต  ธรรม  คืออะไร  ทำไมสติปัฏฐาน 4 จึงทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ  ดับทุกข์ได้อย่างถาวร  แล้วเราจะเริ่มต้นปฏิบัติในคุณธรรมข้อนี้ได้อย่างไร  ต้องบอกว่า  สติปัฏฐาน 4 นี้คือมรดกของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง  เป็นสิ่งที่ทำให้ศาสนาพุทธมีความแตกต่างจากศาสนาอื่น  หลักธรรมในข้อนี้  ควรหาเวลาปลีกตัวเพื่อศึกษา  เบื้องต้นอาจหาตำรามาอ่าน  ขั้นต่อไป  อาจลองไปศึกษาจากสำนักวิปัสสนาต่างๆ  และสุดท้ายควรนำหลักปฏิบัตินี้  มากระทำลงในชีวิตประจำวันด้วย  ถ้าทำได้อย่างนี้  เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่า  ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์

 

ที่มาภาพ : ShutterStock.com

 

9. "อานาปานสติ"

อานาปานสตินี้  เป็นเอก  เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญยิ่ง  ชาวพุทธทุกคนควรสนใจศึกษา  เพราะปฏิบัติง่าย  เราจะได้ไม่ต้องมานั่งพร่ำบ่นว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ  หายใจที่ไหน  ก็ปฏิบัติที่นั้น  หยุดหายใจเมื่อไหร่   ก็คือวันที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติ  อานาปานสตินี้  ผู้ภาวนาบ่อยๆ  ความโลภ  โกรธ  หลง  จะน้อยลง  พูดง่ายๆ ว่าจะเป็นคนดีขึ้น  จากเป็นคนดีธรรมดาๆ  ก็เป็นคนดีที่มีปัญญา  เรียกว่ากัลยณชน  จากเป็นกัลยาณชน  ก็กลายเป็นอริยบุคคล  เป็นพระโสดาบัน  พระสกิทาคามี  พระอนาคามี  และพระอรหันต์  จริงอยู่ตอนนี้เราเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา  แต่มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์โลกที่สามารถพัฒนาจิตใจได้  อย่ายอมจำนนกับคำว่าปุถุชนเพียงเพราะว่ามันง่าย  แต่จงฝืนจิต ฝึกตน  ให้มีคุณธรรมที่สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป  ทำได้อย่างนี้  จึงเป็นการลดทอนภพชาติ  ไม่ต้องทุกข์ทรมานตลอดกาลยาวนาน  คุณธรรมเรื่องอานาปานสตินี้  ศึกษาได้จากหนังสือหลายเล่ม  ของท่านพุทธทาสก็มี  หรือจะหาอ่านโดยตรงจากพระไตรปิฏก  หรือครูบาอาจารย์ต่างๆ ก็สุดแล้วแต่  สำคัญที่สุดคือเมื่อศึกษาเล่าเรียนจากตำรา และสำนักแล้ว  ก็ต้องนำมาปฏิบัติลงในชีวิตประจำวันด้วย

 

10. "มรรคมีองค์แปด"

มรรคมีองค์แปดนี้  เป็นทางสายเอก  แปลภาษาชาวบ้านว่า  เป็นคู่มือการใช้ชีวิตของผู้ที่ต้องการความเจริญ  ใครที่ต้องการความเจริญก็สมควรศึกษา  มรรคแปดนี้  มีอยู่ในศาสนาพุทธเท่านั้น  ไม่มีอยู่ในศาสนาอื่น  ปฏิบัติตามได้น้อย  ชีวิตก็เจริญได้น้อย  ปฏิบัติตามได้มาก  ชีวิตก็เจริญได้มาก  ปฏิบัติตามไม่ได้เลย  ชีวิตก็ย่อมพบกับความหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย  คุณธรรมมรรคแปดนี้  เป็นการบริหารจัดการชีวิตแบบองค์รวมทั้งชาตินี้และชาติหน้า  และเป็นไปเพื่อพระนิพพานโดยที่สุด    เป็นการมองการใช้ชีวิตด้วยวิสัยทัศน์ของคนระดับพระพุทธเจ้า  ดังนั้น  เราควรจดจำ  ท่องบ่นจนคล่องปาก  และจัดสรรชีวิตของตนให้มีความสอดคล้องกับหลักมรรคแปด  อาชีพแบบไหนดี  ความคิดแบบไหนควรคิด  อะไรคือความเชื่อ  อะไรคือความจริง  เราควรพูดแบบไหน  คบใคร  สมาธิคืออะไร  สติคืออะไร  สามารถเรียนรู้ได้จากหลักธรรมนี้ทั้งหมด  ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธ  ไม่รู้หลักธรรมข้อนี้ถือเป็นเรื่องน่าอายเป็นที่สุด

 

*หลักธรรมทั้ง 10 หมวดนี้  เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ชาวพุทธสมควรศึกษา  เพราะเป็นหลักธรรมขั้นพื้นๆ  ที่จะทำให้เราสามารถต่อยอดไปศึกษาในสิ่งที่ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป  ชีวิตคือการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด  ผ่านการงาน  ครอบครัว  และการทำหน้าที่  ถ้าเราใช้ชีวิตได้อย่างนี้  เราจะกลายเป็นคนที่งดงามในสายตาของมนุษย์  สัตว์  เทวดา  ร่วมถึงงดงามในสายตาของพระพุทธเจ้าด้วย 

 

คำแนะนำสำหรับท่านที่สนใจศึกษา

ขอให้ท่านทั้งหลาย  ตั้งใจ  วางแผนในการศึกษาในหลักธรรมเหล่านี้ให้ดี   

 

สัปดาห์หนึ่ง  ท่านอาจตั้งใจว่า  "ฉันจะศึกษาเรื่องศีล"  อีกสัปดาห์ท่านอาจจะตั้งใจว่า  "ฉันจะศึกษาเรื่องภพภูมิ"  ท่านอาจทำตารางประจำเดือนของท่าน ว่าเดือนนั้นเดือนนี้ ท่านจะศึกษาธรรมะหัวข้ออะไรบ้าง   จะทำให้การศึกษาเป็นไปโดยง่ายและไม่สับสน  อย่าศึกษาแบบลูบๆ คลำๆ  อย่าศึกษาแบบมักง่ายทำเพียงผ่านๆ  เพราะถ้าท่านทำอย่างนั้น  ท่านก็จะไม่สามารถเข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมะได้     

 

เมื่อท่านรู้จักและเข้าใจหลักธรรมได้สักสิบหมวด  ท่านจึงเริ่มร้อยเรียงหลักธรรมที่เหลือได้เอง  ท่านจะเห็นว่า  หลักธรรมแต่ละหมวดนั้นเชื่อมโยงกันหมด  เมื่อท่านจะเริ่มปะติดปะต่อความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมได้    ท่านจะเห็นความสำคัญของการปฏิบัติด้วยตนเอง  ไม่ต้องมีใครบังคับท่านก็อยากปฏิบัติ  เต็มใจปฏิบัติ  และสนุกกับการปฏิบัติ  เพราะท่านตระหนักด้วยตนเองว่าธรรมะสำคัญแค่ไหน  และท่านมีความรักในพระพุทธเจ้าเพียงไร 

 

หลังจากนั้นชีวิตของท่านจะกลายเป็นวิถีชีวิตแห่งการภาวนา  ที่มีการรับรู้ดูลมหายใจ  เห็นการเกิดดับของสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องปกติ    ถึงตอนนั้น  กิเลส ของท่านจะเบาบางลงไป  ขณะที่ความเบิกบานของท่านจะเพิ่มพูน ท่านจะมองผู้อื่นเหมือนเพื่อนของท่าน   ถึงวันหนึ่งท่านอาจแนะนำและบอกเส้นทางนี้แก่ผู้อื่นบ้าง  เพราะเราต่างเวียนว่ายตายและเกิด  เราต่างเป็นผู้ผ่านร้อนหนาวมาด้วยกันในสังสารวัฏตลอดกาลยาวนาน    

 

ถึงวันหนึ่ง  ท่านอาจบรรลุธรรม  เป็นพระโสดาบัน  พระสกิทาคามี  พระอนาคามี  และพระอรหันต์  ทั้งหมดนี้  เป็นไปได้  แต่ท่านต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้  ด้วยตัวของท่านเอง  ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ด้วยความรักและปราถนาดี  ขอท่านทั้งหลายนำสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมานี้  ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของท่าน  ให้สมดังความตั้งใจของข้าพเจ้าด้วยเถิด*

 

ทุกท่านลองค้นคว้าเป็นหัวข้อ ๆ ไป จะง่ายขึ้นครับ ตั้งไว้เป็นสัปดาห์ ๆ ไป หนึ่งสัปดาห์ต่อหนึ่งหัวข้อ สองสามเดือนก็ศึกษาได้ครบแล้ว หลังจากนั้นก็จะเริ่มเชื่อมต่อธรรมะได้เอง วิเคราะห์ชีวิตตนเอง ผู้อื่น และความเป็นไปรอบตัวได้ตามหลักสัจธรรม.

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow