Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมต้องบิดขี้เกียจ

Posted By sanomaru | 01 ก.ค. 63
23,607 Views

  Favorite

เคยสังเกตสุนัขหรือแมวเวลาเพิ่งตื่นนอนกันหรือไม่ หากคำตอบคือ "ใช่" แน่นอนว่า คงต้องเคยเห็นพวกมันบิดขี้เกียจกันมาบ้างละ อย่างเช่นการโก่งตัวขึ้นหรือการนอนตะแคงแล้วเหยียดขาหน้าขาหลังของมันออกไป ซึ่งพวกมันอาจบิดขี้เกียจได้ 40-50 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว และไม่ใช่เพียงสุนัขหรือแมวเท่านั้นที่รู้จักการบิดขี้เกียจ เพราะสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ก็มักทำเช่นนั้น รวมถึงมนุษย์ด้วย

ภาพ : Shutterstock
ภาพ : Shutterstock

 

ทำไมต้องบิดขี้เกียจ

หลังจากตื่นนอนตอนเช้า ร่างกายมักกระซิบบอกให้เราบิดขี้เกียจเสมอ การบิดขี้เกียจเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติเมื่อเสียการเคลื่อนไหวและเกิดการตึงของกล้ามเนื้อ นั่นคือสัญชาตญาณที่มีประโยชน์ต่อเราอย่างมาก เนื่องจากขณะที่เรานอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจจะต่ำลง การไหลเวียนเลือดลดลง อีกทั้งการขยับเพียงน้อยนิดในเวลากลางคืน ก็ทำให้กล้ามเนื้อของเรามีการหดเกร็งและตึงตัว ดังนั้น เราจึงรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไรนักในตอนเพิ่งตื่นนอน แต่การบิดขี้เกียจจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย สมองตื่นตัว และพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมต่อ ๆ ไป

ภาพ : Shutterstock

 

การบิดขี้เกียจต่างจากการยืดกล้ามเนื้อ

การบิดขี้เกียจในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า "pandiculating" ซึ่งแตกต่างจากการยืดกล้ามเนื้อในภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า "streching" นั่นเป็นเพราะพวกมันมีกระบวนการทำงานที่ต่างกัน

 

สำหรับการยืดกล้ามเนื้อ ตัวรับความรู้สึกบริเวณกล้ามเนื้อจะส่งข้อมูลไปยังไขสันหลังเพื่อที่จะบอกว่า กล้ามเนื้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงความยาวแล้วนะ ในกรณีนี้กล้ามเนื้อที่ถูกยืดจะยาวขึ้น ไขสันหลังจะตอบสนองโดยการส่งสัญญาณมากระตุ้นกล้ามเนื้อที่ถูกยืดให้หดตัว พร้อมทั้งส่งสัญญาณไปกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ทำงานตรงข้ามกันให้ยับยั้งการหดตัว ดังนั้น การยืดกล้ามเนื้อจึงเป็นสาเหตุให้มีการตอบสนองโดยการหดตัวหรือเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สมองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการตอบสนอง จึงไม่ได้เป็นการใช้กล้ามเนื้อ และเราจะรู้สึกตึงและเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อที่ถูกยืดอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

ส่วนการบิดขี้เกียจนั้นเป็นการใช้กล้ามเนื้อ โดยมีสมองเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการทำงานนี้ กล่าวคือ เมื่อเราบิดขี้เกียจแล้วกล้ามเนื้อหดตัว ตัวรับความรู้สึกบริเวณกล้ามเนื้อจะส่งข้อมูลไปยัง Sensory Motor Cortex ในสมอง เพื่อบอกว่า กล้ามเนื้อมีการเปลี่ยนแปลงความยาวนะ แต่กรณีนี้กล้ามเนื้อจะหดสั้นลงและยังทำให้ระดับความตึงในกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเราสามารถเลือกเพิ่มหรือลดระดับของการหดเกร็งกล้ามเนื้อได้ เพราะเป็นการทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ และเมื่อการหดเกร็งลดลงอย่างช้า ๆ แล้วกล้ามเนื้อของเราก็จะผ่อนคลายโดยสมบูรณ์

 

ด้วยเหตุนี้ข้อแตกต่างที่สำคัญของการบิดขี้เกียจและการยืดกล้ามเนื้อ ก็คือ การบิดขี้เกียจเป็นการทำงานผ่านสมอง เชื่อมโยงระหว่าง sensory motor cortex ของสมองกับกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสามารถรู้สึกได้ชัดเจนและควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งที่หดตัวและคลายตัว ดังนั้น สมองจึงเกิดการเรียนรู้ และสามารถรีเซตความยาวกล้ามเนื้อได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาหรือป้องกันอาการของกล้ามเนื้อตึงเรื้อรังได้ด้วย ส่วนการยืดกล้ามเนื้อ สมองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการตอบสนอง จึงไม่เกิดการเรียนรู้

ภาพ : Shutterstock

 

แม้ว่า "บิดขี้เกียจ" จะฟังดูเหมือนเป็นอิริยาบถของคนขี้เกียจ แต่จริง ๆ แล้ว มันช่วยให้กล้ามเนื้อของเราผ่อนคลายได้มากทีเดียว ดังนั้น มาบิดขี้เกียจโดยไม่ต้องกลัวใครจะบอกกับเราว่าเป็นคนขี้เกียจกันเถอะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow