Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมสลอธถึงเชื่องช้า

Posted By Plook Creator | 25 พ.ค. 63
31,219 Views

  Favorite

หากเป็นสมัยก่อนเราคงบอกคนที่ทำอะไรชักช้าว่า ช้าเป็นเต่า แต่ความจริงคือเต่าไม่ใช่สัตว์ที่ช้าที่สุดในโลก หากคุณพิจารณาจากขนาดตัวของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด หอยทากหรือตัวทาก ก็ไม่ใช่สัตว์ที่เชื่องช้าที่สุดเช่นกัน เพราะตัวจริงเสียงจริงแห่งความเชื่องช้าก็คือ สลอธ (Sloth)

 

สลอธ คือสัตว์ที่อยู่ในความสนใจของเราในเรื่องความช้า มันช้ามากและแทบไม่สามารถทำอะไรได้หากคุณพุ่งเข้าไปจับหรืออุ้มมัน เพราะกว่ามันจะขยับแขนขา คุณก็รวบตัวมันออกมาจากที่อยู่ของมันได้แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลเดียวกับตัวนิ่มและนางอายขนาดตัวกำลังดีชนิดนี้ จึงเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ (Slow life) อย่างแท้จริง

ภาพ : Shutterstock

 

สลอธมีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเหนือ แต่สามารถพบได้มากในป่าฝนร้อนชื้นของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แม้จะบอกว่าพบได้มาก แต่จำนวนของมันที่มีอยู่ในธรรมชาติในปัจจุบันไม่ได้มากมาย เนื่องจากความเชื่องช้าของมันในทุกย่างก้าว การเติบโตของมัน รวมถึงการขยายพันธุ์ของมันจึงช้าไปด้วย มันไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปจากการแทรกแซงของมนุษย์ได้ดีเหมือนสัตว์อื่น ๆ เท่าไรนัก กว่า 80% ของเวลาทั้งหมดของมันในแต่ละวัน หมดไปกับการนอน มันนอนได้ยาวนานกว่า 15-20 ชั่วโมง เหมือนว่าจะไม่มีพรุ่งนี้ให้นอนอีกแล้ว

 

ภาพ : Shutterstock

 

แม้ว่าพวกมันมีจำนวนน้อยอย่างมากในปัจจุบัน แต่สายพันธุ์ของมันก็เดินเล่นอยู่บนโลกนี้มานานมากแล้ว จากหลักฐานทางธรณีวิทยาเราพบว่า พวกมันอยู่บนโลกนี้มาตั้งแต่ 35 ล้านปีที่แล้ว ในตอนนั้นพวกมันมีขนาดใหญ่มาก ทราบได้จากหลักฐานซากกระดูกที่ขุดพบ ขาหน้าของมันมีขนาดยาวกว่า 3 เมตร และมีหลายพันธุ์สายพันธุ์กระจายอยู่ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาลงใต้ไปจนสุดทวีปอเมริกาใต้ มีขนาดตั้งแต่เท่าแมวไปจนถึงขนาดสูงใหญ่หนักกว่าตันอย่าง Megalonyx หรือ Megatherium ซึ่งตัวใหญ่เท่าช้าง


บรรพบุรุษของสลอธในปัจจุบันเดินเล่นอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนมาก ซึ่งต่างจากสายพันธุ์ในปัจจุบันที่ชอบอยู่บนต้นไม้มากกว่า หรือแม้แต่ว่ายน้ำดีกว่าเร็วกว่าเดินบนดิน ปัจจุบันมีสลอธหลงเหลืออยู่บนโลกเพียง 6 สปีชีส์ แบ่งกลุ่มเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือพันธุ์ 2 นิ้ว และพันธุ์ 3 นิ้ว ทั้งสองสายพันธุ์มีขนาดเท่าสุนัขบ้าน ๆ ขนาดกลางเท่านั้น ไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนสมัยก่อน

 

ความสามารถของพวกมันคือ การมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งรวมถึงเล็บยาว 3-4 นิ้วของมันก็แข็งแรงมากพอที่จะพยุงตัวของมันให้สามารถห้อยโหนไปมาบนต้นไม้ได้เป็นอย่างดี แต่ความยาวเล็บของมันก็นี่เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้การเดินดินของมันเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า มันสามารถเดินได้เพียง 4-5 เมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สลอธยักษ์ในอดีตอาจจะสามารถเดินได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่คาดว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปหมดในช่วงยุคน้ำแข็ง รวมถึงการแข่งขันระหว่างสายพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่แย่งแหล่งอาหารและที่อาศัยใกล้เคียงกัน ไม่เว้นกระทั่งมนุษย์

 

สลอธกินพืชเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นยอดไม้ ใบไม้ หรือผลไม้ป่าอย่างอโวคาโดเหมือนกับบรรพบุรุษในอดีตของมัน โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า การที่อะโวคาโดยังมีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการขยายพันธุ์ของมันไปทั่วทวีปอเมริกาก็เป็นเพราะฝีมือของสลอธยักษ์ในอดีตด้วย เพราะว่าไม่มีสัตว์ชนิดไหนที่สามารถกลืนเม็ดขนาดใหญ่ของอะโวคาโดเข้าไปในระบบย่อยอาหารได้นอกจากสลอธยักษ์ในอดีต

ภาพ : Shutterstock

 

การที่สลอธมีเล็บยาวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้พวกมันเชื่องช้า ปัจจัยหลักที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบก็คือแหล่งอาหารของมัน สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงสัตว์ได้รับสารอาหารเพื่อเป็นพลังงานจากอาหารที่พวกมันกินเข้าไป ต้นไม้สังเคราะห์ด้วยแสงร่วมกับการดูดซับน้ำและแร่ธาตุเพื่อเป็นพลังงานของมันเอง ขณะที่สัตว์ในลำดับขั้นที่สูงกว่าของห่วงโซ่อาหารได้รับพลังงานจากการกินสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าจะกินพืช หรือกินสัตว์ พวกมันได้รับพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป สลอธก็เช่นกัน แต่แหล่งอาหารของมันให้พลังงานต่ำ ทำให้มันต้องประหยัดพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน หรือเผาผลาญเพื่อคงอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่

 

สัตว์กินพืชอื่น ๆ มีระบบย่อยที่สามารถดึงเอาสารอาหารออกมาจากใบไม้เพื่อเป็นพลังงานได้ดี บางชนิดสามารถย่อยเซลลูโลสได้ หรือมีแหล่งอาหารที่มีพลังงานสูงทดแทนอย่างเช่น ผลไม้ ลูกไม้ป่า ถั่ว เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น แต่สลอธค่อนข้างเลือกกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสลอธสายพันธุ์ 3 นิ้วกินใบไม้เป็นอาหารเท่านั้น มันมีระบบย่อยอาหารหลายกระเพาะในร่างกาย อันอาจจะใช้เวลาย่อย 5-7 วันหรือมากกว่าสัปดาห์​ เพื่อให้ย่อยใบไม้และดูดสารอาหารออกมาได้มากที่สุด และพวกมันก็วิวัฒนาการการใช้ชีวิตให้ประหยัดพลังงานมากที่สุดด้วย เคลื่อนไหวน้อยที่สุด ช้าที่สุด และนอนให้มากที่สุด

ภาพ : Shutterstock

 

ความสามารถในการวิวัฒนาการและปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตและปัจจัยแวดล้อม ทำให้สัตว์แต่ละชนิดสามารถรอดชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์ได้มาจนถึงทุกวันนี้ สลอธเองนอกจากจะประหยัดพลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวันให้สัมพันธ์กับพลังงานที่ได้รับ เลือกที่จะอาศัยอยู่บนต้นไม้เพื่อหลีกเลี่ยงนักล่าแล้ว พวกมันยังไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อให้ร่างกายมีอุณหภูมิคงที่มากนัก เพราะแม้ว่าพวกมันจะเป็นสัตว์เลือดอุ่น แต่ก็สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น


อุณหภูมิร่างกายของมันสามารถปรับเปลี่ยนได้ในช่วง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งแม้จะน้อยกว่าสัตว์เลือดเย็น แต่ก็นับว่าเป็นกลไกทางธรรมชาติที่มีผลดีต่อมันอย่างมาก แต่ความสามารถและการปรับตัวทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบ หากสภาพแวดล้อมของมันถูกทำลายและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 35,000 ปีก่อนที่ทำให้สลอธหลากสปีชีส์สูญพันธุ์ไป อาจจะกลับมาในรูปแบบของฝีมือมนุษย์และทำให้ไม่เหลือสลอธอยู่บนโลกนี้อีกเลยก็ได้ หากเรายังไม่หยุดทำลายและดูแลเพื่อนร่วมโลกของเราดี ๆ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow