Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เตรียมความพร้อมให้ลูก ก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค นี้

Posted By Plook Parenting | 19 พ.ค. 63
3,335 Views

  Favorite

สืบเนื่องจากประกาศการเลื่อนเปิดเทอม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ในระหว่างนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ) จึงเตรียมการสอนระบบทางไกล เพื่อให้การเรียนการสอนไม่ขาดตอน

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ยังไม่คลี่คลาย จึงพิจารณาเลื่อนเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. พ.ศ. 2563 แต่ในระหว่างนั้นก็ควรจัดการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ ก่อนเปิดเทอมด้วยเช่นกัน

 

ภาพ : moe.go.th

 

สพฐ. จึงออกแบบการเรียนการสอนในช่วง COVID-19ขึ้น โดยจะเริ่มทดสอบระบบตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้

1. ปรับรูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย

เด็กสามารถไปโรงเรียนตามปกติได้ แต่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย จะจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ on-air ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และระบบออนไลน์

2. เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น

โดยนักเรียนมีเวลาพักในภาคเรียนที่ 1/2563 จำนวน 17 วัน และในภาคเรียนที่ 2/2563 จำนวน 37 วัน รวมทั้งสิ้น 54 วัน ฉะนั้นภาคเรียนที่ 1/2563 เรียนตั้งแต่ 1 ก.ค.-13 พ.ย.63 เป็นเวลา 93 วัน แล้วปิดภาคเรียน 17 วัน ส่วนภาคเรียนที่ 2/2563 เรียนตั้งแต่ 1 ธ.ค.63-9 เม.ย.64 เป็นเวลา 88 วัน แล้วปิดภาคเรียน 37 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64 ซึ่งจะมีเวลาเรียนรวมทั้งสิ้น 181 วัน ส่วนเวลาที่ขาดหายไป 19 วัน จาก 200 วัน ให้แต่ละโรงเรียนสอนชดเชย ดังนั้น การเปิดเทอมปีการศึกษาหน้า จะกลับมาปกติในวันจันทร์ที่ 17 พ.ค.64

3. การสนับสนุนจาก ศธ.

ทาง ศธ.จะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกล ในสัดส่วน 80% ส่วนอีก 20% ที่เหลือให้ทางโรงเรียนและคุณครูแต่ละพื้นที่พิจารณาตามความเหมาะสม

4. รูปแบบการเรียนผ่านการสอนทางไกล

จะใช้ทีวีดิจิทัล และ DLTV เป็นหลัก ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ DEEP และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม

 

ภาพ : moe.go.th

 

ซึ่งแนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมของลูกก่อนเปิดเทอมได้ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม (7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563)

สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน รวมถึงขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทาง ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอน โดยครูต้นแบบ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรวบรวมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ใน OBEC Content Center ชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น Tutor ติวฟรี.com, e-Book เป็นต้น รวมถึงเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับระบบ Digital e-Learning ของกระทรวงศึกษาธิการ

 

ภาพ : moe.go.th

 

ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563)

จะทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ในระดับปฐมวัยเน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกล จากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง

 

ภาพ : moe.go.th

 

ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564)

ได้วางแผนไว้สำหรับ 2 สถานการณ์ นั่นคือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา และสถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid–19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564)

จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นั่นคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS GAT PAT) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

 

ภาพ : moe.go.th

 

ข้อควรรู้

1. ในช่วง 18 พ.ค. - 30 มิ.ย. 63 นี้ เป็นเพียงการทดลองเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมแแก่เด็กและผู้ปกครองในการเข้าถึงการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ DTV เท่านั้น (ยังไม่ใช่วันเรียนจริง)

2. ช่องทางออนไลน์ เป็นเพียงมาตรการเสริมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย เพราะมีศักยภาพในการใช้อุปกรณ์

3. ระบบการเรียนการสอนมีระบบรีรันหลายรอบในแต่ละวัน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดการเรียนการสอนช่วงใดช่วงหนึ่งไป

4. หากไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือมีปัญหาเรื่องกล่องรับสัญญาณ ไม่ต้องซื้อ ให้แจ้งโรงเรียน ทางโรงเรียนจะแก้ไขปัญหาให้ หรือโทรสายด่วน (1579) เพื่อขอรับคำปรึกษาก็ได้เช่นกัน

5. การเรียนผ่านระบบทางไกล On-air  คือ DLTV ในระดับอนุบาล-ม.3 และผ่านทีวิดิจิตอล 17 ช่อง โดย สพฐ.ผลิตคลิปทุกกลุ่มสาระทุกระดับชั้น

 

ภาพ : moe.go.th

 

สำหรับโรงเรียนเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีนโยบายให้เรียนจัดรูปแบบการเรียนการสอน 3 วิธี คือ

1. เรียนในโรงเรียนปกติ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยจัดการเรียนการสอนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และให้มีระยะห่างของสังคม

2. เรียนผ่านระบบทางไกล On-air  คือ DLTV ในระดับอนุบาล-ม.3 และผ่านทีวิดิจิตอล 17 ช่อง โดย สพฐ.ผลิตคลิปทุกกลุ่มสาระทุกระดับชั้น

3. ระบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งจะเป็นการสอนทั้งไลฟ์สด และบันทึกเทปการสอน โดยมีครูโรงเรียนดังและติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมสอนออนไลน์ในครั้งนี้

โดยนักเรียนสามารถเข้าใช้บริการเว็บไซต์ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. ได้จากเว็บไซต์ สช. (www.opec.go.th) จากนั้นเลือกโรงเรียนต้นทางที่ให้บริการ กรอกข้อมูลพื้นฐานตามที่ระบบร้องขอ ก็สามารถเริ่มการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) ได้ทันที โดยโรงเรียนเอกชนสามารถใช้ระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนแบบปกติได้

 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอมดังนี้แล้ว สามารถเตรียมอุปกรณ์และความพร้อมของลูกก่อนล่วงหน้าได้เลย เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตรงตามเกณฑ์ เมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้งก็สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่เต็มความสามารถ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow