Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับการจัดการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับนักเรียนในช่วงโควิด-19

Posted By Plook Teacher | 12 พ.ค. 63
3,700 Views

  Favorite

เริ่มกันแล้วกับการจัดการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียนในกรณีพิเศษ ที่เพิ่มเติมจากการปิดภาคเรียนตามปกติ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งหลายท่านอาจเห็นถึงความเป็นไปได้หรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนรู้ออนไลน์นี้ และกำลังคิดว่าควรจะดำเนินการแบบไหนให้เหมาะสมมากที่สุด

 

การจัดการเรียนรู้ออนไลน์ในครั้งนี้แท้จริงแล้ว มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในการส่งเสริมการศึกษาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากมาตรการการควบคุมโรค ทำให้จำเป็นต้องใช้การเรียนรู้แบบออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ในช่วงเวลาที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งหลายโรงเรียนที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ ก็ได้เริ่มให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในช่วงปิดภาคเรียน และสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนรวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาต่าง ๆ ได้ตามกำหนดเดิม ส่วนโรงเรียนที่มีข้อจำกัด การเผยแพร่รูปแบบการเรียนการสอนของระบบการศึกษาทางไกลผ่านช่องดิจิตอลทีวี ก็นับเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่สนใจเรียนรู้ได้

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการได้ดำเนินการผ่านไป พบว่ามีอุปสรรคมากมายที่ทำให้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่บ้านนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาในการจัดการ เพราะเรื่องการเรียนออนไลน์นั้นถือเป็นเรื่องใหม่มากกับบริบทการศึกษาไทยแบบโดยรวม ครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกมาสำหรับการจัดการเรียนรู้ในด้านนี้โดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ได้มีเวลาและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่บ้านให้กับนักเรียนมากพอ จึงทำให้การเรียนออนไลน์ที่บ้านนั้นยังไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเท่าไหร่นัก

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้แนะนำเคล็ดลับ 6 ประการ สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้านของนักเรียน ช่วงภาวะวิกฤติ โควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ซึ่งเคล็ดลับทั้ง 6 ข้อนั้น มีดังนี้

 

1. สร้างความเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต

พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกหลานเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคCovid-19 อย่างเหมาะสม และประเมินพวกเขาว่ารับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์นี้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน และพูดคุยวางแผนร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินชีวิตระหว่างที่ต้องอยู่บ้านร่วมกัน


ด้วยวิถีชีวิตตามปกติของเด็ก ๆ นั้น อาจคุ้นเคยกับการไปเล่นกับเพื่อน ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน และใช้ชีวิตโดยไม่ต้องห่วงกับอะไรมากนัก ทำให้พวกเขาอาจไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมในช่วงเวลานี้ ถึงไม่ควรออกไปไหนเมื่อไม่จำเป็น และทำไมถึงต้องใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยครั้ง 


สำหรับนักเรียนที่เป็นวัยรุ่น การพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยให้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวกับพวกเขาอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเครียดจากการอยู่บ้านของพวกเขาได้ เพราะในวัยรุ่นนั้นทราบถึงสถานการณ์นี้ดี แต่อาจจะมีความเครียดเนื่องจากต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน และไม่ได้พบปะเพื่อนฝูงหรือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกบ้าน 

 

2. ร่วมกันกำหนดกิจวัตรหรือตารางเวลาในแต่ละวัน

พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีการกำหนดตารางกิจกรรมประจำวันให้กับนักเรียนได้ปฏิบัติ โดยต้องเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก ซึ่งการสร้างตารางกิจกรรมที่มีความยืดหยุ่นแต่สม่ำเสมอต่อเนื่องตามบริบทของแต่ละครอบครัวนั้น จะช่วยให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและสามารถจัดการชีวิตประจำวันของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้จักบริหารเวลาและมีพฤติกรรมในเชิงบวก แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่วิกฤตนี้ก็ตาม
 

การเขียนและกำหนดกิจกรรมประจำวัน เบื้องต้นจะต้องมีการกำหนดเวลารับประทานอาหาร การนอนหลับและการตื่นนอน ก่อนที่จะใส่กิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ลงไป ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะใส่ลงไปนั้น นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีแนวโน้มที่ปฏิบัติตามมากขึ้น และต้องไม่ลืมที่จะเหลือเวลาว่างบางส่วนให้พวกเขาได้ผ่อนคลายและพักผ่อนด้วย เพื่อไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป

 

3. จัดช่วงเวลาตามลำพังกับลูกหลานแต่ละคน

พยายามใช้เวลาว่างที่นอกเหนือหรือละเว้นจากการทำงานอย่างน้อยสัก 20 นาที ในการพูดคุยกับตามลำพังกับลูกหลานทีละคน เพื่อไถ่ถามถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน เช่น วันนี้เรียนรู้อะไรบ้าง มีอะไรน่าสนใจ มีคำถามที่ไม่เข้าใจหรือไม่ และมีวัสดุอุปกรณ์อะไรที่อยากได้เพิ่มเติมบ้าง เป็นต้น
 

การที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้เวลาว่างตามลำพังกับลูก ๆ แต่ละคนผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกไปเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน การนั่งฟังเพลง หรือ การออกกำลังกาย จะช่วยให้พวกเขากล้าที่จะพูดคุยถึงเรื่องราวที่พบเจอ รวมไปถึงความรู้สึกต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจดีกว่าการพูดคุยพร้อมหน้ากันบนโต๊ะอาหารหรือการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัวเสียอีก เพราะเรื่องบางเรื่องนักเรียนอาจไม่ได้ต้องการให้รู้ทุกคน หรือไม่ก็อายเกินกว่าที่จะเล่าต่อหน้าคนจำนวนมาก

 

4. ให้เวลาสำหรับกิจกรรมทางกายและการจัดการความเครียด

กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกายต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย การเล่น รวมไปถึงการสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ บ้านนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ได้ ยังเป็นการส่งเสริมกายและสุขภาพใจให้ดีอยู่เสมอ ยิ่งในเด็กเล็กจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พวกเขาได้วิ่งเล่นเพื่อปลดปล่อยพลังงานอันเหลือเฟือและลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการอยู่ในบ้านที่แคบ ๆ ตลอดเวลาได้
 

เราอาจใช้กิจกรรมนี้เพื่อระงับหรือป้องกันการเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจอย่างการงอแงหรืออยู่ในสุขของเด็กเล็กได้ เช่น ชวนเขาออกไปเดินเล่น หรือทำกิจกรรมสนุก ๆ นอกบ้าน อย่างไรก็ดี ควรจัดการกับภาวะอารมณ์ของเด็กดังกล่าวด้วยความสงบ และควรฝึกให้พวกเขาเข้าใจและรู้จักระงับอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมของตัวเองได้ด้วยตัวเอง

 

5. ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก

เปลี่ยนจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองออกคำสั่งว่า ห้ามทำหรือต้องทำอะไร มาเป็นการพูดเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมเชิงบวกแทน เช่น แทนที่จะออกคำสั่งให้เด็ก ๆ ทำงานที่กำหนด พ่อแม่ผู้ปกครองอาจใช้คำพูดประมาณว่าเชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขา และชักชวนมาทำงานร่วมกัน  เป็นต้น
 

วิธีนี้จะได้ผลดีมากขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับการเสริมแรงทางบวก ซึ่งทันทีที่นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือทำงานเสร็จเรียบร้อย พ่อแม่ผู้ปกครองอาจชมเชยพวกเขา หรือให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยขนมชิ้นโปรด หรือสิ่งที่พวกเขาอยากได้ ก็จะทำให้นักเรียนนมีแแนวโน้มที่จะปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีนั้นบ่อยมากขึ้น

 

ุ6. ติดต่อสื่อสารกับครู โรงเรียน และบุคคลใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าจะมีการเรียนออนไลน์ แต่การติดต่อสื่อสารกับครูผู้สอนและโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอก็ถือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน เพราะครูผู้สอนจะเป็นทั้งผู้ถ่ายทอดเทคนิคความรู้ต่าง ๆ และที่ปรึกษาที่ดีสำหรับผู้ปกครองในการจัดการเรียนรู้ที่บ้านให้กับนักเรียนให้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่จะให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ปกครองเกี่ยวกับการเตรียมตัวนักเรียนและข้อมูลสำคัญของทางโรงเรียนต่าง ๆ เช่น วันเปิดภาคเรียน  การจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียน หรือเรื่องของหนังสือเรียนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องรู้อีกด้วย 
 

นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน หรือแม้แต่การสนับสนุนให้นักเรียนได้คุยกับเพื่อน ๆ ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงนักเรียนรู้สึกถึงความมีส่วนร่วมและรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ตามลำพัง 

 

เคล็ดลับทั้ง 6 ข้อนี้ น่าจะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังมีปัญหากับการจัดการเรียนรู้ที่บ้านให้กับนักเรียน ได้พบหนทางใหม่ที่ช่วยให้การดำเนินการจัดการศึกษาที่บ้านมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นได้ ซึ่งถ้าสามารถทำได้ จะช่วยให้นักเรียนเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอาจจะเป็นอนาคตที่ดีของการศึกษาออนไลน์ในประเทศไทยก็เป็นได้

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.facebook.com/ESDCenterEduChula/photos/a.1592382547697102/2711729099095769/?type=3&theater

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow