Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มหากาฬทรงผม ศึกระหว่างครูกับนักเรียน

Posted By Plook Teacher | 11 พ.ค. 63
6,221 Views

  Favorite

เรื่องของทรงผม เป็นประเด็นที่มีการเถียงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ถึงความเหมาะสมของนักเรียนที่จะไว้ทรงผมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในกฎระเบียบของโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มักกำหนดให้นักเรียนชายไว้ผมทรงนักเรียนหรือมากที่สุดคือรองทรงสูง ในขณะที่นักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นในระดับติ่งหู หรือบางแห่งถ้าอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวต้องมัดรวบให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อดูรูปแบบทรงผมที่กำหนดแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทรงผมที่น่าอภิรมณ์สำหรับนักเรียน โดยเฉพาะกับนักเรียนที่เกิดมาในยุคสมัยนี้เท่าไหร่นัก

 

ข้อพิพาทในเรื่องของทรงผมนั้น มีมายาวนานตั้งแต่ครั้นสมัยที่ประเทศไทยปกครองโดยคณะปฏิวัติที่นำโดย จอมพล ถนอม กิดติขจร ซึ่งในปี พ.ศ. 2515 ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมของเด็กและเยาวชนตามแนวทางของคณะปฏิวัติ ก่อนที่จะออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 ตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ตามมา ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น ได้ระบุถึงการแต่งกายและความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ของนักเรียนและนักศึกษา โดยในส่วนของข้อ 1 (1) ได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องของทรงผมเอาไว้ว่า

 

“นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน ๕ เซนติเมตร และ ชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาต ให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย”

 

ต่อมาในปี 2518 เพื่อให้เข้ากับสมัยนิยมที่เปลี่ยนไป กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น จึงได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขข้อความดังกล่าวเป็น

“นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวด ไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย”

 

ซึ่งจากบทบัญญัตินี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า การไว้ทรงผมของนักเรียนชายนั้นจะถูกกำหนดให้มีลักษณะของการตัดสั้น ซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของคนในสมัยนั้น ที่รับเอารูปแบบทรงผมที่เรียกว่าทรงนักเรียน มาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

การตัดทรงนักเรียนนั้น คือ การตัดผมโดยการเดินปัตตาเลี่ยนโกนผมสามด้านคือ ด้านข้างทั้งซ้ายขวาและด้านหลัง ส่วนด้านบนจะเดินปัตตาเลี่ยนบนหวีตัดผมให้มีผมสั้นและเข้ากับลักษณะศีรษะ โดยเหตุผลที่ชายส่วนใหญ่นิยมตัดทรงนี้ เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการระบาดของเหา ซึ่งการตัดผมสั้นช่วยให้หลีกเลี่ยงการเป็นเหาได้ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นบังคับให้นักเรียนชายตัดทรงนักเรียน

 

ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรงผมนี้ถูกใช้มาอย่างยาวนาน จนมาถึง พ.ศ. 2546 ได้มี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ออกมา และส่งผลให้ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ถูกยกเลิก แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ยังคงใช้บังคับต่อไป ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จึงทำให้แต่ละโรงเรียนปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้ คือนักเรียนชาย ให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ หากไว้ยาวด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม เช่น แบบทรงผมรองทรง และนักเรียนหญิง ให้ไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย

 

จนล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ซึ่งมีใจความสำคัญคือ การไว้ผมของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงแบบใหม่ คือ  นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ส่วนนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย โดยทั้งนี้ต้องไม่ ดัดผม  ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม  ไว้หนวดหรือเครา หรือกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย ซึ่งจากระเบียบนี้เองทำให้เรื่องของกฎระเบียบในการไว้ทรงผมของนักเรียนนั้น ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนแปลง แม้ว่าหลาย ๆคนอาจไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ก็ตาม

 

ด้วยความที่เรื่องของสิทธิเสรีภาพ เริ่มมีการพูดถึงในหลาย ๆ มิติ เรื่องของทรงผมนักเรียนก็เป็นหนึ่งในข้อพิพาทระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแม้ว่าตลอดมาการผ่อนปรนในเรื่องของทรงผมนักเรียนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดหรือพูดถึงกันอย่างชัดเจน ทำให้แต่ละโรงเรียน ล้วนมีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกัน บางโรงเรียนผ่อนปรนในเรื่องของทรงผมนักเรียนมากขึ้น ในขณะที่บางโรงเรียนก็ยังเคร่งครัดอยู่ ดังนั้นพอมีระเบียบในเรื่องนี้ออกมา ทำให้นักเรียนรู้สึกถึงการมีสิทธิในเรื่องของการไว้ทรงผมมากขึ้น และเมื่อคุณครูห้ามปรามหรือไม่เห็นด้วย พวกเขาจึงรู้สึกเหมือนถูกริดรอนสิทธิ จนนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อสารมวลชนที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ

 

เรื่องของทรงผมนี้ เป็นปัญหาของการมองต่างมุม ระหว่างครูผู้สอนที่มองว่าการไว้ทรงผมเหมือนที่เคยมีมานั้น ทำให้นักเรียนมีความสะอาดสะอ้าน  ดูดี  มีความเหมือนกัน และไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหนังศีรษะ ในขณะที่นักเรียนนั้นมองว่าการไว้ทรงผมนั้นเป็นสิทธิของตัวเองที่อยากจะไว้ทรงผมอะไรก็ได้ที่ไม่เดือดร้อน เพราะสิ่งนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการเรียน ซึ่งความจริง ถ้าครูผู้สอนลดอัตตาตัวเองลง และนักเรียนเข้าใจถึงความปรารถนาดีของครูผู้สอนมากขึ้น ปัญหาเรื่องของทรงผมก็น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถคุยกันได้ในโรงเรียน และสามารถหาแนวทางที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย

 

อย่างไรก็ดี สุดท้ายเมื่อระเบียบที่เหมือนจะเป็นชัยชนะของนักเรียนในยุคนี้ออกมา มันก็คงถึงเวลาแล้วที่ครูผู้สอนอยากเราต้องยอมรับและปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มากกว่าที่จะยืนท้าคลื่นลม เราอาจต้องเชื่อในตัวนักเรียนของเรามากขึ้น ว่าแม้จะให้สิทธิในเรื่องทรงผมกับนักเรียนแล้ว นักเรียนเราจะยังคงปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อตัวเองและโรงเรียน ซึ่งถ้าเราเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้ดี  มันก็เป็นการดีที่เราจะเชื่อมั่นในตัวนักเรียนในเรื่องอื่น ๆ ของการศึกษาต่อไป

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow