Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 เรื่องแปลกเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์

Posted By Rezonar | 10 เม.ย. 63
9,774 Views

  Favorite

มีคำกล่าวกันว่า บางเรื่องที่เราอยากจำแต่ก็กลับลืม ในขณะที่บางเรื่องอยากลืม แต่ก็กลายเป็นจำได้เป็นอย่างดี แท้ที่จริงแล้ว กระบวนการเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์นั้นมีความผิดพลาดอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าคนทั่วไปอาจยังไม่รู้ วันนี้ ผู้เขียนจึงอยากพาทุกท่านมาย้อนความทรงจำด้วยบทวิจัยของนักจิตวิทยาทั้ง 6 ข้อ มาดูกันว่า มีใครบ้างที่ตกหลุมพรางของความทรงจำกันบ้าง

 

1. คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองสามารถจดจำเรื่องราวตอนช่วงอายุ 2-3 ขวบปีได้

หากใครลองพยายามนึกถึงช่วงเวลานั้นดู หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นความทรงจำที่เลือนรางเอามาก ๆ หรือเป็นความทรงจำที่คล้ายกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ในความเป็นจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะย้อนคืนความทรงจำในช่วงสองถึงสามปีแรกหลังจากเกิด เนื่องมาจากโครงสร้างของสมองที่จำเป็นสำหรับการเก็บความทรงจำยังไม่พร้อมใช้งานในช่วงอายุนั้น ดังนั้น ในทางสรีรวิทยา จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บภาพความทรงจำเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน ความทรงจำที่เชื่อกันว่าเห็นเพียงเลือนรางนั้น เป็น “ความทรงจำเท็จ” ที่ถูกสร้างขึ้นจากการรวบรวมประสบการณ์หรือความรู้อื่น ๆ ที่บุคคลได้รับเข้ามาภายหลังจากการใช้ชีวิต หรือกล่าวง่าย ๆ คือ เป็นเพียงจินตนาการที่สร้างขึ้นมาเองเท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

2. ความทรงจำของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

นักวิจัยได้ทำการทดลองบางอย่าง โดยให้อาสาสมัครเอามือข้างหนึ่งแช่ไว้ในถังน้ำซึ่งใส่น้ำแข็งไว้ ในระหว่างนั้นให้อาสาสมัครลองจดจำคำศัพท์หลาย ๆ คำ หลังจากผ่านการทดสอบต่าง ๆ อีกเล็กน้อย นักวิจัยค้นพบว่า อาสาสมัครมีความทรงจำที่ดีขึ้น เมื่อเอามือแช่ในถังน้ำแข็ง

 

จากการศึกษาสรุปว่า มนุษย์จะจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีกว่าหากสร้างสภาพแวดล้อมหรือสภาพทางสรีรวิทยาที่ละเอียดอ่อน ในช่วงเวลาที่กำลังมีการเข้ารหัสความทรงจำ ถึงแม้ว่าสิ่งที่สร้างขึ้นจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จดจำเลยก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคี้ยวหมากฝรั่งหรือดื่มกาแฟในขณะที่อ่านหนังสือ ก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่เป็นตัวชี้นำให้มีความทรงจำที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ กลิ่นก็ยังให้ผลในลักษณะเดียวกันอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

3. เส้นเวลา (Timeline) ของจิตใต้สำนึกนั้นบิดเบี้ยว

ก่อนอื่น ลองมาทายกันดูเล่น ๆ ว่าเหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นในเดือนและปีใด
   1) การตายของไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson)
   2) การเปิดตัวอัลบั้ม 24K Magic ของ บรูโน่ มาส์ (Bruno Mars)
   3) เรื่องโกลาหลจากการประกาศรางวัลออสการ์ เมื่อ La La Land ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ
   4) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ประกาศว่าจะลงจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 2021

 

ถ้าหากคุณผู้อ่านเป็นคนที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดก็คงจะตอบได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ค้นพบว่า ลักษณะของความเข้าใจเรื่องเส้นเวลา จะมีรูปแบบที่ค่อนข้างคล้ายกันในแต่ละคน เรียกว่า “temporal displacement” กล่าวคือ เราจะประเมินปริมาณของเวลาต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านมานานแล้ว (เช่น การตายของไมเคิล แจ็กสัน) และประเมินปริมาณของเวลามากกว่าความเป็นจริง เมื่อเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ (เช่น การประกาศลงจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอัลเกลา แมร์เคิล) เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เส้นเวลาในการรับรู้ของจิตใจนั้นมีความบิดเบี้ยวและไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ภาพ : Shutterstock

 

4. เราอาจรู้สึกถึงความทรงจำที่คลุมเครือ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป

หากลองพยายามวาดภาพเพื่อนที่สนิทสักคนหนึ่ง โดยที่ไม่ใช้รูปของเพื่อนเป็นแบบ แต่ให้ลองวาดออกมาจากความทรงจำ และให้รายละเอียดออกมาในภาพวาดมากที่สุดเท่าที่จะนึกได้ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ คนเราจะพยายามนึกถึงรายละเอียดทั่ว ๆ ไป เพื่อค้นหาลักษณะโดยเฉพาะของใบหน้าเพื่อน

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่เรื่องพื้นฐานดังเช่นสีของดวงตา
ก็กลายเป็นเรื่องยากที่จะนึกออก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์มักจะจดจำเฉพาะส่วนสำคัญของสิ่งของต่าง ๆ มากกว่ารายละเอียดพื้นฐานโดยทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ลักษณะความทรงจำที่ไม่ได้แม่นตรงแบบนี้ เป็นธรรมชาติ และไม่ใช่ข้อเสียแม้แต่น้อย นั่นเพราะรายละเอียดต่าง ๆ บนใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่ความรู้สึกประทับใจหรือส่วนที่สำคัญบนใบหน้านั้น จะไม่มีวันเปลี่ยนไป ดังนั้น ถ้าหากเพื่อนของเราเปลี่ยนทรงผมใหม่ หรือใส่แว่นดำ เราก็จะยังคงจำเพื่อนของเราได้

 

นอกจากนี้ แม้กระทั่งความทรงจำที่มีต่อใบหน้าของเราเอง ก็ยังไม่แม่นยำด้วยเช่นกัน และมีแนวโน้มที่คนจะจดจำใบหน้าของตัวเองว่า ดูดีหรืองดงามมากกว่าความเป็นจริงอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

5. มนุษย์นั้นเชื่อมั่นในความทรงจำมากเกินไป

หากลองวาดรูปใบหน้าตัวเองหรือลองพูดถึงลักษณะของใบหน้าตัวเอง คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าตัวเองสามารถจดจำรายละเอียดได้ดี แต่ทราบหรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าจำได้ดีนั้น กลับไม่ได้มากอย่างที่คิดเลย ตัวอย่างเช่น สมมติตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อเตือนให้ทำเรื่องบางอย่าง โดยให้เตือนก่อนถึงเวลา 30 นาที เมื่อนาฬิกาเตือน เราก็แค่กดปิดการแจ้งเตือน และคิดว่าอีก 30 นาทีจะไปทำเรื่องนั้น ๆ ได้ แต่ในท้ายที่สุด เราก็มักลืมมันไป ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การคาดหวังต่อความทรงจำในอนาคต

 

ความเชื่อเล็ก ๆ นี้ ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าอีกด้วย เช่น โปรโมชันให้ทดลองใช้บริการบางอย่างฟรี หลังจากนั้นจึงทำการตัดเงินจากบัตรเครดิตหรือบัญชีเมื่อครบกำหนด คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า สามารถจดจำและยกเลิกการทดลองได้ก่อนถึงเวลาที่จะตัดเงินจากบัญชีจริง แต่สุดท้าย ความคาดหวังต่อความทรงจำในอนาคต ก็มักทำให้ต้องเสียเงินอยู่เสมอนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

6. การ (ถูก) ทำลายความทรงจำ จากความทรงจำเสมือน

สำหรับคนที่เล่นเฟซบุ๊ก คงคุ้นเคยกันดีกับการแจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น วันเกิดของเพื่อน ทำให้ไม่พลาดที่จะเข้าไปอวยพรวันเกิดให้แก่กัน เนื่องจากเหมือนมีคนคอยช่วยเตือนอยู่ตลอด แต่ในขณะเดียวกัน มันกลับกลายเป็นการทำลายความทรงจำในเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกันด้วย เช่น เหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน เหตุผลเพราะว่า ความทรงจำของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เปราะบางและง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ดังนั้น การพยายามเรียกคืนความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์บางอย่างอยู่เสมอ จะทำให้เนื้อหาเกี่ยวกับความทรงจำนั้นมีความชัดเจน และในลักษณะเดียวกัน ความทรงจำส่วนอื่นที่แม้จะอยู๋ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ค่อยได้รับการย้ำเตือน ท้ายที่สุดแล้ว รายละเอียดของเรื่องราวเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ เบาบางลงไป

 

ลองยกตัวอย่างที่น่าสนใจของเฟซบุ๊ก เมื่อมีการแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่เราได้ไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อน นั่นทำให้เรานึกถึงเรื่องราวในวันแต่งงานนั้นได้เป็นอย่างดี แต่เหตุการณ์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของวันนั้น เราจะหลงลืมมันไป ดังนั้น หากมองในแง่ของนักวิทยาศาสตร์ อาจเข้าใจความหมายได้ว่า สื่อโซเชียลมีเดียนั้น กำลังกำจัดความทรงจำในส่วนอื่น ๆ ของเราออกไป โดยการเลือกที่จะแสดงและย้ำเตือนเฉพาะสิ่งที่คัดเลือกมาแล้วว่าสำคัญ หากแต่ควาทรงจำนั้น เราไม่ได้เป็นคนเลือกเอง

ภาพ : Shutterstock

 

ทั้ง 6 ข้อนั้นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความทรงจำของคนเราได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่ถูกลืมเลือนบางอย่างก็ยังมีเรื่องดีอยู่ในตัวของมัน บางทีธรรมชาติอาจมอบสิ่งที่ดีที่สุดมาในตัวมนุษย์แล้วก็เป็นได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow