Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หาสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย Gregorc Mind Styles Model

Posted By Plook Teacher | 16 มี.ค. 63
4,640 Views

  Favorite

สไตล์การเรียนรู้นับเป็นเรื่องเฉพาะที่แต่ละบุคคลอาจมีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งสัญชาตญาณ ประสบการณ์ชีวิต รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู สิ่งเหล่านี้ต่างมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้ตัวเรามีแนวทางในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตามแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย ถ้าครูผู้สอนสามารถเข้าใจและทราบถึงสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพราะจะช่วยทำให้ครูผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ตอบสนองกับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม และส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปัจจุบันมีนักวิชาการหลายท่าน ต่างนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการคัดกรองสไตล์การเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากในวงการการศึกษา เพราะยิ่งถ้าเราสามารถทราบถึงสไตล์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้มากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ แนวคิดเกี่ยวกับสไตล์การเรียนรู้ที่น่าสนใจที่จะนำมากล่าวถึงในครั้งนี้คือ แนวคิดที่เรียกว่าโมเดลสไตล์ความคิดของเกรกอร์

 

โมเดลสไตล์ความคิดของเกรกอร์ (Gregorc Mind Styles Model) เป็นโมเดลที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงวิธีคิดและรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล ถูกพัฒนาขึ้นโดย แอนโทนี่ เกรกอร์ (Anthony Gregorc) นักปรากฎการณ์วิทยา ชาวอเมริกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 โดยเขาได้ออกแบบข้อคำถาม ที่มีชื่อว่า Gregorc Style Delineator เพื่อใช้คัดกรอกรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล Gregorc Style Delineator จะเป็นแบบทดสอบที่ให้เราใส่ค่าคะแนน 1-4 จะน้อยไปหามาก ลงไปในช่องข้อความที่แสดงถึงบุคลิกของตนเองตามความเป็นจริง โดยมีทั้งหมด 40 ขึ้น ซึ่งจะวัดออกมาเป็นระดับการเรียนรู้ทั้ง 4 ระดับที่มีคะแนนสูงต่ำไม่เท่ากัน รูปแบบการเรียนรู้ใดที่ได้คะแนนสูงที่สุด แปลว่าผู้ที่ทำแบบทดสอบนั้น มีสไตล์การเรียนรู้ที่ใกล้เคียงในลักษณะนั้นที่สุดนั่นเอง

 

โมเดลสไตล์ความคิดของเกรกอร์นั้น แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้และการจัดการข้อมูล โดยการรับรู้นั้น เป็นวิธีที่บุคคลคนแต่ละบุคคลต้องการที่เข้าใจหรือรับรู้ข้อมูลต่างๆ ซึ่งมีรูปแบบในการรับรู้อยู่สองลักษณะคือ การรับรู้แบบรูปธรรม (Concrete) และการรับรู้แบบนามธรรม (Abstract) ส่วนการจัดการข้อมูล คือการที่บุคคลต้องการจัดเรียงหรือประมวลผลข้อมูลซึ่งมีสองลักษณะเช่นกัน คือ การจัดการข้อมูลแบบเป็นต่อเนื่อง (Sequential) การจัดการข้อมูลแบบสุ่ม (Random) และเมื่อนำทั้งการรับรู้และการจัดการข้อมูลมาเขียนเป็นเส้นตรงสองเส้นตัดกัน โดยเส้นหนึ่งเป็นเส้นของการรับรู้ กับอีกเส้นหนึ่งเป็นเส้นของการจัดการข้อมูล จะทำให้เกิดสไตล์การเรียนรู้ขึ้นมา 4 แบบ อันได้แก่

1. รูปธรรมแบบต่อเนื่อง Concrete Sequential (CS)

มีสไตล์การเรียนรู้ลักษณะนี้ จะชอบประสบการณ์การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยต้องการคำแนะนำอย่างละเอียดทีละขั้นตอน ซึ่งพวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการวางแผนบทเรียนการนำเสนอและรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่สับสนวุ่นวาย จึงมักที่จะชอบรับข้อมูลแบบสำเร็จจากผู้อื่น

2. นามธรรมแบบสุ่ม Abstract Random (AR)

บุคคลที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบสุ่มที่เป็นนามธรรม จะชอบรวบรวมข้อมูลในลักษณะของการจับจดไม่มีเค้าโครงหรือทิศทางที่เป็นทางการ พวกเขามีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ของเขาซึ่งจะแปรผันตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากวิธีการพูด ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้จัดการข้อมูลของตัวเองให้เหมาะสมอยู่เสมอ

3. นามธรรมแบบต่อเนื่อง Abstract Sequential (AS)

บุคคลที่มีสไตล์การเรียนรู้นามธรรมแบบต่อเนื่อง จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วผ่านวิธีการที่หลากหลายด้วยการถอดรหัสด้วยวาจาการเขียนและการมองเห็น ดังนั้นการเรียนรู้ผ่านภาพถ่าย ภาพวาด หรือ ภาพเคลื่อนไหว จึงมีความมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เรียนประเภทนี้ ด้วยเหตุนี้ สื่อที่เป็นอุปกรณ์นำเสนอต่างๆจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลกลุ่มนี้เรียนรู้ได้ดี

4. รูปธรรมแบบสุ่ม Concrete Random (CR)

บุคคลที่มีสไตล์การเรียนรู้รูปธรรมแบบสุ่ม จะสามารถดูดซับข้อเท็จจริงและความรู้ได้อย่างรวดเร็วด้วยตัวเอง ผ่านสัญชาตญาณ พวกเขาชอบวิธีการหาคำตอบด้วยทดลอง ชอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง และไม่จะไม่ชอบแสวงหาคำตอบจากบุคคลอื่น

โมเดลสไตล์ความคิดของเกรกอร์นี้นับได้ว่า เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถคาดคะเนสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนได้ สามารถบอกได้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยในการเรียนของผู้เรียน ซึ่งมีประโยชน์มากต่อการจัดการศึกษา จึงเป็นเรื่องดีถ้าสามารถนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นเหมาะสม

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow