Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยาอายุวัฒนะ

Posted By Rezonar | 18 ก.พ. 63
9,231 Views

  Favorite

ความต้องการนอกเหนือการอยากมีชีวิตยืนยาวของมนุษย์ คือการได้มีชีวิตอันเป็นอมตะ นำไปสู่ความพยายามในการแสวงหายาอายุวัฒนะ หรือแม้กระทั่งการเก็บรักษาร่างหลังความตาย เพื่อรอเวลาที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง (ไครโอนิกส์ (Cryonics)) เหล่านี้ล้วนเป็นความคิดที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเนิ่นนาน ตั้งแต่คนธรรมดาไปจนถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในทุกยุคทุกสมัย ยกตัวอย่างเช่น จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่นามจิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวงตี้) ปฐมกษัตริย์แห่งแผ่นดินจีน ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า พระองค์เคยมีคำสั่งให้ทุกหัวเมืองภายใต้การปกครองเร่งแสวงหายาอายุวัฒนะ แม้ท้ายที่สุดแล้ว พระองค์จะเสด็จสวรรคตในวัยเพียง 49 พรรษาเท่านั้น และแน่นอนว่า ยังไม่มีใครค้นพบยาอายุวัฒนะได้สำเร็จ

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่ออายุล่วงเลย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะมีคำตอบให้เรื่องนี้ได้ เมื่อมีการศึกษาที่ลึกลงไปถึงระดับยีน อายุที่เพิ่มมากขึ้นของคนเรานั้น มองในอีกแง่ก็คือความถดถอยของสมรรถภาพทางร่างกาย นำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง (สาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคอันดับ 1 ของประเทศไทย) เบาหวาน รวมไปถึงภาวะสมองเสื่อม ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อของเราหยุดการทำงาน แต่สิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ในขณะนี้คือ การสะสมของ “เซลล์แก่” ในเนื้อเยื่อและอวัยวะ

ภาพ : Shutterstock

 

เซลล์แก่

เซลแก่ หรือ Senescent cells คือเซลล์ที่ชำรุดจนหมดสภาพ ไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไป ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า เหตุใดเมื่อคนเราอายุมากขึ้น  เซลล์เหล่านั้นจึงเสื่อมไป แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ DNA หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเทโลเมียร์ (Telomere; สาย DNA ที่อยู่บริเวณปลายของโครโมโซมทั้ง 2 ข้าง) จะทิ้งร่องรอยเสมือนเป็นข้อความที่ถูกบันทึกไว้ และนำทางไปสู่คำตอบได้เป็นอย่างดี

ภาพ : Shutterstock

 

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มากกว่า 95% ของยีน สามารถสร้างข้อความได้หลากหลายประเภท โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของเซลล์ เมื่อยีนได้รับการกระตุ้นจากเซลล์ ข้อความหรือการเปลี่ยนแปลงที่ถูกสร้างขึ้นในระดับโมเลกุลจึงถูกสร้างขึ้น (RNA) ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการไขปริศนาก็คือ การเข้าใจให้ได้ว่า ยีนตัดสินใจที่จะสร้างข้อความในเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มโปรตีนประมาณ 300 ชนิดที่เรียกว่า “Splicing Factors : ปัจจัยการตัด-ต่อ”

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ปริมาณการเกิดปัจจัยการตัด-ต่อก็จะลดลง นั่นคือเซลล์ที่มีอายุมากขึ้น ความสามารถที่จะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมจะลดลง โดยมีหลักฐานจากการตรวจเลือดของผู้สูงอายุเทียบกับคนที่อายุน้อยกว่า

 

วิธีฟื้นฟูเซลล์เก่า

ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าสามารถรักษาเซลล์เก่าได้ด้วยสารเคมีที่ปล่อยปล่อยไฮโดรเจนซัลไฟด์ในปริมาณที่เหมาะสม จะสามารถเพิ่มระดับของปัจจัยการต่อ-ต่อและช่วยฟื้นฟูเซลล์เก่าในมนุษย์ได้

 

ไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นโมเลกุลที่พบตามธรรมชาติในร่างกายของเราและได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณสมบัติหลายประการในชะลอโรคเกี่ยวกับความเสื่อมตามอายุของสัตว์ อย่างไรก็ตาม ตัวมันเองอาจกลายเป็นพิษเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการส่งมันไปยังเซลล์ที่ต้องการในปริมาณที่เหมาะสม

 

วิธีที่ดีที่สุดคือการส่งไปยังแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์โดยตรง หรือที่เรียกว่า “ไมโทคอนเดรีย (mitochondria)” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นกระบวนการที่จะทำให้ใช้สารเคมีในปริมาณที่น้อยที่สุด และดังนั้น จึงมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

ท้ายที่สุด นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า การใช้เครื่องมือในระดับโมเลกุลนี้ จะสามารถจัดการกับเซลล์ที่เสื่อมอายุได้ และสามารถจัดการกับโรคที่เก่ียวกับความเสื่อมของอายุได้ต่อไปในอนาคต

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow