Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงที่ถูกกระตุ้นโดยโซเชียล

Posted By Plook Teacher | 11 ก.พ. 63
9,340 Views

  Favorite

นับเป็นฝันร้ายของประเทศไทย ที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมคนร้ายกราดยิงผู้บริสุทธิ์จนทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งความรุนแรงนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนร้าย ก่อนที่จะถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลต่าง ๆ และแม้ว่าภายหลังเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนร้ายจะถูกปิดไป แต่สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในสื่อต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่ จน ณ บัดนี้ แม้เหตุการณ์จะจบสิ้นไปแล้ว ก็ยังคงมีสื่อหลายสำนักนำเอาสิ่งที่คนร้ายโพสต์ทิ้งไว้มาเปิดเพื่อเล่นประเด็นข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่จบสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากนี้จะตอกย้ำความรุนแรงให้จมลึกในจิตใจของผู้ที่เผชิญเหตุการณ์และผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงได้อีกด้วย

 

ในช่วงระหว่างเหตุการณ์จนไปถึงหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมจบสิ้นลง มีการแสดงความคิดเห็นมากมายในโลกโซเชียล ซึ่งหลาย ๆ ความคิดเห็นต่างมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ รู้สึกไม่ดีกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่มองการกระทำนี้เป็นเรื่องที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง และมีการแสดงออกว่าอยากว่าจะกระทำเช่นเดียวกัน  ซึ่งไม่ว่าการแสดงความคิดเห็นนี้จะเป็นเรื่องที่คิดจริง ๆ หรือแค่นึกสนุก แต่ก็การแสดงให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงในโลกของสื่อ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความเสรีจนเกินขอบเขต

 

ปัจจุบันตัวตนในโลกโซเชียลนั้น มีความสำคัญเท่าเทียบตัวตนจริง ๆ ของเรา ซึ่งการรักษาตัวตนในโลกโซเชียล โดยการแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสมนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่นักเรียนในยุคพลเมืองดิจิทัล (Digital native) ควรจะมีและพึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวเอง การแสดงความคิดเห็นที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ขัดต่อความมั่นคงของชาติ  รวมถึงการแสดงความเกลียดชังอย่างมุ่งร้ายในเรื่องต่าง ๆ คือการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองอย่างเหมาะสม ซึ่งตลอดมานั้นการกระทำเช่นนี้ยังไม่มีกฎหมายใดมารองรับ จึงมีการนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ในปัจจุบัน การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  พุทธศักราช 2560 ซึ่งได้มีระบุความผิดไว้ในมาตราที่ 14 หัวข้อที่ 2 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งจากบทบัญญัตินี้ ทำให้เกิดการกวดขัน เฝ้าระวังและดูแลความเรียบร้อยในโลกโซเชียลมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นสถานะอีกส่วนหนึ่งของเรา เราก็มักเลือกที่จะแสดงออกในโลกออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเสริมเติมแต่งจากตัวตนที่เป็นอยู่ หรืออาจแสดงออกไปคนละขั้วกับชีวิตจริงเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายที่ผู้ใช้อยากสื่อ และอีกส่วนหนึ่งคือความนิยมจากผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ติดตาม และกดถูกใจ ซึ่งการตอบสนองดังกล่าวนี้ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้แสดงตัวตนในโลกโซเชียลมากขึ้น ทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี

 

สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  ซึ่งถ้ามองโลกโซเชียลเป็นสังคม ๆ หนึ่งการยอมรับในโลกโซเชียลนั้นก็คือการได้รับการแสดงความคิดเห็นตอบสนอง การกดถูกใจหรือมีการแชร์ข้อมูลนั่นเอง จึงไม่แปลกอะไรถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อแสดงตัวตนในด้านตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ซึ่งความแปลกแยกนี้ทำให้เขารู้สึกเด่น มีตัวตน และแม้ว่าการแสดงตัวตนนั้นจะได้รับเสียงตอบรับทางลบมากกว่าทางบวก แต่อย่างไรเสีย กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังรู้สึกดีใจว่าตัวเองนั้นมีตัวตนอยู่ในโลกออนไลน์

 

เรื่องนี้ อาจไม่ได้หมายความถึงแค่การกระทำรุนแรงต่อคนอื่นเพียงอย่างเดียว การกระทำรุนแรงต่อตัวเองก็ถือเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เช่น การไลฟ์สดฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นความรุนแรงที่มีแนวโน้มจะเกิดการเลียนแบบขึ้นได้ ถ้าผู้เสพสื่อมีสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีภาวะถูกกดดันจากสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การยุยงปลุกปั่นด้วยถ้อยคำรุนแรงผ่านการแสดงความคิดเห็นต่อการกระทำหรือสิ่งที่เขากำลังกระทำนั้น ก็เป็นเสมือนเชื้อไฟที่คอยสุมให้ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติมากขึ้นไปอีก

 

นอกจากนี้ การที่สื่อต่าง ๆ พยายามแสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนร้าย เปิดเผยหน้า เปิดเผยชื่อ ค้นหาภูมิหลัง ตลอดจน ขุดคุ้ยเรื่องของคนร้ายนั้น เป็นการกระทำที่สร้างให้คนร้ายมีตัวตนอยู่ แม้ว่าความจริงได้หายไปแล้ว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการยกยอปอปั้นเสมือนเป็นบุคคลสำคัญของชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กและเยาวชนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันในการรับสื่อออนไลน์ที่ดีพอ มองการกระทำเหล่านั้นว่าเป็นการกระทำโดยชอบธรรมของคนร้ายที่กระทำไปเพราะความโกรธแค้น และมองว่าคนร้ายนั้นเป็นแบบอย่างของคนที่สู้หัวชนฝา ทั้ง ๆ ที่ความจริง การกระทำของคนร้ายนั้นเป็นการกระทำที่อันตรายและรุนแรงเกินกว่าเหตุ นอกจากนี้มีหลายความคิดเห็นที่แสดงออกประมาณว่า ทำไมไม่ก่อเหตุที่นั่นที่นี่ หรือไปจัดการคนนั้นคนนี้ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ต่างกับการเลียนแบบ เพราะเป็นความเห็นที่ไม่ได้แสดงออกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิด เพียงแต่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรเกิดกับคนอื่นหรือสถานที่อื่นมากกว่า ซึ่งความคิดนี้แฝงไว้ด้วยความรุนแรงอย่างร้ายกาจและเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

 

เด็กและเยาวชนนั้น บ่อยครั้งมักมีความคิดที่ขัดแย้งต่อกฎระเบียบของสังคมอยู่เสมอ ซึ่งการแสดงออกในความขัดแย้งนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของศีลธรรมและความเข้าใจอันดีในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เด็กและเยาวชนมีความคิดที่แหวกแนวในเรื่องกฎระเบียบบ้าง เพราะกฎระเบียบในบางเรื่องนั้นก็ควรต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน แต่อย่างไรเสีย กฎระเบียบเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของบุคคล ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยึดถือ และมองการกระทำที่มาทำลายความสงบสุขนี้เป็นเรื่องเลวร้ายที่รับไม่ได้  ซึ่งการที่มีเด็กและเยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนแสดงพฤติกรรมอยากเลียนแบบความรุนแรงนั้น นับเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงถึงความไม่ตระหนักต่อความโหดร้ายรุนแรง ซึ่งเราคงต้องมาย้อนดูการศึกษาว่า เราได้ให้ความสำคัญกับศีลธรรมและความเข้าใจอันดีในสังคม ตลอดจนทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน

 

สำหรับทางแก้ที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้ ในกรณีที่ครูผู้สอนสามารถกระทำ นั้นได้แก่

         - ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเหมาะสมกับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทราบข้อเท็จจริง และเข้าใจถึงผลของความรุนแรงดังกล่าว

         - พยายามให้นักเรียนลดการรับสื่อลง ลดการรับข่าวสารในเรื่องนี้ผ่านทางโซเชียลต่าง ๆ ไม่เข้าไปดู ไม่เปิดอ่าน เพราะถ้าเราทราบเรื่องทั้งหมดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปรับรายละเอียดเพิ่มเติมที่มาจากการใส่สีตีข่าว ซึ่งนอกจากจะไม่ได้อะไรเพิ่มเติมแล้วและยังส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อจิตใจของเราเองอีกด้วย

         - แสดงให้นักเรียนรู้สึกว่าความรุนแรงนี้เป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับที่ใดหรือกับใครอีก และควรปฏิบัติตัวต่อเหตุการณ์นี้ด้วยการแสดงออกอย่างเหมาะสม

         - เฝ้าระวังนักเรียนที่มีภาวะเสพติดความรุนแรง ซึ่ง มักจะแสดงออกมาผ่านการกระทำ เช่น ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือ โพสต์ภาพที่แสดงความรุนแรงในโลกโซเชียลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งครูผู้สอนควรปรึกษากับผู้ปกครอง รวมถึงนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางแก้ไข

         - ใช้สถานการณ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสอนนักเรียนในเรื่องของการระวังภัยและเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤต

 

อย่าให้การกระทำที่รุนแรงนี้ เป็นความยิ่งใหญ่ อย่าให้ค่ากับการกระทำป่าเถื่อนนี้ จงมองผู้กระทำเป็นเพียงคนนิรนามไร้ชื่อ ไม่มีค่าพอจะให้นึกถึง และอย่าให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าความรุนแรงนี้เป็นความเท่ หรือ เป็นความเคยชิน ต้องให้เขารู้สึกว่าสิ่งนี้คือความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดกับใคร ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายนี้ไปอย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้านี้อีกในอนาคต

 

เรียบเรียง โดย นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow