Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ว่าด้วยเรื่องการคดโกงในวัยเรียน

Posted By Plook Teacher | 29 ม.ค. 63
49,414 Views

  Favorite

การคดโกง คือการกระทำที่ทุจริต หลอกลวงปิดบังซ่อนเร้น หรือกระทำนอกกฎกติกาเพื่อทำให้ตัวเองประโยชน์หรือได้เปรียบจากสถานการณ์นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันกีฬา การพนัน การสอบ หรือแม้แต่การปฏิบัติงานโดยใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ การเล่นพรรคเล่นพวก เลือกที่รักมังที่ชัง รวมถึง การติดสินบนเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในทางการเมืองจะเรียกการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นการคอรัปชั่น political corruption ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศอย่างมหาศาล

 

สำหรับในโรงเรียน เรื่องของการโกงหรือการทุจริต ที่เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสอบ เพราะเป็นการวัดผลที่มีความสำคัญต่อตัวผู้เรียน เช่น การเลื่อนชั้น หรือการตัดเกรด จึงมักจะมีนักเรียนบางคนหาทางทุจริต เพื่อให้ตัวเองได้คะแนนที่ดีขึ้น ซึ่งการกระทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ตัวเองมีความผิดแล้ว ยังเป็นความเสี่ยงที่ตัวเองอาจโดนลงโทษจากสถานศึกษาอีกด้วย

 

นอกจากนี้การคดโกงที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งคือ การลอกเลียนงานหรือการบ้าน ซึ่งมันจะเป็นเรื่องที่นักเรียนมักจะปฏิบัติและหลายครั้งตัวนักเรียนเองก็ไม่คิดว่าเป็นการคดโกง ซึ่งการลอกเลียนงานหรือการบ้านนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการที่นักเรียนลืมทำการบ้านหรือขาดความเข้าใจในการทำงานนั้น ๆ จึงจำเป็นต้องลอกงานจากเพื่อน นอกจากนี้ การบ้านที่มากจนเกินไปก็ส่งผลให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะทุจริตได้ เพราะด้วยความที่ไม่มีเวลาจึงจำเป็นต้องจ้างคนอื่นทำงานให้แทนที่จะทำด้วยตัวเอง ซึ่งแม้จะเป็นการจ้างทำ แต่เมื่อการบ้านคืองานที่นักเรียนต้องทำด้วยตัวเอง การให้คนอื่นทำให้ก็ถือเป็นการทุจริตที่ไม่ควรเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เอื้อประโยชน์ให้นักเรียนคัดลอกงานได้ง่ายขึ้น ด้วยฟังก์ชั่นคัดลอกข้อความทำให้นักเรียนใช้ประโยชน์จากความสามารถดังกล่าวในการคัดลอกงานต่าง ๆ ซึ่งถ้าครูผู้สอนไม่ได้สนใจหรือใส่ใจกับข้อความที่นักเรียนส่งมา อาจจะไม่ทราบเลยว่านักเรียนกำลังคดโกงอยู่

 

สาเหตุที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมคดโกงนั้น มีด้วยกันหลายสาเหตุ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป สาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการ อันได้แก่

1. ผลประโยชน์

การโกงผลการสอบ ถ้ากระทำสำเร็จ จะสามารถทำให้ตัวเองได้คะแนนดีกว่าที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งการได้คะแนนดีนั้นนำมาซึ่งประโยชน์ด้านการศึกษามากมาย ยิ่งผลประโยชน์มีมากเท่าไหร่ ก็ส่งผลให้มีโอกาสที่นักเรียนจะก่อทุจริตมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งถ้านักเรียนขาดคุณธรรมประจำใจในเรื่องของความซื่อสัตย์ด้วยแล้ว ก็ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติในพฤติกรรมที่ไม่ดีนี้มากขึ้นไปอีก


เรื่องของผลประโยชน์ เป็นเรื่องหลักที่ทำให้เกิดการคดโกงแทบจะทุกระดับ เพราะเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เงินทอง หรืออำนาจบารมี มนุษย์ที่มีความโลภและขาดความเข้มแข็งทางจิตใจก็พร้อมที่จะทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ แม้จะรู้ว่าบทสรุปของการคดโกงนั้นจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม

 

2. การได้รับการยอมรับ

สำหรับนักเรียน โดยเฉพาะในวัยรุ่น การได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงถือเป็นสิ่งที่นักเรียนส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อการกระทำทุจริตเหล่านั้นได้รับความชื่นชมจากเพื่อน ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้นักเรียนปฏิบัติพฤติกรรมเหล่านั้นอีกในครั้งต่อไป

สิ่งนี้เป็นไปตามทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก ซึ่งนักเรียนในช่วงอายุ 10-16 ปี นั้น อยู่ในขั้นของความคาดหวังและการยอมรับในสังคมสำหรับ‘เด็กดี’ (The Interpersonal Concordance or “Good Boy-Nice Girl” Orientation) ซึ่งเป็นขั้นที่แสดงให้เห็นว่า นักเรียนจะไม่ค่อยมีความเป็นตัวของตัวเอง มักจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการยกย่องหรือยอมรับ ซึ่งการยอมรับจากเพื่อนฝูงถือเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมาก

 

3. ความอยากลองและชอบเสี่ยง

เมื่อสมองส่วนระบบลิมบิก (limbic system) พร้อมด้วยเส้นประสาทโดยรอบ พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 10 - 12 ปี ส่งผลให้วัยนี้มีการขับเคลื่อนอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์เป็นหลักเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ในความอยากรู้อยากลองและชอบเสี่ยง ซึ่งการเติบโตในส่วนนี้อยู่ในช่วงเวลาที่สมองในส่วนของการยับยั้งชั่งใจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นัก ทำให้วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่มักจะทำอะไรตามความต้องการ โดยที่ไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี ซึ่งการคดโกงก็อาจเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่วัยรุ่นบางส่วนอย่างลองที่จะทำ

มีนักเรียนหลายคนที่มักจะทำพฤติกรรมทุจริตด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสนุก การสามารถหลอกลวงคนอื่นได้ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจสามารถควบคุมทุกคนได้ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งการทุจริตก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับเขาเลย เพราะลำพังความสามารถที่เขามีก็เพียงพอที่จะทำให้เขาเรียนดีได้ไม่ยาก

 

สำหรับวิธีการป้องกันการทุจริตคดโกงของนักเรียน เราสามารถดำเนินการได้ดังนี้

ประการแรก กำหนดกฎเกณฑ์บทลงโทษในเรื่องของการทุจริตคดโกงให้ชัดเจน และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้นอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยปกติแล้วโรงเรียนจะมีกฎข้อบังคับอยู่แล้ว เพียงแต่การบังคับใช้อาจยังไม่ชัดเจนหรือหละหลวม ดังนั้นครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนต้องรักษาไว้ซึ่งกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน มากกกว่าการใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว อย่างไรก็ดี การกำหนดกฎเกณฑ์และบทลงโทษต่าง ๆ ในโรงเรียน นักเรียนรวมถึงผู้ปกครองของนักเรียนจะต้องรับทราบและยินดีปฏิบัติตามตั้งแต่มาสมัครเรียน และเป็นไปได้ควรให้นักเรียนพิจารณาร่วมกันกับครูผู้สอนในการกำหนดกฎเกณฑ์บางประการให้เหมาะสม

ประการที่สอง ส่งเสริมคุณธรรมให้กับนักเรียน ซึ่งอาจใช้หลักธรรมทางศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน เช่น ในศาสนาพุทธ เน้นจัดกิจกรรมให้นักเรียน มีฆราวาสธรรม 4 คือธรรมสำหรับการครองเรือนในชีวิตของบุคคลทั่วไป คือ “สัจจะ” พูดจริงทำจริงและซื่อตรง “ทมะ” ฝึกหัดแก้ไขปรับปรุง “ขันติ” อดทนตั้งใจและขยัน และ “จาคะ” คือ เสียสละ เป็นต้น

ปัจจุบันทางภาครัฐได้มีการจัดทำหลักสูตรเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ในเรื่องของการต่อต้านการโกงและการคอรัปชั่น เช่น โครงการโตไปไม่โกง หรือโครงการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ใประโยชน์และสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรมให้กับนักเรียนได้อีกทางหนึ่ง

ประการที่สาม ทำป้ายรณรงค์เรื่องของการต่อต้านการคดโกงในโรงเรียน เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

ประการที่สุดท้าย ครูผู้สอน รวมถึงผู้ปกครอง จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างในเรื่องของการปฏิบัติตนอย่างสุจริต และควรกำชับนักเรียนว่าการคดโกงเป็นสิ่งไม่ดี และไม่มีใครยอมรับการกระทำดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนรู้สึกเกรงใจและหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติ


การคดโกงของนักเรียนนั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตอะไร แต่อาจเป็นปัญหาต่อตัวนักเรียนได้ในอนาคต ถ้าพฤติกรรมเหล่านี้ติดตัวไปแล้วเป็นสิ่งที่นักเรียนประพฤติด้วยความเคยชิน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวนักเรียนและบุคคลรอบข้างได้ ดังนั้นจึงควรแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow