Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รูปแบบการเรียนรู้ตามวัฎจักรการเรียนรู้แบบ 4MAT

Posted By Plook Teacher | 29 ม.ค. 63
75,741 Views

  Favorite

รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบโฟร์แมทซิสเต็ม (4MAT System) เป็นทฤษฎีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามความถนัดของผู้เรียนและส่งเสริมการใช้สมองทั้งสองซีก ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข

 

4 MAT’S Learning เกิดขึ้นโดยแนวคิดของ เบอร์นิส แมคคาร์ธี (Mc Carthy) โดยได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีการเรียนรู้ของเดวิด คอล์บ (Kolb) ที่เชื่อว่ารูปแบบการเรียนรู้เกิดจากความสัมพันธ์ 2 มิติ คือ มิติการรับรู้ (perception) ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ ประสบการณ์แบบที่เป็นนามธรรมและประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม กับมิติของกระบวนการจัดการข้อมูล (processing) ซึ่งมี 2 ลักษณะ เช่นเดียวกันคือ การสังเกตและการปฏิบัติ

 

ตามทฤษฎีของ 4 MAT นั้น แมคคาร์ธีแบ่งผู้เรียนออกเป็น 4 แบบ ซึ่งเกิดจากการลากเส้นตรงของมิติการรับรู้ กับมิติของกระบวนการจัดการข้อมูลมาตัดกัน แล้วเขียนเป็นวงกลม ซึ่งจะเกิดเป็นพื้นที่ 4 ส่วน ของวงกลมที่อธิบายถึงลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ 4 แบบ คือ

 

1. ผู้เรียนที่ถนัดการเรียนรู้โดยจินตนาการ (Imaginative Learners)

คือผู้เรียนที่มีความถนัดในการรับรู้โดยจินตนาการ จะรับรู้โดยประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการจัดการข้อมูลด้วยการสังเกต โดยเขาจะสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิมของตนเองได้อย่างดี ผู้เรียนกลุ่มนี้จะเรียนได้ดี ในรูปแบบการเรียนการสอนแบบร่วมมือ การอภิปรายและการทำงานกลุ่มซึ่งคำถามนำทางสำหรับผู้เรียนกลุ่มนี้คือ “ทำไม” (Why ?)

 

2. ผู้เรียนที่ถนัดการวิเคราะห์ (Analytic Learners)

คือผู้เรียนที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ดี สามารถรับรู้โดยประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม ผ่านกระบวนการจัดการข้อมูลด้วยการสังเกต ผู้เรียนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความรู้ที่เป็นทฤษฎี รูปแบบ และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การอ่าน การค้นคว้าข้อมูลจากตำราหรือเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งการเรียนรู้แบบบรรยาย จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มนี้ โดยคำถามนำทางสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้คือคำว่า “อะไร” (What ?)

 

3. ผู้เรียนที่ถนัดการใช้สามัญสำนึก (Commonsense Learners)

คือผู้เรียนที่มีความสามารถในการรับรู้โดยประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม ผ่านกระบวนการจัดการข้อมูลด้วยการปฏิบัติ เขาให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ความรู้ ความก้าวหน้า และการทดลองปฏิบัติ ซึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มนี้คือ กิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติและกิจกรรมการแก้ปัญหา และคำถามนำทางสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้คือ “อย่างไร” (How ?)

 

4. ผู้เรียนที่ถนัดการรับรู้จากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมและนำสู่

คือผู้เรียนที่มีความถนัดในการเรียนรู้โดยประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการจัดการข้อมูลด้วยการปฏิบัติ เขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เป็นการสำรวจ ค้นคว้า การค้นพบด้วยตนเอง โดยสามารถเชื่อมโยงความรู้เหล่านั้นไปสู่การทดลองปฏิบัติด้วยตนเองได้ ซึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มนี้ คือ การสำรวจและค้นคว้าด้วยตัวเอง และคำถามนำทางสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้คือ “ถ้า” (If ?)

 

และด้วยแนวคิดนี้เองทำให้เกิดเป็นแนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้คำถามหลักที่มาจากแนวคิดดังกล่าว 4 คำถาม คือ ทำไม (Why) อะไร (What) อย่างไร (How) และถ้า (If) โดยกิจกรรมการเรียนรู้นี้จะหมุนวนไปตามเข็มนาฬิกาไปจนครบทั้ง 4 ช่วง 4 แบบ และแต่ละช่วงจะแบ่งเป็น 2 ขั้น โดยจะเป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ใช้สมอง ทั้งซีกซ้ายและขวาสลับกันไป ดังนั้นขั้นตอนการเรียนรู้จะมีทั้งสิ้น 8 ขั้นตอนดังนี้

 

          Why ขั้นที่ 1 สร้างประสบการณ์ (สมองซีกขวา) ครูสร้างประสบการณ์ด้วยการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์ที่รับรู้ให้เป็นของตนเอง

          Why ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ประสบการณ์ (สมองซีกซ้าย) ครูให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดจากประสบการณ์และตรวจสอบประสบการณ์ที่ได้รับรู้

          What ขั้นที่ 3 บรูณาการการสังเกตไปสู่ความคิดรวบยอด (สมองซีกขวา) ครูให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และจัดกิจกรรมบูรณาการให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอด

          What ขั้นที่ 4 พัฒนาความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย) ครูให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงตามทฤษฎีหรือความคิดรวบยอด เพื่อให้ผู้เรียนวิเคราะห์และไตร่ตรองประสบการณ์ที่รับรู้อย่างถี่ถ้วน

          How ขั้นที่ 5 ปฏิบัติและปรับแต่งเป็นแนวคิดของตนเอง (สมองซีกซ้าย) ผู้เรียนลองปฏิบัติตามสิ่งที่ได้รับรู้ โดยผ่านประสาทสัมผัสเพื่อพัฒนาแนวคิดและทักษะต่าง ๆ

          How ขั้นที่ 6 ปรับแต่งเป็นแนวคิดของตนเอง (สมองซีกขวา) ผู้เรียนปรับปรุงสิ่งที่ปฎิบัติด้วยวิธีการและบูรณาการเป็นองค์ความรู้ของตนเอง

          If ขั้นที่ 7 วิเคราะห์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ (สมองซีกซ้าย) ผู้เรียนวิเคราะห์สิ่วที่รับรู้ แล้วนำไปประยุกต์หรือดัดแปลงสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

          If ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนความรู้ของตนกับผู้อื่น (สมองซีกขวา) ผู้เรียนแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้มากับผู้อื่น

 

การเรียนรู้แบบ 4 MAT นี้เป็นรูปแบบการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองรูปแบบการเรียนของผู้เรียนที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข จึงนับได้ว่า 4MAT System นี้นับเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจและเหมาะสมแก่การนำไปประยุกต์ใช้เป็นอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow