Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทฤษฎีพหุปัญญาสู่การเข้าถึงอัจฉริยภาพของนักเรียนทุกคน

Posted By Plook Teacher | 28 ม.ค. 63
13,900 Views

  Favorite

ตลอดมา เรามักจะมองความฉลาดของมนุษย์ ผ่านการวัด IQ (Intelligence Quotient) ซึ่งเป็นการวัดความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิดคำนวณ การเชื่อมโยงและการใช้เหตุผลของมนุษย์เพียงอย่างเดียว โดยผู้ที่ได้ IQ สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกตินั้น จะถูกยกย่องว่าเป็นคนฉลาด ซึ่ง IQ ของคนปกติจะอยู่ที่ 90-109 โดยประมาณ

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของความฉลาดของมนุษย์มากขึ้น ทำให้การวัดความฉลาดของมนุษย์แค่เพียงเรื่องของ IQ นั้นอาจไม่สามารถมองเห็นถึงความสามารถทางปัญญา หรือความฉลาดในด้านอื่น ๆ ของมนุษย์ได้ทั้งหมด ซึ่งจากแนวคิดนี้เอง ได้นำมาสู่ทฤษฎีที่มองถึงความฉลาดของมนุษย์อย่างหลากหลาย ที่เรียกว่า ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences)

 

ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) เป็นทฤษฎีที่ถูกนำเสนอโดย ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของเชาว์ปัญญา หรือความฉลาดของมนุษย์นั้น 2 ประการคือ

         1. ความฉลาดของมนุษย์ ไม่ได้มีเพียง เรื่องของภาษา หรือ คณิตศาสตร์ แต่มีความหลากหลายไม่ต่ำกว่า 7 ด้าน ซึ่งความหลากหลายนี้มีการผสมผสานกัน และนำมาสู่แบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล

         2. ความฉลาดของมนุษย์นั้นไม่ใช่สิ่งที่คงที่ คือ ไม่ใช่สิ่งที่คงไว้ในระดับนั้นตั้งแต่เกิด แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าได้รับการส่งเสริมในการเรียนรู้อย่างเหมาะสม

 

ซึ่งจากความเชื่อพื้นฐานทั้ง 2 ประการนี้ ทำให้เราสามารถบอกถึงความหมายของทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ได้ว่า เป็นทฤษฎีที่บอกถึงความฉลาดของมนุษย์ที่มีหลากหลายด้านแตกต่างกัน แต่มีความสอดคล้องกัน โดยจะแสดงเป็นจุดเด่นจุดด้อยตามความแตกต่างและลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล

 

ซึ่งเริ่มแรกนั้น ทฤษฎีพหุปัญญา ศาสตราจารย์โฮวาร์ด ได้ระบุว่ามีความฉลาดของมนุษย์อย่างน้อย 7 ด้านที่มีความแตกต่างกัน ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 8 ด้าน และ 9 ด้านในภายหลัง หลังจากได้มีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละด้านของความฉลาดในทฤษฎีพหุปัญญานั้น ประกอบด้วย

1. เชาว์ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

คือ ความฉลาดในด้านการใช้ภาษา สามารถจดจำคำและตัวอักษรต่าง ๆ ได้ดี มีนิสัยรักการอ่าน ชอบแสดงความคิดเห็นผ่านการเขียนและการพูด มีทักษะในการเรียนรู้ทางภาษาได้ดี การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ การเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือ นิทาน บทความ บทกลอน เล่นเกมปริศนาคำทาย พูดคุยสนทนากับถึงประเด็นต่าง ๆ การอภิปรายและการแสดงความคิดเห็นโดยการเขียน เป็นต้น

 

2. เชาว์ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical – Mathmatical Intelligence)

คือ ความฉลาดในด้านของการมีทักษะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีความคิดเป็นตรรกะ ชอบพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลองแก้ปัญหา ชอบทำงานกับตัวเลข มีการทำงานอย่างเป็นระเบียบแบบแผน มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ เกมเกี่ยวกับตัวเลข กิจกรรมการทดลอง การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การแก้โจทย์ปัญหา และฝึกทักษะในการคิดคำนวณ เป็นต้น

 

3. เชาว์ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual – Spatial Intelligence)

คือ ความฉลาดในเรื่องของความเข้าใจในขนาด พื้นที่ และทิศทางมีความชื่นชอบในกิจกรรมศิลปะ การคิดจิตนาการ ชอบขีดเขียน มีความเข้าใจในเรื่องทิศทาง แผนที่ และรูปทรงเรขาคณิต มีมุมมองทางศิลปะที่ดี ชอบแสดงออกเป็นภาพวาดมากกว่าตัวอักษร การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ การใช้กิจกรรมศิลปะ เล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ เกมหาสมบัติจากแผนที่ การถ่ายภาพ สเก็ตภาพ การเขียนบันทึกไดอารี่ การทำ Mind Mapping และการจัดทัศนศึกษาเพื่อไปชมนิทรรศการหรือพิพิทธภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น

 

4. เชาว์ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily – Kinesthetic Intelligence)

คือ ความฉลาดในด้านของการมีทักษะในการเคลื่อนไหว ชอบที่จะเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ มีความกระตือรือร้น ชอบออกกำลังกาย และชอบเต้นรำ มีทักษะในการเคลื่อนไหวที่ดี สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี เมื่อผ่านการปฏิบัติ การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ การฝึกเป็นนักกีฬาหรือนักเต้น ใช้กิจกรรมกีฬาและการเต้นรำ มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน เน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวและลงมือปฏิบัติจริง เป็นต้น

 

5. เชาว์ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

คือ ความฉลาดในการเล่นดนตรี แยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้ดี ชอบร้องรำทำเพลง สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ดี รู้จักจังหวะและทำนอง ทำงานและจดจำเนื้อหาต่าง ๆ ได้ดีเมื่ออยู่ท่ามกลางเสียงดนตรี การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ ให้เรียนรู้ผ่านบทเพลงและจังหวะ การเล่นรำทำเพลง การเรียนดนตรี และการจัดทัศนศึกษาในการชมดนตรีหรือคอนเสิร์ต เป็นต้น

 

6.เชาว์ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

คือ ความฉลาดในการมีมนุษย์สัมพันธ์ มีเพื่อนมาก เข้าใจผู้อื่น รู้จักเป็นผู้นำและผู้ตาม ชอบมีส่วนร่วมในกลุ่ม พูดจาสนทนากับผู้อื่นได้ดี มีทักษะในการจูงใจคน การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ การจัดกิจกรรมแบบกลุ่มเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น

 

7. เชาว์ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

คือ ความฉลาดในการเข้าใจตนเอง มีความสันโดษ ชอบนั่งคิดอะไรเงียบ ๆ เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง มีจินตนาการและความคิดที่เป็นอิสระ มีความเข้าใจในตัวเองสูง ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ การศึกษารายบุคคล ให้อิสระในการทำงานเพียงลำพัง และส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักนับถือตัวเอง และเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง

 

8. เชาว์ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

คือ ความฉลาดในการเข้าใจธรรมชาติ รักธรรมชาติ ชอบเลี้ยงสัตว์ สนใจในเรื่องต่าง ๆ ของธรรมชาติทั้งพืชพรรณ สิ่งมีชีวิตและดินฟ้าอากาศ เป็นนักอนุรักษ์ และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ดี การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ การทำกิจกรรมผ่านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การสำรวจธรรมชาติ และการทำกิจกรรมออกค่ายหรือรณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

9. เชาว์ปัญญาในการคิดใคร่ครวญ (Exitential intelligence)

คือ ความฉลาดในการรู้จักคิดใคร่ครวญ ชอบคิด สงสัยใคร่รู้ และตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปต่าง ๆ ในชีวิต ชอบเฝ้าดูผู้คนและสนใจในเรื่องของปรัชญา และความเป็นมาเกี่ยวกับมนุษย์ การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่มีความฉลาดในด้านนี้คือ และเรียนรู้ผ่านเรื่องราวปรัชญาต่าง ๆ การนั่งสมาธิ และการสำรวจผู้คน

 

ทั้งหมดนี้ เชาว์ปัญญาในแต่ละด้านตามทฤษฎีพหุปัญญา ที่ทางศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มเติมขึ้นได้ตามผลการศึกษาใหม่ ๆ และแม้ว่า ทฤษฎีพหุปัญญานี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดของการศึกษาทั้งหมด แต่คำพูดที่ว่า Character is more important than intellect (ตัวละครมีความสำคัญกว่าสติปัญญา) ของศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ก็ดูจะเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความจริงไม่น้อยเลยทีเดียว

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow