Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝุ่น PM2.5 ตัวกระตุ้นทำให้ฉลาดน้อยลง ก้าวร้าวมากขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

Posted By Plook Magazine | 17 ม.ค. 63
6,014 Views

  Favorite

ปัญหามลพิษทางอากาศของบ้านเรานับวันยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตยิ่งต้องกังวลกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้มากขึ้น เพราะเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้คือวายร้ายที่จะมาพรากสุขภาพดีไปจากเรา แล้วมันกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเรายังไงบ้าง มาดูกัน !

 
 

 

ทำความรู้จักกับฝุ่น PM2.5 >> https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/71042/-blo-scihea-sci-

 

 

ความจำสั้น ฉลาดน้อยลง

เวลาที่เราหายใจเข้า เจ้าฝุ่น PM2.5 จะสามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือดเข้าไปในเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก และผ่านเข้าไปยังสมองได้ เมื่อฝุ่นจิ๋วเข้าไปในสมอง มันจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในสมอง โดยจะมีการหลั่งสารอักเสบชนิดต่าง ๆ ทำให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ และอาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า ฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมอง เช่น มีสติปัญญาด้อยลง (Global Intelligence Quotient; IQ), การพัฒนาการช้าลง (ทั้ง Cognitive และ Psychomotor Development), มีปัญหาการได้ยินและการพูด รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit) และภาวะออทิสซึม (Autism) เพิ่มมากขึ้นถึง 68%

 

 

สิวขึ้น ผิวแพ้ง่ายมากขึ้น

เคยสงสัยไหม ? ทำไมเวลาค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง เราถึงสิวเห่อหรือคันผิวมากกว่าปกติ นั่นก็เพราะเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้สามารถเข้าสู่ผิวหนังของคนเราได้ โดยจะเข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้า ทำให้เกิดอาการอักเสบของผิวหนังมากขึ้น และถ้าเราได้รับฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานานติดต่อกัน ก็จะทำให้ผิวหนังเกิดอนุมูลอิสระที่ส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดจุดด่างดำและริ้วรอยบนใบหน้าได้มากขึ้น และยังลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนังอีกด้วย

 

 

กระดูกจะอ่อนแอลง

ผลวิจัยจากทีมวิจัยนานาชาติ สถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนา (ISGlobal) ของสเปน พบว่า เมืองที่มีฝุ่นละออง PM2.5 ในระดับสูงจะมีแนวโน้มที่กลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีสัดส่วนแร่ธาตุในกระดูกลดลงกว่าปกติ และยังพบว่า ผงฝุ่นเขม่าดำ (Black Carbon) ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของฝุ่น PM2.5 มีความเชื่อมโยงกับมวลกระดูกที่ลดลง โดยทีมนักวิจัยคาดว่า ฝุ่น PM2.5 อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย และเกิดภาวะที่ไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งทำให้เกิดภาวะกระดูกเสื่อมและโรคกระดูกพรุน

 

 

อารมณ์ก้าวร้าว เกรี้ยวกราดง่าย

ทีมวิจัยจาก Colorado State University พบว่า ระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ผลวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า ในวันที่ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นในอากาศ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหตุอาชญากรรมรุนแรงที่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสจะเพิ่มขึ้นราว 1.4% ทีมวิจัยยังบอกอีกด้วยว่า เมื่อร่างกายได้รับมลพิษสูงขึ้นในระยะสั้นอาจทำให้รู้สึกสับสน และผลักดันให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเดิม และยังมีงานวิจัยจาก University of Southern California ที่พบว่าพฤติกรรมเกเรของวัยรุ่น เช่น การโดดเรียน การคดโกง ลักขโมย ทำลายข้าวของ ใช้ยาเสพติด เกี่ยวข้องกับปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่หนาแน่นด้วย

 

 

เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

ทีมวิจัยจาก University College London (UCL) พบว่า การใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่สูงจะส่งผลให้คนเรามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบว่า คนที่ต้องหายใจพร้อมฝุ่น PM2.5 เข้าไปในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปีหรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงสูงขึ้น 10% ที่จะมีอาการซึมเศร้า โดยในรายงานวิจัยชิ้นอื่นยังพบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มถึง 4 เท่า

 

 

ฝุ่น PM2.5 ตัวร้ายทำลายอวัยวะในร่างกาย

ปอด
ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการอักเสบต่อระบบทางเดินหายใจ ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ และปอดกำจัดเชื้อโรคในกลุ่มแบคทีเรียได้ลดลง ทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าปกติ ในระยะยาวอาจทำให้การทำงานของปอดถดถอยลง และอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองแม้จะไม่สูบบุหรี่ และยังเพิ่มโอกาสทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ด้วย

หัวใจและหลอดเลือด
ฝุ่น PM2.5 จะเข้าไปทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำหน้าที่ของหัวใจแย่ลง โดยจะไปกระตุ้นให้ร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัวหรือตึงเครียด ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และลดการพัฒนาเซลล์ใหม่ ๆ ในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันลดลง
ฝุ่น PM2.5 กระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้นในระดับเซลล์ โดยเพิ่มการแสดงออกของยีนและการหลั่งโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น ภูมิแพ้ โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น และยังเพิ่มการตอบสนองต่อการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมองส่วน hypothalamus, ตับ, ม้าม, หัวใจ และไต

 

เจ้าฝุ่น PM2.5 นี้ นอกจากจะส่งผลร้ายต่ออวัยวะภายในร่างกายอย่างปอดและหัวใจแล้ว มันยังเข้าไปรบกวนการทำงานของสมอง และส่งผลต่อเซลล์ต่าง ๆ อีกด้วย ส่วนใครที่คิดว่าก็หายใจเข้าออกพร้อมกับฝุ่นมาตั้งหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังสุขภาพดีอยู่อ่ะ เราขอเตือนไว้ล่วงหน้าเลยว่า เจ้าฝุ่น PM2.5 คือภัยเงียบที่จะค่อย ๆ กัดกินเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย บางคนอาจจะไวต่อฝุ่น PM2.5 อย่างเห็นได้ชัด ส่วนคนที่ไม่เป็นอะไรเลยก็อย่าเพิ่งคิดว่าร่างกายโอเคและอย่าประมาท เราขอแนะนำให้ทุกคนเช็กค่าฝุ่นก่อนออกไปโรงเรียนหรือข้างนอกเสมอ และอย่าอายที่จะใส่หน้ากากอนามัยเวลาที่ค่าฝุ่นสูงด้วยล่ะ #เป็นห่วง

 

แหล่งข้อมูล
จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563
The health effects of ambient PM2.5 and potential mechanisms. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563
ฝุ่น PM2.5 กับโรคสมอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563
PM2.5 กับผลกระทบทางผิวหนัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563
มลพิษทางอากาศทำให้กระดูกมนุษย์อ่อนแอลง. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563
งานวิจัยใหม่ชี้มลพิษทางอากาศ PM2.5 มีผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้า-จบชีวิตตัวเอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563
ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์และการก่ออาชญากรรม. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow