Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกเรียนรู้ได้ดี เพราะได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสที่เหมาะสม

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 03 ม.ค. 63
2,801 Views

  Favorite

ปัญหา “ลูกไม่นิ่ง” “ลูกไม่มีสมาธิ” คงเป็นปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่หลายคนเจอ เด็กบางคนมักตื่นเต้นกับสิ่งเร้ารอบตัวมากเกินไป จนพ่อแม่หลายท่านเกิดความกังวล หรือในทางกลับกันเด็กบางคนไม่ชอบเข้าสังคม กลัวคนแปลกหน้า มีปัญหากับการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เมื่ออยู่ในสังคมใหม่ ๆ หรือสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

 

เด็กที่มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร ถือเป็นความผิดปกติทางพัฒนาการหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบและวิธีการแก้ไขมาแนะนำกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

อาการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานั้น อาจมีสาเหตุมาจากการพัฒนาระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย คือ “ระบบประสาทสัมผัสและการรับรู้ของร่างกาย” (Tactile system) ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างเหมาะสม เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเด็ก มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นรอบตัวมากมาย เด็กจะรับรู้และซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ และรวบรวมข้อมูลส่งไปยังสมองพร้อม ๆ กันในคราวเดียว เช่น ออกไปเล่นกลางแดด รับรู้ถึงความร้อน ในขณะเดียวกันก็ได้สัมผัสความหยาบแข็งของพื้นดิน

 

ซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการจากการเรียนรู้ทางกายสัมผัส หรือระบบสัมผัสบริเวณผิวหนัง (Tactile system) ให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมนั้น เช่น การฝึกให้เด็กหยิบจับสิ่งของ เพื่อสัมผัส รับรู้พื้นผิวของวัตถุที่แตกต่างกัน ความแข็งหรืออ่อนนุ่มของวัตถุ หรือแม้แต่การเรียนรู้จากสัมผัสของพ่อและแม่ เมื่อเข้าสู่วัยที่เด็กเริ่มเคลื่อนไหว ก็จะค่อย ๆ เริ่มพัฒนาระบบวางแผนการเคลื่อนไหว (Motor Planning) ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาการที่ดี

 

ซึ่งพัฒนาการในระยะนี้ ระบบสัมผัสทางผิวหนัง (Tactile System) จะส่งสัญญาณการรับรู้ต่าง ๆ ขณะที่ร่างกายของเด็กกำลังเคลื่อนไหว เช่น สัมผัสจากพื้นขณะคลาน สัมผัสจากลมที่พัดผ่านผิวหนัง สัมผัสจากการกระทบกันระหว่างผิวหนังและเสื้อผ้า สัมผัสเหล่านี้จะส่งสัญญาณไปยังสมอง โดยสมองจะทำให้เด็ก “รู้สึก” และ “เรียนรู้” จากการสัมผัสสภาพแวดล้อมรอบตัวขณะที่พวกเขาเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่ทักษะด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก

 

หากพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกไม่สามารถจัดการกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสผ่านผิวหนังของตนได้ อาจต้องมีการสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องการเรียนรู้อื่น ๆ ด้วยว่า ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะหากมีความผิดปกติด้านอื่นร่วมด้วย อาจสันนิษฐานได้ว่า ลูกมีอาการออทิซึม (Autism), แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger’s Syndrome), สมาธิสั้น (ADD & ADHD) หรืออาจเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) หรือพบได้บ่อยในเด็กที่ใช้เวลาไปกับการเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ ดูการ์ตูน หรือดูโทรทัศน์มากเกินไป เพราะเด็กเหล่านี้มักขาดโอกาสที่จะได้ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราจะห็นได้ว่าระบบประสาทสัมผัสและการรับรู้ของร่างกาย เป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม ให้ลูกได้เล่น และเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสและการรับรู้  เพื่อปรับการทำงานของระบบสัมผัสที่ผิวหนัง ระบบการทรงตัว และระบบการรับรู้ของข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างสัมพันธ์กัน และเมื่อระบบต่าง ๆ ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน ย่อมส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ได้ในทุกสถานการณ์

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow