Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาตามแนวทางโรงเรียนวิถีพุทธ

Posted By Plook Teacher | 27 ธ.ค. 62
6,785 Views

  Favorite

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมวัฒนธรรมไทยมาอย่างช้านาน ในสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียนเกิดขึ้น วัดคือแหล่งการเรียนรู้ของคนในชุมชน และพระสงฆ์คือครูผู้สอนที่คอยอบรมและให้ความรู้ผ่านหลักธรรมต่าง ๆ กับชาวบ้าน ทำให้คนไทยในสมัยก่อนมีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนาอย่างมาก และมองว่าพุทธศาสนาคือแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม

 

แต่พอมาในยุคปัจจุบัน เมื่อโรงเรียนเข้ามารับหน้าที่จัดการศึกษาแทนวัด คนไทยก็เริ่มห่างจากพุทธศาสนามากขึ้น โรงเรียนหลายโรง แม้ว่าจะมีพื้นฐานมาจากการศึกษาที่วัดมาก่อน แต่พอเป็นโรงเรียนรูปแบบการศึกษาก็เปลี่ยนไป เน้นที่วิชาการมากขึ้น และให้ความสำคัญกับศีลธรรมจรรยาน้อยลง เรียนพุทธศาสนาเพียงแค่ให้รู้ ไม่ได้เรียนเพื่อให้เข้าใจหรือวางแนวทางชีวิต เด็กและเยาวชนเข้าวัดน้อยลง ถอยห่างจากพุทธศาสนามากขึ้น ทำให้กลายเป็นคนที่หยาบกระด้าง และไร้ศาสนา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย หลายภาคส่วนจึงพยายามผลักดันให้นำหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ มาใช้อย่างจริงจังในการจัดการเรียนการสอน จนนำมาสู่แนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธขึ้น ในเวลาต่อมา

 

โรงเรียนวิถีพุทธเป็นหนึ่งในในโครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเป็นโรงเรียนที่นำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ และได้นำหลักไตรสิกขา ซึ่งหมายถึง ข้อศึกษาที่ควรปฏิบัติ 3 ประการ อันได้แก่

     1. อธิสีลสิกขา คือ การศึกษาเรื่องของ ศีล คือการมีวินัยในการดำเนินชีวิตที่ดีงามต่อตัวเองและผู้อื่น
     2. อธิจิตตสิกขา คือ การศึกษาเรื่องของจิตและสมาธิ คือการมีสมาธิมุ่งมั่นตั้งใจและมุ่งพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพ
     3. อธิปัญญาสิกขา คือ การศึกษาเรื่องของปัญญา คือการมีความรู้ที่ถูกต้อง มีศักยภาพในการคิดและแก้ปัญหา

 

แนวทางในบูรณาการการจัดการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงามตามลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ คือ

     1. สัปปุริสสังเสวะ หมายถึงการอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ มีครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี
     2. สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี
     3. โยนิโสมนสิการ หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
     4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ถูกต้องเหมาะสม

 

กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนวิถีพุทธนั้นจะมีลักษณะคือ “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เป็น” ซึ่งจะเน้นการจัดสภาพแวดล้อมและการบูรณาการการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดและปฏิบัติอยู่เสมอ และใช้กิจกรรมทางพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับจิตใจของผู้เรียนด้วย เช่น การสวดมนต์ทำวัตร จัดกิจกรรมทางศาสนาในวันพระ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักธรรมในพุทธศาสนาได้อย่างเหมาะสมและสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

รูปแบบของโรงเรียนวิถีพุทธจะเน้นการสร้างบรรยากาศที่สงบ ร่มรื่น มีความสะอาดและเป็นระเบียบ ไม่มีสิ่งเสพติด และมีการสอดแทรกความเป็นศาสนาพุทธไว้ภายใน เช่น มีการตั้งพระประธานในโรงเรียน มีพระพุทธรูปประจำห้องเรียน มีห้องพระหรือลานธรรม มีการเดินจงกลมหรือปฏิบัติสมาธิเป็นประจำ มีการทำป้ายพุทธศาสนสุภาษิตติดตามที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้อ่าน รวมมีการทำกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ เป็นต้น

 

ในส่วนของครูผู้สอนในโรงเรียนวิถีพุทธนั้น จะต้องเป็นผู้ที่รักษาศีล 5 มีจิตใจดี ยิ้มง่าย ไหว้สวย มีความเอื้ออารีย์ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี และใช้วาจาที่สุภาพและเป็นกัลยาณมิตรกับผู้เรียน มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญในการนำหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตและสามารถส่งเสริม อธิบายหรืออบรมสั่งสอนให้กับผู้เรียนได้ นอกจากนี้ โรงเรียนวิถีพุทธจะต้องมีความเกื้อกูลใกล้ชิดชุมชนและวัด มีการประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

ปัจจุบันโครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานสู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ โดยเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาทั้งหมด 29 ตัวชี้วัดและแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้

 

1. ด้านกายภาพ มี 7 ประการ ประกอบด้วย

     - มีป้ายโรงเรียนวิถีพุทธ
     - มีพระพุทธรูปหน้าโรงเรียน
     - มีพระพุทธรูปประจำห้องเรียน
     - มีพระพุทธศาสนสุภาษิต วาทะธรรม พระราชดำรัสติดตามที่ต่าง ๆ
     - มีความสะอาด สงบ ร่มรื่น
     - มีห้องพระพุทธศาสนาหรือลานธรรม
     - ไม่มีสิ่งเสพติด เหล้า บุหรี่ 100 %

 2. ด้านการเรียนการสอน มี 5 ประการ ประกอบด้วย

     - บริหารจิต เจริญปัญญา ก่อนเข้าเรียน เช้า บ่าย ทั้งครู และ นักเรียน
     - บูรณาการวิถีพุทธ ทุกกลุ่มสาระ และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
     - ครู พานักเรียนทำโครงงานคุณธรรม กิจกรรมจิตอาสาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
     - ครู ผู้บริหาร และ นักเรียน ทุกคน ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดเดือนละ 1 ครั้ง มีวัดเป็นแหล่งเรียนรู้
     - ครู ผู้บริหาร และ นักเรียนทุกคน เข้าค่ายปฏิบัติธรรมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3. ด้านพฤติกรรม ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน มี 5 ประการ ประกอบด้วย

     - รักษาศีล 5
     - ยิ้มง่าย ไหว้สวย กราบงาม
     - ก่อนรับประทานอาหารจะมีการพิจารณาอาหารรับประทานอาหาร ไม่ดัง ไม่หก ไม่เหลือ
     - ประหยัด ออม ถนอมใช้ เงิน และ สิ่งของ
     - มีนิสัยใฝ่รู้ สู่สิ่งยาก

4. ด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ มี 8 ประการ ประกอบด้วย

     - ไม่มีอาหารขยะขายในโรงเรียน
     - ไม่ดุ ด่า นักเรียน
     - ชื่นชมคุณความดี หน้าเสาธงทุกวัน
     - โฮมรูมเพื่อสะท้อนความรู้สึก เช่นความรู้สึกที่ได้ทำความดี
     - ครู ผู้บริหาร และนักเรียน มีสมุดบันทึกความดี
     - ครู ผู้บริหาร และนักเรียน สอบได้ธรรมศึกษาตรีเป็นอย่างน้อย
     - บริหารจิต เจริญปัญญา ก่อนการประชุมทุกครั้ง
     - มีพระมาสอนอย่างสม่ำเสมอ

5. ด้านกิจกรรมประจำวันพระ มี 4 ประการ ประกอบด้วย

     - ใส่เสื้อขาวทุกคน
     - ทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์
     - รับประทานอาหารมังสวิรัติในมื้อกลางวัน
     - สวดมนต์แปล

 

ซึ่งโรงเรียนใดมีความพร้อมทั้ง 5 ด้านนี้สามารถที่จะยื่นขอรับการประเมินเพื่อรับรองการเป็นโรงเรียนวิถีพุทธได้ตามแนวทางที่โครงการกำหนด

 

โรงเรียนวิถีพุทธ นับเป็นหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นแนวการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนพัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแห่งการพัฒนาตัวเองที่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าตัดรายละเอียดปลีกย่อยออกไป และมองที่แก่นแท้ของโครงการ จะเห็นได้ว่า โรงเรียนวิถีพุทธนี้ ทำให้ผู้เรียนสามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้มีจิตใจดี มีศีลธรรม รู้จักวางเป้าหมายในชีวิต เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก รู้จักปรับตัวอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นประโยชน์อย่างมากกับการพัฒนาสังคมไทยสู่การเป็นประชากรโลกแห่งศตวรรษที่ 21

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow