Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับในการสอนให้นักเรียนรู้จักระมัดระวังความปลอดภัยส่วนบุคคล

Posted By Plook Teacher | 27 ธ.ค. 62
3,744 Views

  Favorite

ความปลอดภัยส่วนบุคคลนั้นมีความสำคัญและควรใส่ใจเป็นอย่างมากในท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงและเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอย่างมากมาย ผู้เขียนสะดุดใจเรื่องนี้เมื่อได้โอกาสชมโฆษณาตัวหนึ่งที่ฉายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโฆษณาที่นำเสนอเรื่องราวของช่วงเวลาเปิดภาคเรียน ซึ่งนักเรียนมาโรงเรียนพร้อมกับอุปกรณ์การเรียนใหม่ ก่อนที่โฆษณาจะดึงเอาไปสู่เรื่องราวของการก่อการร้ายในโรงเรียน ซึ่งได้นำเสนอวิธีการต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ เอาตัวรอดจากอุปกรณ์การเรียนที่เขาได้มา แม้ว่าโฆษณานี้เป็นการเสียดสีเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนซึ่งมักจะเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้เขียนมองว่าเราให้ความสำคัญกับการสอนเรื่องความระมัดระวังความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับนักเรียนมากน้อยแค่ไหน

 

หลายครั้งที่เรื่องของความปลอดภัย ไม่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องสำคัญในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะมีการเผยแพร่เรื่องราวความปลอดภัยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ และมีหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ตำรวจ หรือสำนักงานดับเพลิง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพัฒนาและสร้างสรรค์ให้เป็นหลักสูตรเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนเข้าใจและใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

เป็นความจริง ที่เรื่องของการดูแลความปลอดภัยส่วนบุคคล ควรปลูกฝังให้กับนักเรียนโดยเฉพาะในชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ซึ่งมีโอกาสพบเจอและได้รับอันตรายจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากกว่านักเรียนในช่วงวัยอื่น ๆ เนื่องจากความพร้อม ความไร้เดียงสา และวุฒิภาวะที่ยังไม่ดีนัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสอนให้พวกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

เคล็ดลับและแนวทางพื้นฐานที่ครูผู้สอน ควรสอนให้กับนักเรียน ในระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา เพื่อให้นักเรียนรู้จักระมัดระวังความปลอดภัยส่วนบุคคล

1. ห้ามไปไหนกับคนแปลกหน้า

        “อย่าไปไหนโดยที่ไม่บอกหรือไม่ขออนุญาต” คือประโยคแรก ๆ ที่ควรบอกให้เด็กจดจำและใส่ใจกับมันในทุก ๆ เวลา จงบอกนักเรียนในความดูแลของคุณในเรื่องนี้ทุกครั้ง เมื่อปล่อยให้พวกเขาทำกิจกรรมอิสระด้วยตัวเอง และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับประโยคนี้แค่ไหน เช่น ห้ามเขาไปไหนมาได้โดยไม่บอก เขาจะไม่ได้ทานขนม หรือเขาจะไม่ได้เล่นเกมอีก เป็นต้น

2. จดจำเบอร์สำคัญ

        เบอร์ฉุกเฉินและเบอร์ที่สามารถติดต่อกับผู้ปกครองหรือคุณครูได้ คือเบอร์สำคัญที่ต้องสอนให้นักเรียนจดจำให้ดี เผื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น หลงทาง หรือพลัดหลงกับบุคคลอื่น จะได้สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่ให้การช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วขึ้น

3. ตะโกน – หนี - หา

        จงสอนให้นักเรียนพึงระลึกไว้เสมอว่า เราเป็นเจ้าของร่างกายของเรา ดังนั้นใครก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาแตะต้องตัวเราได้โดยที่เราไม่ยินยอม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะบุคคลแปลกหน้า แม้กับญาติมิตรที่ใกล้ชิดกับนักเรียนเองก็ควรต้องให้ความระมัดระวัง ลองแสดงบทบาทสมมติให้นักเรียนได้เห็นว่าลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นการล้ำเส้นในร่างกายของเขา ซึ่งถ้าเกิดมีใครคุกคามในลักษณะนี้ให้ปฏิบัติ 3 ขั้นตอนในทันที คือ  ตะโกนว่า “ช่วยด้วย” , วิ่งหนี , หาคนน่าไว้ใจ (ส่วนใหญ่การวิ่งไปหาสุภาพสตรีจะเป็นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด)

4. ทำตามผู้นำ

        บางครั้งอุบัติภัยต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว แม้การสอนให้ปฏิบัติตามแนวทางเมื่อประสบภัยต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สำหรับประเทศไทยที่มักไม่ได้เกิดภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุบ่อยครั้งนัก ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่มีทักษะในการเอาตัวรอดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนในประเทศที่เผชิญอุบัติภัยต่าง ๆ อยู่เสมอ การคาดหวังให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยอย่างถูกต้องจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นบอกนักเรียนเสมอว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในโรงเรียน ให้รอคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ หรือคุณครู ซึ่งจะเป็นผู้นำและแจ้งให้นักเรียนปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเหมาะสม และต้องกำชับให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

5. ใส่ใจกับสิ่งรอบตัว

        บางครั้งการไม่ใส่ใจมองดูสิ่งรอบ ๆ ตัว ก็นำมาซึ่งอันตราย เคยมีหลายครั้งที่มีคนประสบอุบัติเหตุ เพราะสนใจแต่การเดินเล่นมือถือหรือฟังเพลง จนไม่เห็นอันตรายที่อยู่ตรงหน้า ดังนั้นปลูกฝังให้นักเรียนของคุณตื่นตัวกับสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา อย่าเคยชินกับเสียงที่ตะโกน หรือเสียงแปลก ๆ ที่อาจไม่เคยได้ยินจนไม่ได้มองดูหรือสนใจอะไร เพราะนั่นอาจเป็นหนทางเดียวในการกำหนดความเป็นหรือความตายก็เป็นไป

6. ปฏิบัติตามกฎจราจรและคำเตือนต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

        ประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดวินัยไม่เคารพกฎจราจร เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อค หรือไม่ข้ามถนนที่ทางม้าลายหรือสะพานลอย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องนี้ตั้งแต่อนุบาลและประถมศึกษา คือหนทางสำคัญที่จะสร้างค่านิยมของประชากรไทยยุคใหม่ในการเคารพกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้

7. หวงแหนข้อมูลส่วนตัว

        ข้อมูลส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงตัวตนของเรา ซึ่งมิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำธุรกรรมต่าง ๆ ในทางทุจริตซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตัวเราได้ ดังนั้นควรสอนนักเรียนใส่ใจในการปกปิดข้อมูลส่วนตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการสื่อสารด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค

8. จับตาดูการใช้งานออนไลน์

        โลกออนไลน์มีการเติบโตมาอย่างมากมายในยุคปัจจุบัน ซึ่งนอกจากด้านสาระความรู้ที่เราสามารถหาได้จากโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์นี้ในการทำเรื่องทุจริต ล่อลวง และก่อความเสียหายให้กับผู้ใช้คนอื่น ดังนั้นควรตั้งค่าอุปกรณ์สำหรับนักเรียนให้เข้าถึงโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและเหมาะสมกับวัย รวมถึงจับตาดูและพูดคุยกับนักเรียนถึงการใช้งานออนไลน์ร่วมกับคนแปลกหน้าอย่างเหมาะสม

 

ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่จะช่วยสร้างให้นักเรียน โดยเฉพาะกับวัยอนุบาลและประถมศึกษามีทักษะในการป้องกันตัวเองและรู้จักระมัดระวังความปลอดภัยส่วนบุคคลซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่สามารถส่งเสริมและปฏิบัติได้ง่ายไม่ซับซ้อน ซึ่งนอกจากจะทำให้นักเรียนในความดูแลปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างอุปนิสัยที่ดีอันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประชากรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ 21 ได้อีกด้วย

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow