Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา : สร้างโอกาสหรือฉวยโอกาส

Posted By Plook Teacher | 27 ธ.ค. 62
3,902 Views

  Favorite

                กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 โดยในช่วงแรกนั้นได้ดำเนินการในลักษณะของเงินทุนหมุนเวียน ก่อนที่ภายหลังจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541ขึ้น ซึ่งมีผลทำให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง จนปัจจุบันหลังจากที่มีการตราพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ทำให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา อยู่ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการ ซึ่งช่วยแก้ไขข้อจำกัดและทำให้กองทุนดำเนินกิจการได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

                

วัตถุประสงค์ของกองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษานั้น คือการให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา โดยแบ่งการกู้ยืมออกเป็น 4 ลักษณะคือ

        ลักษณะที่ 1 ให้กู้ยืมแก่นักเรียนและนักศึกษาในครอบครัวยากจนที่มีรายได้ครัวเรือนไม่ถึง 20000 บาทต่อปี
        ลักษณะที่ 2 ให้กู้ยืมแก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
        ลักษณะที่ 3 ให้กู้ยืมแก่นักเรียนและนักศึกษา ในสาขาวิชาขาดแคลน ที่มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
        ลักษณะที่ 4 ให้กู้ยืมแก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี เพื่อสร้าความเป็นเลิศ

ซึ่งการกู้ยืมนี้ ผู้กู้จะต้องเริ่มต้นชำระหนี้คืน เมื่อหยุดการกู้ยืม หรือเลิกการศึกษา โดยในช่วงแรกจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี คือสามารถชำระหนี้คืนได้โดยไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ย และจะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีสำหรับยอดเงินกู้ที่เหลือตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป จะเห็นได้ว่าเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษานั้น มีความยืดหย่อนสูงและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งเป็นเพราะเป้าหมายของกองทุนนี้ มีขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกันมากกว่าที่จะมุ่งหากำไรจากการให้กู้ยืมดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดีแม้กองทุนนี้จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักเรียนและนักศึกษาหลาย ๆ คน แต่กลับมีบางคนฉวยโอกาสจากช่องโหว่ต่าง ๆ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการชำระหนี้คืน เป็นผลทำให้เงินทุนหมุนเวียนที่ควรจะเพียงพอต่อการขอกู้ยืมในแต่ละครั้ง กลับขาดแคลน ทำให้นักเรียนและนักศึกษาบางส่วนไม่อาจกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้

 

จากการรายงานสถานะกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีจำนวนผู้กู้ที่อยู่ในระหว่างชำระหนี้จำนวนถึง 3,627,095 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ชำระหนี้ตามปกติ 1,406,356 ราย และกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้ 2,220,739 ราย ซึ่งผู้ผิดนัดชำระหนี้นี้มีทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1.1 ล้านราย โดยมีวงเงินรวมกัน 5.3 ล้านบาท และที่ยังไม่ดำเนินคดีอีก 1.2 ล้านราย วงเงินรวมกัน 2.1 หมื่นล้านบาท ทำให้มียอดค้างชำระหนี้กองทุนรวมกันกว่า 74,302 ล้านบาท ซึ่งถ้าชำระหนี้ครบในส่วนนี้ กองทุนจะสามารถปล่อยกู้ให้บุคคลอื่นในวงเงิน 1 แสนบาท ได้ถึง 743,020 รายเลยทีเดียว

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้คือ

1. ยากจน รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ไม่มีรายได้มากพอในการชำระหนี้ หรืออาจมีเหตุการณ์ฉุกเฉินทำให้ประสบปัญหาการเงิน โดยสำหรับผู้กู้ที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้มีสิทธิที่จะขอการผ่อนผันการชำระหนี้กับกองทุนได้ถ้าคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข
2. ขาดวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายเกินตัวและไม่วางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้กองทุนจะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 1 ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการสินเชื่อในลักษณะอื่น และยังให้เวลาปลอดหนี้คือยังไม่ต้องชำระหนี้ถึง 2 ปี ซึ่งถ้ามีวินัยการเงินที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมและตามกำหนดเวลา
3. ขาดจิตสำนึก ไม่เห็นความสำคัญ และไม่คิดถึงผู้อื่นที่จำเป็นต้องกู้ยืม พยายามหลบเลี่ยงไม่ชำระหนี้ ซึ่งบางคนมีเพียงพอที่จะชำระหนี้แต่หลบเลี่ยงไม่ยอมชำระ ซึ่งมีจำนวนมากทั้งกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแล้ว และยังไม่ถูกดำเนินคดี

 

                ปัญหาการค้างชำระหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้ ทำให้ทางกองทุนจึงต้องเข้มงวดกับการให้กู้ยืม ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่จำเป็นต้องกู้ยืมในรุ่นต่อ ๆ ไป ที่อาจจะได้สิทธิในการกู้ยืมที่ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีในพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้เพิ่มประสิทธิภาพกองทุนในการติดตามหนี้สินมากขึ้น โดยสามารถหักเงินเดือนผู้กู้ในการชำระหนี้ และให้สิทธิกองทุนในการขอข้อมูลส่วนบุคคลได้ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเครือข่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพื่อติดตามให้ผู้กู้มาชำระหนี้ได้ ซึ่งจะช่วยให้การผิดนัดชำระลดน้อยลงได้ส่วนหนึ่ง

 

                นอกจากนี้ แม้ผู้กู้อยู่ในช่วงถูกดำเนินคดีหรือถูกตัดสินคดีแล้ว ก็ยังสามารถปรึกษาหารือกับทางกองทุนเพื่อไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมเพื่อให้ตนเองสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องโดยยึดทรัพย์ได้อีกด้วย ซึ่งนับได้ว่ากองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้กู้มากเลยทีเดียว

 

                กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษานับได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกคน ซึ่งช่วยให้แต่ละคนมีการศึกษาและสามารถเข้าถึงการศึกษาได้สูงสุดตามความต้องการและศักยภาพของตัวเอง แต่การให้โอกาสนี้ ถ้าถูกฉวยโอกาส โดยการได้เงินทุนไปแล้วแต่ไม่ยอมชำระหนี้ ก็ทำให้กองทุนที่มีประโยชน์นี้เกิดปัญหาจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ซึ่งถ้าถึงวันที่กองทุนนี้ต้องถูกยกเลิกเพื่อขาดทุนจริง ๆ กรรมก็คงตกถึงลูกหลานของเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow