Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ว่าด้วยเรื่องหนี้สินครู

Posted By Plook Teacher | 26 ธ.ค. 62
4,079 Views

  Favorite

กลายเป็นหนึ่งในข้าราชการที่ได้ขึ้นชื่อว่าก่อหนี้มากที่สุดไปเสียแล้ว สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หลังจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีการเปิดเผยเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมาว่ามีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหนึ้ 1.3 ล้านคน และก่อหนี้รวมกันถึงกว่า 1.1 ล้านล้านบาท จาก 4 แหล่งเงินทุนหลักที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

 

ปัจจุบันข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากู้เงินนอกเหนือจากสถาบันการเงินตามปกติอยู่ 4 แหล่งหลัก ๆ คือ

1. เงินทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มียอดหนี้ 1.1 พันล้านบาท ผู้กู้ 6,300 คน

2. กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกคุรุสภาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยอดหนี้ 4 แสนล้านบาท ผู้กู้ 1 ล้านคน

3. สหกรณ์ออมทรัพย์ ยอดหนี้ 7 แสนล้านบาท ผู้กู้ 4.6 แสนคน

4. สินเชื่อเพื่อพัฒนาชีวิตครู ยอดหนี้ 1.1 แสนล้านบาท ผู้กู้ 93,000 คน

ซึ่งทั้ง 4 แหล่งนี้ มีรวมหนี้สินรวมกันทั้งหมด กว่า 1 ล้านล้านบาท และมีข้าราชการครูเป็นหนี้ 1.3 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมากและเป็นภาระอย่างใหญ่หลวงสำหรับกระทรวงศึกษาธิการ

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการที่ก่อหนี้สินในระดับต้น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้าราชการครู รวมไปถึงข้าราชการสายอื่น ๆ นั้น เพราะเป็นงานที่มั่นคง มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีเงินเดือนชัดเจน และ อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต้นสังกัด จึงทำให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยกู้ได้ง่าย และในขณะเดียวกันสวัสดิการเกี่ยวกับการเงินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังเปิดโอกาสให้กู้ยืม ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์  กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ โครงการ MOU ที่ทำร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งช่องโหว่ที่สำคัญของปัญหาหนี้สินครูนี้คือ การที่หน่วยงานที่อนุมัติสินเชื่อเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าร่วมเข้ากับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือที่รู้จักในนาม “เครดิตบูโร” ได้ ทำให้ถึงข้าราชการจะมีหนี้กับสถาบันการเงินเอกชนอื่น ๆ ก็ไม่มีผลกับการกู้ยืมเงินดังกล่าว

 

นอกจากนี้ระบบการกู้ยืมเงินในโครงการสวัสดิการต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์นั้น จำเป็นจะต้องมีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ 2-3 คนสำหรับการกู้ยืม เพื่อให้สามารถกู้ยืมได้ตามอัตราส่วนที่กำหนด ซึ่งมีหลายกรณีพบว่า ผู้กู้ผิดนัดชำระ และภาระหนี้ตกมาสู่ผู้ค้ำประกัน ทำให้ผู้ค้ำประกันต้องแบกรับภาระหนี้สินแทน ซึ่งถ้าผู้ค้ำประกันไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จำเป็นต้องกู้เพื่อมาชำระนี้แม้ว่าตัวเองจะไม่เป็นผู้ก่อ ทำให้เกิดการสร้างหนี้เพิ่มเติมไปอีก

 

ด้วยความที่ข้าราชการครู เป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งถ้ามองในระดับชุมชน ครูมักจะเป็นบุคคลหนึ่งที่คนในชุมชนเคารพนับถือ จึงมักถูกเชิญไปร่วมงานต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง และมักถูกขอให้รับรองฐานะต่าง ๆ ของคนในชุมชม เพื่อการกู้ยืมเงินและสมัครงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภาษีสังคมที่ข้าราชการครูบางส่วนจะต้องจ่ายโดยยากจะหลีกเลี่ยง

 

เมื่อปีที่แล้ว มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาหนี้สินวิกฤตจากทั่วประเทศ จำนวน 162 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า ถูกหักเงินเดือนและเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ในวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำวินิจฉัยว่า การหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ผู้กู้จะต้องมีเงินเหลือในบัญชีต่ำกว่า ร้อยละ 30 ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกศค.) ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งจากคำวินิจฉัย ทำให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกศค.) จะต้องแก้ไขระบบการชำระนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 180 วัน จากกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ไม่เฉพาะที่ตัวข้าราชการครูเองเท่านั้นที่เป็นสาเหตุของปัญหาหนี้สิน แต่ระบบราชการกลับเอื้อประโยชน์ให้ข้าราขการครูให้ก่อหนี้ด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินจากแหล่งการเงินนอกระบบก็เป็นอีกปัญหาที่ภาครัฐยากจะหาทางช่วยเหลือและแก้ไข เพราะเป็นผลต่อความจำเป็นและความไร้วินัยส่วนบุคคล และไม่อาจตรวจสอบได้ถึงจำนวนหนี้สินโดยรวมที่แน่ชัด ทำให้ปัญหาหนี้สินครู ส่งผลต่อการทำงานของครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้ครูต้องเผชิญความเครียดจากปัญหาหนิ้สินทำให้ไม่สามารถปฏิบัติการสอนได้อย่างเต็มที่ มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และในขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของครูที่เผชิญกับปัญหาหนี้สิน ซึ่งเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ ก็ส่งผลให้สังคมมองข้าราชการครูในแง่ลบมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความศรัทธาความเชื่อมั่นในอาชีพครู

 

การแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากต่อการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในยุคของรัฐมนตรีการศึกษาคนใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องกวดขันการให้สินเชื่อและในขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้สินอย่างเหมาะสม โดยให้อยู่ในความจริงที่ว่า เป็นหนี้ต้องมีวินัยชำระหนี้ ไม่ใช่ไม่ต้องชำระหนี้เพราะมีการช่วยเหลือ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่ามาตรการทางภาครัฐ จะช่วยให้ปัญหานี้ลดน้อยลง หรือกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้สิน สิ่งที่เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด ก็คือตัวของเราเอง ถ้าเรามีวินัย รู้จักประมาณตน ไม่ทำอะไรเกินตัว ปัญหาหนี้สินนี้ก็จะไม่เกิด แต่ถ้าเราหลงไปกับความอยากได้อยากมี ใช้จ่ายเกินตัวถึงขั้นต้องกู้หนี้ยืมสินจนไม่สามารถจัดการได้ ปัญหาหนี้สินก็จะกัดกินและรุมเร้าจนทำลายชีวิตของเราให้ตายทั้งเป็นเลยทีเดียว

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow