Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เปิดโลกแสตมป์ ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน

Posted By ไกด์เตยหอม | 02 ธ.ค. 62
16,185 Views

  Favorite

แม้ปัจจุบันเราจะมีอีเมล มีแอพลิเคชั่นแชทต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการส่งจดหมาย พัสดุ หรือไปรษณียบัตรยังคงความคลาสสิก คงคุณค่าทางจิตใจ ศิลปะ และประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อีกหนึ่งที่เที่ยวสบาย ๆ ไม่เหมือนใคร ใจกลางกรุงเทพฯ ติดรถไฟฟ้า BTS ใครอยากเป็นนักสะสมแสตมป์ห้ามพลาดชม พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ภาพบนนี้ ถ่ายจากชั้นชานชาลารถไฟฟ้า BTS สะพานควาย พอก้าวเท้าออกมาจากรถไฟฟ้าก็เห็นภาพนี้เลยค่ะ ใกล้มาก ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินลงมาตาม ทางออกที่ 1 ที่ทำการไปรษณีย์ สามเสน แล้วเข้าประตูอ้อมไปยังตึกหลังที่มีตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่ตั้งเด่นตรงทางเข้าได้เลยค่ะ พิพิธภัณฑ์เปิดวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 8.30 – 16.30 น. ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 17.00 น. ที่ชั้นล่างมีตลาดนัดคนรักแสตมป์ด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ขึ้นบันไดหรือลิฟต์มาที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้าช่วงนี้ (3 พ.ย. 62) มีนิทรรศการ “ผจญภัยอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวน” ด้วยค่ะ โดยมีการนำแสตมป์ที่เกี่ยวกับสัตว์สงวนเหล่านี้มาร่วมจัดแสดงพร้อมข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับอนุรักษ์สัตว์หายากต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยค่ะ
 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ ล้วนมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากเราไม่ช่วยกันดูแลนะคะ ตรงพื้นที่เห็นเป็นลูกเต๋าขนาดใหญ่นั้นมีเกมให้เด็ก ๆ ต่อภาพและข้อมูลสัตว์หายากเหล่านี้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตู้ไปรษณีย์สีแดงในภาพล่างนี้คือ ตู้ไปรษณีย์รุ่นแรก สไตล์วิกตอเรียน เก่าแก่ที่สุดในไทย ซึ่งได้รับเป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนี ในโอกาศเปิดบริการไปรษณีย์ครั้งแรกในสยาม พ.ศ. 2426 (136 ปีมาแล้ว)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เข้ามาในห้องจัดแสดงก็จะมีนิทรรศการต่าง ๆ มากมาย เริ่มจากด้านหน้าสุดเลยที่เป็นเรื่องราวของแสตมป์ที่เกี่ยวกับพระราชพิธีต่าง ๆ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของล้นเกล้าฯ ร.10 ในปีนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วถ้าเดินไปทางขวาจะเจอกับแสตมป์ชุดแรกของโลก เพนนี แบล็ค เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ที่ผลิตขึ้นเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2383

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนนิทรรศการเรื่องราวการไปรษณีย์ไทยจะเริ่มจากผนังทางซ้ายก่อนค่ะ แล้ววนขวาไป ซึ่งเรามีไปรษณีย์มานานนับร้อยกว่าปีแล้วนะคะ ตั้งแต่สมัย ร.5 เลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และเราก็มีแสตมป์ชุดแรกใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งเปิดกิจการไปรษณีย์ เมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลังจากแสตมป์ชุดแรกของโลกเพียง 53 ปีเท่านั้น โดยเรียกว่า “โสฬศ” (1/128 บาท) เป็นภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของล้นเกล้าฯ ร.5

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กันมีตู้จัดแสดงแสตมป์ตั้งแต่ชุดแรกของไทย ซึ่งเวลาจะดึงออกมาดูให้ดันแผงที่เลือกเข้าไปข้างในเพื่อปลดล็อกก่อน แล้วมันจะเด้งออกมาให้เราดึงมาดูได้ค่ะ หนึ่งบานมี 4 ชุด อย่างในภาพล่างค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แสตมป์ชุดแรกของไทยคือแสตมป์โสฬศ สั่งพิมพ์จากประเทศอังกฤษ มีทั้ง 1 โสฬศ = ½ อัฐ, 1 อัฐ = ½ เสี้ยว, 1 เสี้ยว = ½ ซีก, 1 ซีก = ½ เฟื้อง, 1 เฟื้อง = ½ สลึง และ 1 สลึง =  ¼ บาท

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีแสตมป์ที่ระลึกวันสถาปนามกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งที่ล้นเกล้าฯ ร.10 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นองค์รัชทายาทใน พ.ศ. 2515 และแสตมป์ที่ระลึก 125 ปีไปรษณีย์ไทย ภาพวาดฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนในภาพล่างนี้เป็นภาพขยายของแสตมป์ชุดพระบรมรูปทรงม้า ชนิดราคา 40 บาท ในโอกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเศกที่ล้นเกล้าฯ ร.5 ทรงครองราชย์ครบ 40 ปี ซึ่งยาวนานกว่าบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าของไทยทุกพระองค์ก่อนหน้าพระองค์ท่าน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ภายในห้องจัดแสดงยังมีรางวัลต่าง ๆ ที่นักสะสมแสตมป์ชาวไทยได้รับ เช่น ในภาพล่างนี้เป็น FIP GOLD + SPECIAL PRIZE PHILANIPPON ’91 จากประเทศญี่ปุ่นของ ดร. ประกอบ จิรกิติ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนภาพล่างนี้เป็นรางวัลจากฮ่องกง อินเดีย และญี่ปุ่นของคุณเยาวณี นิรันดร

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในมุมต่าง ๆ ยังมีหุ่นสวมชุดบุรุษไปรษณีย์แบบต่าง ๆ ในอดีตให้ได้ชมกัน และบนผนังในภาพล่างนี้คือแสตมป์ชุดพระพักตร์เพี้ยนจึงมีการยกเลิกการจำหน่าย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาจะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับกำเนิดการไปรษณีย์ของไทย โดยในภาพล่างนี้คือ หนังสือ COURT ปฐมบทแห่งการจัดตั้งไปรษณีย์ในสยาม โดยเป็นหนังสือที่ใช้คนรับส่งจดหมายระหว่างสมาชิกด้วยกัน โดยมี “ตั๋วแสตมป์” เป็นค่าส่ง 1 อัฐ (ในเขตกำแพงเมือง) และ 2 อัฐ (นอกเขตกำแพงเมือง) เป็นพื้นฐานของระบบไปรษณีย์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สมัย ร.5 ก่อนที่เราจะมีรหัสไปรษณีย์สำหรับเครื่องคัดแยกจดหมาย เจ้าพนักงานส่งจดหมายก็จะใช้สารบาญชีที่มีชื่อข้อมูลผู้คนในย่านต่าง ๆ แทน โดยจะระบุเป็นถนน ชื่อ และเพราะยังไม่มีนามสกุลก็ใช้ว่าบุตรใคร ญาติใคร สังกัดใครแทน ลักษณะบ้าน บ้านตึก เรือนฝาแตะ หรือเรือฝาจาก อาชีพทำอะไร เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หลังจากสยามประเทศเปิดดำเนินกิจการไปรษณีย์เพียง 2 ปี พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ชุมสาย) ผู้นำสยามเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ และต่อมาทรงได้รับตำแหน่งเป็น “ไดเร็กเตอร์เยนเนอราลจางวางกรมไปรษณีย์” ในภาพล่างนี้เป็นสัญลักษณ์ของสหภาพสากลไปรษณีย์ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กันมีตู้เก็บต้นแบบตราไปรษณียากร หรือภาพร่างก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นแสตมป์นั่นเองค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สุดห้องมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในสมัยก่อน เช่น ริมซ้ายสุดเป็นเครื่องปรุฟันแสตมป์ เครื่องชั่งพัสดุ และตู้ไปรษณีย์แบบแขวนค่ะ ในยุคแรก ๆ จะทำจากโลหะ สั่งจากต่างประเทศ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างนี้เป็นภาพต้นแบบแสตมป์ที่ระลึกงานสมโภชพระนคร 150 ปี ซึ่งต่างกับแสตมป์ชุดอื่น ๆ ตรงที่ไม่มีชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีแสตมป์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานกีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ เช่น แสตมป์เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 (พ.ศ. 2509) ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้ หลังตู้จัดแสดงรางวัลที่นักสะสมแสตมป์ชาวไทยได้รับคือชุดแสตมป์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กันมีจุดถ่ายภาพเก๋ ๆ ให้เราเข้าไปยืนเป็นแบบในแสตมป์ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนถัดมามีการจัดแสดงภาพฉีกปะจากเศษแสตมป์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และก็แสตมป์ที่ผลิตด้วยวัสดุพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ประดับมุก ประดับคริสตัล แสตมป์ผ้าไหม แสตมป์ผ้ากำมะหยี่ หรือแม้แต่แสตมป์ที่พิมพ์ลงบนแผ่นทองคำแท้ 22 กะรัต ที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ของล้นเกล้าฯ ร.9 อย่างในภาพล่างนี้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่ผนังใกล้ ๆ กันเป็นชุดแสตมป์ที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (ชุด 2)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็จะวนกลับมาจนครบถึงด้านหน้าซึ่งทางขวามือของภาพล่างนี้เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ รวบรวมสื่อเสริมความรู้เกี่ยวกับแสตมป์มากมาย และเป็นที่จัดนิทรรศการ Stamp พาฟิน Philippines พา Fun ซึ่งเป็นนิทรรศการหมุนเวียนในช่วงนี้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เริ่มจากแสตมป์ต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียน ปีนี้ (2562) ไทยเป็นประธาน และจะเวียนกันทุกปีตามลำดับพยัญชนะภาษาอังกฤษของชื่อรัฐสมาชิก ซึ่งปีหน้าจะเป็นเวียดนามค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แสตมป์หน้ากากต่าง ๆ ในวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น หัวโขน และผีตาโขน หน้ากากที่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมไทยมาช้านานจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หน้ากากไม้ไผ่แม่น้ำแดงที่ใช้ในการแสดงอุปรากรของเวียดนาม ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นแสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย – ฟิลิปปินส์ อย่างในภาพล่างนี้คือแสตมป์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสการเสด็จเยือนฟิลิปปินส์ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ (ล้นเกล้าฯ ร.9) และสมเด็จฯ พระพันปีหลวง เมื่อ 9 – 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2506

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แสตมป์สวย ๆ อันแสดงถึงเอกลักษณ์สำคัญต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ เช่นในภาพล่างนี้คือ นกอินทรีฟิลิปปินส์ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่นกประจำชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นนกอินทรีสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลกด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวงดงามต่าง ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติแม่น้ำใต้ดินปวยร์โตปรินเซซา มรดกโลกทางธรรมชาติอันเลื่องชื่อ และภูเขาช็อกโกแลต ซึ่งเป็นภูเขาที่มีรูปร่างใกล้เคียงกันเรียงรายนับพันลูกในฤดูร้อนจะมีสีน้ำตาลคล้ายสีของช็อคโกแลต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาด้านหน้ามีตู้โชว์จัดแสดงตู้ไปรษณีย์จำลองของประเทศต่าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตรงใกล้ ๆ ประตูมีร้านจำหน่ายแสตมป์เพื่อการสะสมและของที่ระลึกสำหรับผู้สนใจซื้อหาติดไม้ติดมือกลับไปได้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แห่งนี้ กินพื้นที่เพียงชั้นเดียว แต่มีรายละเอียดมากมายให้ได้ไปเยี่ยมชม ท่ามกลางยุคปัจจุบันที่กิจการไปรษณีย์พัฒนาไปจนเมื่อไปส่งของเรามักใช้สติกเกอร์พิมพ์ราคาลงไปเลยเพื่อความรวดเร็ว แต่แสตมป์ก็ยังคงคุณค่าอันคลาสสิกในฐานะสัญลักษณ์ถ่ายทอดเรื่องราวของแต่ละชาติผู้ผลิต หากมีเวลาแวะมาเที่ยวกันได้นะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow