Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้หรือไม่ว่า "สัตว์ก็เจ็บเป็น" เหมือนกัน

Posted By Plook Etc | 22 พ.ย. 62
13,732 Views

  Favorite

เราอาจจะเคยได้ยินประโยคว่า "สัตว์ก็มีหัวใจ" "สัตว์เองก็เจ็บเป็น" บางครั้งก็อาจจะแปลแล้วขำว่า แน่ซิสัตว์เองก็ต้องมีหัวใจ หัวใจที่เป็นอวัยวะคอยสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายของมัน ไม่อย่างนั้นแล้วมันจะใช้ชีวิตอย่างไร แต่ความหมายจริง ๆ ที่ต้องการจะสื่อกันก็คือ สัตว์เองก็มีความคิด ความรู้สึก และรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดได้เช่นเดียวกันกับคน

ข้อเท็จจริงก็คือไม่มีใครถามสัตว์ว่ามันเจ็บหรือไม่ และแน่นอนว่าไม่มีใครเคยไปสวมบทบาทเป็นสัตว์ แล้วกลับมาบอกว่าตอนโดนกัดโดยสัตว์ตัวอื่น หรือตอนโดนคนตีมันก็รู้สึกถึงความเจ็บปวด
 

ภาพ : Pixabay


แต่ละสายพันธุ์ของสัตว์มีการรับรู้และการแสดงออกซึงความเจ็บปวดที่แตกต่างกันไป ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ยากที่จะอธิบาย แม้จะเป็นในมนุษย์ ซึ่งสามารถสื่อสารกันได้อย่างดีก็ตาม สำหรับสัตว์อื่น ๆ มันจึงยิ่งยากที่จะรับรู้และสังเกตุถึงความเจ็บปวดเหล่านั้น สำหรับสุนัขหรือแมวที่เราเลี้ยงๆกัน พวกมันอาจจะส่งเสียงร้องเมื่อเจ็บปวดหากมันมีบาดแผล หรือถูกเราตีแล้วร้อง "เอ๋ง!!" "แง้ว!!" และอาจจะส่งเสียงขู่กลับ

แต่สัตว์จำพวกที่เป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ถูกล่าในห่วงโซ่อาหาร สัตว์ที่อยู่ในป่าในธรรมชาติปกติ พวกมันคงไม่ร้องส่งเสียงดังเมื่อมันบาดเจ็บ เพราะมันคงจะทำให้ผู้ล่ารู้ตัวและสังเกตได้ว่า เหยื่อของมันอยู่ตรงไหน หากเปรียบเทียบกับมนุษย์เราแล้วความเจ็บปวดมีทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ บาดแผลบางอย่างแม้แผลทางกายจะหายเป็นปกติแล้วแต่ความบาดเจ็บทางจิตใจ ความรู้สึกแย่ หรือหดหู่ เจ็บปวดในใจ อาจจะยังคงอยู่ และสำหรับความเจ็บปวดทางด้านร่างกายในคนเราเองก็ยังมีหลายมิติ เจ็บจากการโดนเข็มทิ่มแทง ไม่เหมือนกับความรู้สึกที่เกิดเมื่อโดนมีดบาด การโดนเหยียบเท้าก็เจ็บไม่เหมือนกับอาการปวดฟัน สำหรับสัตว์ต่างๆมันจึงยิ่งยากที่จะอธิบายถึงความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย และทางด้านจิตใจ
 

ภาพ : Pixabay

 

สัตว์บางชนิดที่มีโครงสร้างคล้ายมนุษย์อย่างสัตว์เลือดอุ่นต่าง ๆ ซึ่งมีระบบหมุนเวียนเลือดผ่านหัวใจ มีเลือดสีแดงทำให้เราเข้าใจความรู้สึกเจ็บทางด้านร่างกายและจิตใจง่าย แต่สำหรับสัตว์บางชนิดเช่นแมลง ปลา สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์มีเปลือกแข็งหุ้มอย่างปูและกุ้ง กลับถูกคิดว่าพวกมันไม่รับรู้ถึงความเจ็บ

 

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความสามารถของสัตว์ในการปรับตัวและรับมือกับความเจ็บปวดได้ดี อย่างเช่น จิ้งจกที่สามารถสลัดหางทิ้งเมื่อถูกโจมตีและจวนตัว จึงสลัดทิ้งเพื่อล่อให้ผู้ล่าสนใจหางที่หลุดออกมาแทน พวกมันจะเจ็บที่หางหลุดหรือไม่ ในเมื่อมันเลือกที่จะปลดหางนั้นออกมาเอง หรือแมงกะพรุนซึ่งมีความซับซ้อนทางโครงสร้างต่ำกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ มันจะเจ็บปวดไหมเมื่อหนวดโดนตัด หรือแม้แต่ดาวทะเลที่สามารถงอกส่วนต่าง ๆ ออกมาได้ใหม่เมื่อโดนทำร้ายหรือแม้กระทั่งความสามารถในการแยกเป็นสองตัวเมื่อมันถูกตัดแบ่งครึ่ง ปลิงทะเลพร้อมที่จะพ่นไส้ของมันออกมาเพื่อเป็นเหยื่อล่อนักล่า และทำให้มันสามารถหนีรอดจากการถูกฆ่ามาได้ ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับคนเราซึ่งคงไม่เลือกที่จะเจ็บตัว สัตว์ที่เอ่ยมาข้างต้นก็อาจจะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดอย่างนั้นหรือ
 

ภาพ : Pixabay
ภาพ : Pixabay

 

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่สามารถใช้ยาแก้ปวด หรือยาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บชนิดเดียวกับที่คนใช้ได้ นั่นเป็นเพราะความคล้ายคลึงกันระหว่างสายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่สำหรับสัตว์ชนิดที่แตกต่างออกไปอย่างสัตว์เลือดเย็นจำพวกเลื้อยคลานหรือครึ่งบกครึ่งน้ำ นั่นทำให้การทำความเข้าใจและการรักษายากกว่า กระบวนการปกติเกี่ยวกับการบาดเจ็บทางกายภาพเป็นสิ่งที่สัตว์ส่วนใหญ่มีและแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด

เช่นอาการเจ็บ และการตอบสนองต่อการถูกคุกคามในทันทีซึ่งเรียกว่า Nociception แต่อาการบาดเจ็บที่แสดงออกทางความรู้สึกต่อเนื่องจากการบาดเจ็บทางกายภาพซึ่งสามารถแสดงออกได้ทาง ความเครียด ความกลัว ตระหนก เหล่านี้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอาการบาดเจ็บและเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทางจิต เรารับรู้ความรู้สึกเหล่านี้จากสัตว์ได้ยาก คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าปูเครียดจากการสูญเสียก้ามจากการต่อสู้

มันทำให้คุณต้องคิดอีกครั้ง มีการศึกษาพบว่าสัตว์ในการทดลองอย่างหนูหรือไก่เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับการบาดเจ็บมาก่อน และแสดงออกเป็นการกระทำอย่างไก่การเลือกที่จะจิกกินสิ่งที่ดูเหมือนยาบรรเทาอาการเจ็บปวด หรือหนูทดลองหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เคยทำให้มันบาดเจ็บมาก่อน และนั่นแปลว่าพวกมันรู้จัก การระวังภัย ความหวาดกลัวต่อการบาดเจ็บที่อาจจะเกิด อย่างไรก็ตามมันก็ยังไม่มีผลการวิจัยหรือทดลองที่แน่ชัดว่าสัตว์ที่มีระบบประสาทที่ไม่ซับซ้อนเหมือนสัตว์เลือดอุ่นจะสามารถรับรู้การบาดเจ็บและระวังภัยได้
 

ภาพ : Pixabay
ภาพ : Pixabay

 

มันจึงเป็นข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมถึงการปรุงอาหารโดยใช้สัตว์บางจำพวกที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าง เช่น การนึ่งปูสด ๆ ต้มกุ้งสด ๆ หรือแม้แต่การทำหอยแครงลวก ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นทำให้สัตว์ได้รับการบาดเจ็บ และเราสามารถหลีกเลี่ยงมันได้หรือไม่

การกินหมึกยักษ์ที่ยังเป็นอยู่ เป็นอาหารที่ให้รสชาติเป็นเลิศ เป็นการกินเพื่อความพึงพอใจส่วนตัว หรือเป็นการกระทำการทารุณกันแน่ เพราะสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะในสถานะอะไรล้วนแต่มีความสำคัญกับเราดังนั้นการทำความเข้าใจถึงการใช้ชีวิตและการที่มันรับรู้ถึงสิ่งต่างๆรอบตัวมันรวมถึงการรับรู้ถึงความเจ็บปวดจึงเป็นสิ่งสำคัญเฉกเช่นที่เรารู้จักการทำงานของระบบต่าง ๆ ของคนเราเช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Etc
  • 4 Followers
  • Follow