Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการเลือก คาร์ซีท สำหรับลูก

Posted By Plook Parenting | 18 พ.ย. 62
9,958 Views

  Favorite

คาร์ซีท หรือเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก กลายเป็นสิ่งจำเป็นเวลาต้องพาลูกนั่งไปบนรถกับครอบครัวด้วย เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้

 

จากสถิติในสหรัฐอเมริกา พบว่าการใช้คาร์ซีทอย่างถูกวิธี ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบได้ 71% และในเด็ก 1-4 ขวบ 54% คาร์ซีทจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ลูก ๆ เมื่อต้องเดินทางบนท้องถนนได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทราบวิธีการเลือกคาร์ซีทที่เหมาะสมกับลูก เพื่อให้สามารถใช้งานคาร์ซีทได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ประเภทของคาร์ซีท

1. คาร์ซีทชนิดสําหรับทารก (Infant Car Seat)

มีทั้งหมด 2 แบบคือ แบบกระเช้าที่สามารถถอดออกมาถือเป็นเปลได้ (บางรุ่นสามารถนำไปวางไว้ในรถเข็นเด็กได้เลย) กับแบบตัวใหญ่ที่ยึดติดกับฐานโดยตรง ซึ่งทั้ง 2 แบบใช้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงเด็กอายุประมาณ 18 เดือน (ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อคาร์ซีทนั้น ๆ) คาร์ซีทสำหรับทารกจะเป็นคาร์ซีทที่หันหน้าเข้าเบาะ เพื่อลดแรงกระแทกจากการขับรถ เนื่องจากเด็กทารกยังมีกระดูกคอไม่แข็งแรง

2. คาร์ซีทชนิดหมุนได้ (Convertible Car Seat)

สามารถใช้งานได้ตั้งเด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 4 ขวบ (ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อ) เป็นคาร์ซีทที่ปรับหันหน้าหรือหันหลังหาเบาะก็ได้ตามความต้องการ คาร์ซีทชนิดนี้มีน้ำหนักมาก จึงไม่สามารถยกแบบตะกร้าได้ แต่มีอายุการใช้งานนาน และปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้มากกว่า

3. บู๊สเตอร์ ซีท (Booster Seat)

เป็นคาร์ซีทขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 1-12 ปี หรือเด็กที่ตัวโตเกินกว่าคาร์ซีททั่วไป แต่ยังเล็กเกินกว่าจะคาดเข็มขัดนิรภัยบนรถ มีหลากหลายดีไซน์และขนาดขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักตัวของเด็ก

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการเลือกซื้อ

นอกจากขนาดตัวและช่วงอายุแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ก่อนการเลือกซื้อคาร์ซีท ดังนี้

1. เข็มขัดนิรภัย

ควรเป็นเข็มขัดนิรภัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล และเป็นแบบล็อก 5 จุด (เป็นรูปตัว X) เพราะแบบล็อก 5 จุดจะช่วยล็อกบริเวณหัวไหล่ ช่วงอก ช่วงท้อง และสะโพกของเด็กได้ดีกว่าแบบ 3 จุด ทั้งยังช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ดีกว่า จึงปลอดภัยต่อร่างกายเด็กมากกว่า

2. มาตรฐานความปลอดภัยของคาร์ซีท

คาร์ซีทที่ดีและปลอดภัย ควรมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือการันตี อาทิ Federal Motor Vehicle Safety Standard 213 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพราะหน่วยงานเหล่านี้จะทดลองคาร์ซีทจากการใช้งานจริง (Crash Test) เพื่อรับรองว่าคาร์ซีทนั้น ๆ ปลอดภัยได้มาตรฐาน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก

3. ความสมบูรณ์ของคาร์ซีท

การใช้คาร์ซีทที่ใหม่และมีอุปกรณ์ครบสมบูรณ์ นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็น เพราะเสี่ยงต่อการชำรุดน้อยกว่าและมีความปลอดภัยสูงกว่า ก่อนจะตกลงซื้อคาร์ซีทใด ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจเช็คดูความเรียบร้อย รายละเอียดข้อต่อ และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกซื้อคาร์ซีทมือสองยิ่งต้องถี่ถ้วน คาร์ซีทต้องไม่เคยผ่านอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก่อน เพราะหากเคยเกิดขึ้น อาจส่งผลต่อกลไกภายในที่ทำให้ประสิทธิภาพของคาร์ซีทลดลงจนเป็นอันตรายต่อเด็กได้

 

ข้อควรระวังในการใช้คาร์ซีท

1. ควรปรับเข็มขัดให้พอดีกับตัวเด็ก โดยไม่ให้แน่นหรือหลวมจนเกินไป ในกรณีที่คาร์ซีทมีขนาดใหญ่ ขวดกะระยะเข็มขัดนิรภัยให้ถี่ถ้วน หรือนำผ้าขนหนูม้วนหรือหมอนหนุนวางหนุนไว้ข้าง ๆ ตัวเด็กเพื่อให้คาร์ซีทกระชับพอดีตัวก็ได้เช่นกัน

2. หากเด็กปลดล็อกเข็มขัดนิรภัยเอง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบจอดรถในที่ปลอดภัยแล้วตรวจสอบความปลอดภัยของคาร์ซีท และล็อกเข็มขัดให้เรียบร้อยอีกครั้งก่อนออกจากรถ แต่ถ้าเด็กยังพยายามปลดล็อกเข็มขัดเรื่อย ๆ ควรพิจารณาเปลี่ยนตัวล็อกใหม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กเอง

3. ไม่ควรวางสิ่งของอื่น ๆ ไม่บนตัวเด็ก เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของเข็มขัดนิรภัยของคาร์ซีทได้

4. ไม่ควรปล่อยให้เด็กนั่งคาร์ซีทเอง เพราะเข็มขัดอาจรัดคอ หรือไม่ได้กดตัวล็อกแน่นพอ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

5. ไม่ควรใช้คาร์ซีทเก่าหรือสภาพไม่ดี เพราะชิ้นส่วนสำคัญอาจหลุดหาย หรือชำรุด จนทำให้การป้องกันอันตรายต่ำลง หากคาร์ซีทอยู่ในสภาพไม่มั่นคงควรเปลี่ยนใหม่ทันที

 

นอกจากสิ่งที่กล่าวมา สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่าคาร์ซีทนั้น ๆ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ราคาสมเหตุสมผล และเหมาะสมกับลูกจริง ๆ ทั้งช่วงอายุ ขนาดตัว และลักษณะการใช้งาน เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพที่ควรจะเป็นของคาร์ซีทลดลงได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow