Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สอนนักเรียนให้รู้จักวางแผนทางการเงิน

Posted By Plook Teacher | 07 พ.ย. 62
7,580 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

การรู้จักบริหารและวางแผนทางการเงินนับเป็นอุปนิสัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำของคนเราในโลกยุคปัจจุบันที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดในทุก ๆ เรื่อง  เพราะเนื่องจากเราต้องกินต้องใช้ จึงจำเป็นต้องมีเงินมากพอที่จะซื้อหาแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการและโดยเหมาะสมแก่ฐานะทางการเงินและจำนวนเงินที่เรามี

 

        สำหรับคนทั่วไปการประกอบอาชีพหลัก รวมถึงอาชีพเสริมต่าง ๆ คือการสร้างรายได้ที่จำเป็น บางคนมีอาชีพการงานที่ดี ได้รายได้สูง ส่งผลให้สามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น ในขณะที่บางคนมีรายได้จากอาชีพหลักในระดับปานกลางถึงต่ำ อาจจำเป็นต้องหาอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ แต่อย่างไรก็ดี แม้เราจะมีรายได้ในระดับไหน ถ้าไม่รู้จักวางแผนและบริหารการเงินให้ดี ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เราประสบปัญหาทางการเงินจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตกลงไปสู่วังวนของปัญหาทางการเงิน เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนและบริหารการเงินอย่างเหมาะสมตามฐานะที่พึงปฏิบัติได้  ซึ่งทักษะทางการเงินที่สำคัญนั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ อันประกอบด้วย

ทักษะในการหารายได้

        เราสามารถหารายได้จากการทำงานประจำ งานพิเศษ รวมถึงการค้าขายต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเติบโตของสังคมออนไลน์ ทำให้มีลู่ทางในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองมากขึ้น ซึ่งการหารายได้ที่ดีคือการทำงานที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมายและไม่หลีกเลี่ยงภาษีที่ต้องจ่ายให้กับรัฐ

ทักษะในการลดค่าใช้จ่าย

        ตรงกันข้ามกับรายได้ คือรายจ่ายที่เราต้องใช้จ่ายโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน  ซึ่งในการดำเนินชีวิต เรามีเรื่องที่ต้องใช้จ่ายมากมาย เราจึงจำเป็นต้องรู้และทราบถึงสิ่งที่เราต้องจ่ายไป สิ่งใดไม่จำเป็นหรือเกินความจำเป็นก็ควรตัดทิ้งหรือลดปริมาณลงเพื่อเพิ่มจำนวนเงินในกระเป๋าให้มากขึ้น

ทักษะในการเก็บออม

        เมื่อเราเอารายได้หักลบกับรายจ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือทั้งหมดนั้นคือ เงินออม ซึ่งจะมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการหารายได้และลดรายจ่ายของแต่ละคน เงินออมมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นทุนสำรองในการใช้จ่ายสำหรับเรื่องที่จำเป็นฉุกเฉิน การไม่มีเงินออมเลย นับเป็นการดำเนินชีวิตที่ประมาท เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด จะส่งผลกระทบต่อสภาพทางการเงิน จนทำให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งเป็นวงจรการเงินที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

ทักษะในการลงทุน

        การเก็บเงินไว้ในบ้านเฉย ๆ ไม่ช่วยให้เงินงอกเงย ซ้ำร้ายยังเป็นการลดมูลค่าของเงินลงไปเรื่อย ๆ อีกด้วย เพราะด้วยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มูลค่าของตัวเงินน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากที่สมัยก่อนเราเคยทานก๋วยเตี๋ยวชามละยี่สิบบาท ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามละสามสิบถึงสี่สิบบาท ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรเพิ่มมูลค่าของเงิน โดยการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้เงินเติบโตและสร้างรายได้ เช่น ฝากประจำ ซื้อสลากออมทรัพย์ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อกองทุน หุ้น หรือลงทุนในสังหาและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะลงทุนกับอะไรต้องศึกษาให้ดีและต้องรับกับระดับความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนให้ได้

ทักษะในการจัดการหนี้สิน

        หนี้สินเป็นรายจ่ายที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจหรือหลงลืมไม่ชำระ นั่นจะนำมาสู่ปัญหาที่ใหญ่หลวงทางการเงินได้ ดังนั้นรู้จำนวนหนี้สินของตัวเอง อย่าสร้างหนี้เกินกว่าที่ตัวเองจะจัดการได้ และเรียนรู้ที่จะจัดการหนี้สินให้ตัวเราสามารถชำระได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

        ทักษะทั้ง 5 นี้ เป็นทักษะที่สำคัญมากของผู้คนในยุคปัจจุบันซึ่งจำเป็นต้องมีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้ดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีและปลอดภัย

 

        สำหรับนักเรียน ที่มาของรายได้ส่วนใหญ่นั้นเป็นลักษณะของการพึ่งพา คือมาจากการให้ของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง และส่วนใหญ่จะไม่มีภาระหนี้สินอื่น เป้าหมายในการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนในวัยนี้คือ เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัว เที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูง หรือ เพื่อหาประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นการวางแผนทางการเงินที่สำคัญสำหรับนักเรียนนั้น ควรเน้นที่การสร้างวินัยการออม ซึ่งถ้าในวัยนักเรียนนี้มีวินัยการออมที่ดีแล้ว ในอนาคตเขาจะมีแนวโน้มที่จะสามารถวางแผนทางการเงินที่ดีได้

        เหตุผลสำคัญที่นักเรียนต้องเรียนรู้เรื่องของการบริหารและวางแผนทางการเงินนั้น ประการที่หนึ่ง เพื่อสร้างให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต สามารถวางแผนและบริหารการเงินให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ ประการที่สอง คือสร้างให้นักเรียนอุปนิสัยทางการเงินที่ดี คือมีทักษะทางการเงิน 5 ข้อคือ หารายได้ ลดรายจ่าย เก็บออม  ลงทุน และจัดการหนี้สิน ซึ่งกิจกรรมหรือโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการบริหารและวางแผนทางการเงิน ได้แก่

ให้นักเรียนทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน

        การส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน จะช่วยให้พวกเขาทราบถึงรายได้และการใช้จ่ายของตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้เขาเห็นว่าส่วนใดสำคัญและส่วนใดสามารถปรับลดหรือเพิ่มเติม ซึ่งวิธีนี้เป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีและช่วยให้นักเรียนบริหารการเงินได้ดีขึ้น

ส่งเสริมให้นักเรียนทำงานพิเศษ

        การทำงานพิเศษ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้โดยการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยฝึกความรับผิดชอบและทักษะในการประกอบอาชีพให้กับนักเรียนได้อีกด้วย การส่งเสริมให้นักเรียนทำงานพิเศษจะทำให้พวกเขาทราบถึงความยากลำบากในการได้มาซึ่งรายได้ อันจะทำให้เขาเห็นค่าของเงินที่หามาได้เองมากขึ้น

จัดตั้งโครงการออมทรัพย์ของโรงเรียน

        โครงการออมทรัพย์ของโรงเรียน คือ การอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนในการฝากเงินเพื่อสิทธิประโยชน์ทางดอกเบี้ย โดยจะเป็นการดำเนินการร่วมกันกับธนาคารหรือโรงเรียนจะดำเนินการเองก็ได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของการออมเงินที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการนี้จะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีมาตรการดูแลป้องกันที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสุจริตในการดำเนินโครงการ

ส่งเสริมให้นักเรียนออกร้านในงานกิจกรรมต่าง ๆ

        การให้นักเรียนแต่ละชั้นมาช่วยกันเปิดร้านต่าง ๆ ภายในงานประเพณีของโรงเรียน จะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ในด้านการค้าขายและสนุกสนานกับการหารายได้ และทำให้พวกเขามีทักษะทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมนี้ คุณครูจะต้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อย และแนะนำนักเรียนในเรื่องการค้าขายที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอีกทางหนึ่ง

จัดตั้งสหกรณ์โรงเรียน

        สหกรณ์โรงเรียนนับเป็นแนวทางการลงทุนอย่างหนึ่งที่นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมได้ ตามแนวทางที่แต่ละโรงเรียนกำหนด ซึ่งสหกรณ์โรงเรียนนั้นจะเป็นการระดมทุนจากสมาชิก เพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลกำไร แล้วนำกำไรที่ได้ปันผลให้กับสมาชิก ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการดำเนินงานของสหกรณ์และ ยังนับว่าเป็นการเรียนรู้ในเรื่องของการลงทุนอย่างหนึ่งด้วย

สอนให้นักเรียนแบ่งเงินแบบ JARS System

        JARS System คือวิธีบริหารการเงินที่คิดค้นโดย T Harv Eker นักพูดและนักคิดทางด้านการเงินการลงทุน เจ้าของหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind เมื่อปี 2007 เขาใช้ขวดโหลเป็นสัญลักษณ์แทนการใช้จ่ายต่าง ๆ ตามสัดส่วน ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 โหล คือ

        - โหลเพื่อความจำเป็น แบ่ง 55% ของรายได้

        - โหลเพื่อการพักผ่อน แบ่ง 10% ของรายได้

        - โหลเพื่อการลงทุน แบ่ง 10% ของรายได้

        - โหลเพื่อแสวงหาความรู้ แบ่ง 10% ของรายได้

        - โหลเพื่อการให้ แบ่ง 5% ของรายได้

        - โหลเพื่อการออม แบ่ง 10% ของรายได้

        ซึ่งจากหลักการนี้ ถ้านักเรียนสามารถทำได้ จะทำให้นักเรียนมีทักษะในการบริหารเงินที่ดี และมีประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

 

        ต่อไปนี้เรื่องของการเงินจะไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อย่างเดียวอีกต่อไป ในยุคสมัยนี้ เด็กจำเป็นต้องมีทักษะและมีความเข้าใจในเรื่องของการวางแผนและบริหารการเงินที่ดี เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนับวันด้วยมูลค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสิ่งยั่วยุความต้องการของเราก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่มีทักษะและมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของวังวนการเป็นหนี้เกินตัว อันเป็นหนทางแห่งหายนะทางการเงินอย่างแท้จริง ดังนั้นการสอนให้เด็กและเยาวชนรู้จักวางแผนและบริหารการเงินให้เป็น จะเป็นวัคซีนชั้นดีที่จะช่วยให้เขาจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางกระแสโลกทุนนิยมที่นับวันจะต้องจ่ายแพงขึ้นเรื่อยๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow