Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมติ (Role playing)

Posted By Plook Teacher | 29 ต.ค. 62
77,710 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

         การแสดงบทบาทสมมติ (Role playing) เป็นเทคนิตการสอนรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาท  สภาพความเป็นจริงจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งเทคนิคการสอนรูปแบบนี้ นับว่าเป็นการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและได้ลงมือปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

         เทคนิคการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมตินั้น เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติตามเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการแสดงออก ทั้งจากการแสดงออกทางกายและการเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวละคร เรื่องราว สถานการณ์ ตามสภาพความเป็นจริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความกล้าแสดงออก มีทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองและรู้จักที่จะทำงานทีม โดยในการสอนรูปแบบนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

         - การแสดงบทบาทสมมติแบบละคร คือการแสดงบทบาทสมมุติโดยที่มีเรื่องราวกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ผู้เรียนทราบถึงเรื่องราวคร่าว ๆ และแสดงเรื่องราวตามบทบาทตัวละครที่ได้รับ

         - การแสดงบทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา คือการสมมุติสถานการณ์ แล้วให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมุติเพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองกับสถานการณ์นั้นตามความคิดเห็นของตัวเอง

ประโยชน์ของการสอนในลักษณะนี้ คือ การที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจ เรื่องราวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองที่มาจากบทบาทการแสดงได้  มีการร่วมมือกับเพื่อนซึ่งเป็นผลดีต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม และยังเป็นแนวการสอนที่สนุกสนานและส่งเสริมความกล้าแสดงออกให้กับผู้เรียน นอกจากยังแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้อีกด้วย

สำหรับขั้นตอนการสอนตามแบบการแสดงบทบาทสมมติ (Role playing) นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นเตรียมการ

         - คุณครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดเรื่องราวหรือสถานการณ์สมมติจากเนื้อหาความรู้ที่ได้เรียนรู้

         - มีการจับกลุ่มผู้เรียนตามความสะดวกและเหมาะสมกับเนื้อหาและบทบาทในการแสดง

         - คุณครูกำหนดเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ให้แต่ละกลุ่มและให้สมาชิกในกลุ่มเลือกบทบาทกันเอง หรือคุณครูอาจกำหนดบทบาทให้นักเรียนแต่ละคนเองเลยก็ได้

         - จัดเตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ในการแสดง

         - ผู้เรียนซักซ้อมการแสดงบทบาทสมมติ

ขั้นแสดง

         - ผู้เรียนแสดงบทบาทตามเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่กำหนด

         - คุณครูทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ และตัดบทการแสดงในจุดที่เหมาะสม

ขั้นสรุป

         - คุณครูกล่าวชมเชยผู้เรียนที่แสดง และสอบถามถึงความรู้สึกและความคิดเห็นในการแสดงบทบาทดังกล่าว

         - คุณครูและนักเรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถึงเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่ได้แสดง

         - คุณครูให้นักเรียนได้แสดงเพิ่มเติม

         - คุณครูสรุปถึงสิ่งที่ได้รับจากการแสดงอีกครั้ง

 

         จากขั้นตอนทั้งหมดนี้ จึงเห็นได้ว่า เทคนิคการสอนแบบการแสดงบทบาทสมมตินี้ นอกจากการที่ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว ครูผู้สอนจะต้องมีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดเรื่องราวสถานการณ์ เตรียมผู้เรียน  เป็นผู้สังเกตการณ์  คอยกำกับช่วยเหลือผู้เรียนในขณะปฏิบัติ นอกจากนี้ครูผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการสอนอย่างชัดเจน และมีทักษะในการสรุปและอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงสิ่งที่ต้องได้สื่อได้อย่างถูกต้อง

         การสอนแบบสวมบทบาทนี้มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับวิชาที่เน้นการเล่าเรื่อง เช่น สังคมศึกษา ซึ่งเราสามารถใช้แนวการสอนนี้มาจัดการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ โดยให้เด็กแสดงบทบาทในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น หรือในการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษา อาจให้ผู้เรียนออกมาแสดงบทบาทสนทนาระหว่างกันตามสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

         อย่างไรก็ดี แม้ว่าการสอนในลักษณะนี้จะมีความน่าสนใจ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ต้องพิจารณา เช่น การจัดสรรเวลา ซึ่งจะต้องมีเวลามากพอในการที่จะให้ผู้เรียนเตรียมตัวและแสดง รวมไปถึงมีเวลาในการสรุปและอภิปรายผล  ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ใช้การแสดง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับฉากและอุปกรณ์ที่จำเป็นได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาใช้แนวการจัดการเรียนการสอนนี้อย่างเหมาะสม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow