Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรเมื่อลูกมีอาการ ติดเกม

Posted By Plook Parenting | 21 ต.ค. 62
9,733 Views

  Favorite

เกมบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีคุณประโยชน์มากมาย แต่ถ้าปล่อยให้ลูกเล่นมากเกินไปจนเริ่มกลายเป็น "เด็กติดเกม" คุณพ่อคุณแม่ก็ควรรีบหาวิธีแก้ปัญหา และวิธีป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม

 

เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักชื่นชอบการเล่นเกมบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นเกมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปิดเทอมที่เขามีเวลาว่างค่อนข้างมาก แต่การปล่อยให้ลูกเล่นเกมมากเกินไปจนลูกเริ่มติดการเล่นเกม ก็อาจส่งผลเสียต่อตัวลูก ไม่ว่าจะเป็นด้านความคิด อารมณ์ การตัดสินใจ ทักษะทางสังคม และสุขภาพร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาวิธีป้องกัน และแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์จากการเล่นเกมนั้น ๆ สูงสุด

 

ภาพ : Shutterstock

 

การประเมินว่าลูกเป็นเด็กติดเกมหรือไม่

ก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องประเมินก่อนว่า การที่ลูกเล่นเกมนั้นเป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน หรือเล่นเพราะเริ่มติดเกมแล้ว เพื่อจะได้หาทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ข้อสังเกตหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 3 ข้อดังนี้

1. เล่นเพราะชื่นชอบ

เด็กจะรู้สึกว่าเกมที่เลือกน่าสนใจ น่าสนุก และอยากลองเล่นดู เด็ก ๆ ในกลุ่มนี้จะเล่นเกมด้วยความอารมณ์ดี มีความสุข เขาจะสนุกที่จะเรียนรู้และทำตามภารกิจต่าง ๆ ในเกมด้วยความกระตือรือร้น เมื่อหมดความสนใจเขาก็จะไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้โดยไม่อิดออด หรือเมื่อคุณพ่อคุณแม่เรียกหาก็หยุดเล่นเกมได้โดยไม่แสดงอาการฉุนเฉียวใด ๆ

2. เริ่มติด

เริ่มเล่นเกมจนลืมเวลา เด็กในกลุ่มนี้จะเริ่มหมกมุ่นกับการเล่นเกมใดเกมหนึ่งมากเป็นพิเศษ เมื่อคุณพ่อคุณแม่เรียกหรือต้องไปทำกิจกรรมอย่างอื่นจะเริ่มฉุนเฉียวและแสดงอาการไม่พอใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นปฏิเสธโลกภายนอก เมื่อจำเป็นต้องไปทำกิจกรรมอื่นก็สามารถไปทำได้ และหากทิ้งระยะเวลาไม่เล่นเกมไปนาน ๆ ก็สามารถเลิกเล่นเกมได้เอง

3. ติดเกมอย่างหนัก

เด็กกลุ่มนี้จะหมกมุ่นกับการเล่นเกมอย่างหนัก ต้องเล่นทุกวัน เกือบทั้งวัน หรือตลอดเวลาที่มีเวลาว่าง เด็กจะทุ่มเทให้กับการเล่นเกมโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมอื่น การกินข้าว หรือกระทั่งคนในครอบครัว มักแสดงอาการฉุนเฉียวไม่พอใจเมื่อถูกบอกให้เลิกเล่นเกม อาจลุกลามไปจนกระทั่งไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนตก และแสดงอาการก้าวร้าวได้

หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่มั่นใจ สามารถทำ Check-list ของกรมสุขภาพจิตเหล่านี้ เพื่อประเมินสถานการณ์การติดเกมเบื้องต้นของลูกได้เช่นกัน

 

ภาพ : กรมสุขภาพจิต

 

วิธีการแก้ไขและป้องกัน

1. ควบคุมเวลาในการเล่นเกม

ถ้าลูกชื่นชอบการเล่นเกม การบอกให้เขาหยุดเล่นเกมในทันทีทันใดอาจทำให้เขาไม่เข้าใจ ต่อต้าน และอาละวาดได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการกำหนดเวลาในการเล่นเกมก่อน โดยให้ลูกเล่นเกมได้ต่อเนื่อง 1-2 ชั่วโมง เฉพาะช่วงเย็น หรือกำหนดให้ลูกเล่นเกมได้เฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้เช่นกัน

2. กำหนดกติกาในการเล่นเกม

การตกลงกติการ่วมกันว่าลูกสามารถเล่นเกมได้เมื่อไหร่ เช่น หลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว ช่วยงานบ้านเสร็จแล้ว หรือเลือกให้ลูกเล่นเกมเป็นของรางวัลที่ทำตามเป้าหมายสำเร็จ จะช่วยให้ลูกมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย และรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เพราะเขาสามารถบรรลุเป้าหมายที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งไว้ได้สำเร็จ

3. คัดเลือกเกมที่เหมาะสมกับอายุของลูก

เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเล่นเกมที่รุนแรงหรือไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรคัดเลือกเกมที่เหมาะกับช่วงอายุและความชื่นชอบของลูก เพื่อให้เขามีพัฒนาการที่สมวัย และรู้สึกสนุกสนานไปในเวลาเดียวกัน อาจจะเป็นเกมเสริมเชาวน์ปัญญา เน้นการแก้ปริศนา หรือเกมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ก็ได้

4. ชวนลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง

เมื่อเห็นว่าลูกเล่นเกมนานเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ได้ อาทิ ทำกับข้าว ซื้อของ ช้อปปิ้ง เดินเล่น ไปสวนสนุก ฯลฯ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่ากิจกรรมอื่นก็สนุกไม่แพ้การเล่นเกมเหมือนกัน

5. พูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของการเล่นเกม

คุณพ่อคุณแม่ควรชี้ให้ลูกเห็น และพูดคุยให้ลูกเข้าใจว่าเกมที่เล่นมีประโยชน์อย่างไร และเกมแบบใดที่จะให้โทษกับเขา รวมไปถึงการเล่นเกมติดต่อกันนานเกินไปจะส่งผลเสียอย่างไร เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การประพฤติตนที่เหมาะสม

 

ภาพ : Shutterstock

 

6. เล่นเกมกับลูก

การเล่นเกมกับลูก นอกจากจะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังรู้ว่าลูกเล่นเกมอะไร รู้สึกอย่างไร และเล่นเกมนั้น ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสอดแทรกแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมไปถึงช่วยลูกแก้ปริศนาในเกมไปด้วยกันได้อีกด้วย

7. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบเล่นเกม ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วยการเล่นเกมเป็นเวลา ไม่นั่งเล่นเกมเพลินหรือบ่อยเกินไป เพราะลูกจะจดจำพฤติกรรมของเราไปปฏิบัติตาม แต่ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเล่นเกมให้ลูกเห็น เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าถึงไม่เล่นเกมก็ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่น ๆ ให้ทำอีกมากมาย

8. สอนให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม

บ่อยครั้งที่การเล่นเกมก็ไม่ได้ทำให้ลูกมีความสุขเสมอไป เมื่อลูกพบเจอกับปัญหา แก้ปริศนาไม่ผ่าน หรือเล่นเกมแล้วพ่ายแพ้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม สอนให้เขารู้สึกการแพ้ชนะ ความพยายาม และความตั้งใจ เมื่อรู้จักจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองได้ ลูกก็จะไม่หมกมุ่นกับเกม และสามารถเล่นเกมนั้น ๆ ได้อย่างมีความสุข

 

เมื่อพบว่าลูกติดเกม สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือความใจเย็นและความเข้าใจ ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกให้ออกห่างจากการเล่นเกม เพื่อให้เขารับรู้ว่ากิจกรรมดี ๆ และสนุก ๆ ยังมีอีกมาก เมื่อลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้แล้ว เขาก็จะก้าวออกจากพฤติกรรมติดเกมได้เองในที่สุด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow