Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมเยาวชนไทย ต้องใส่ใจเรื่อง Digital Footprint

Posted By Plook Teacher | 15 ต.ค. 62
8,235 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

          ท่ามกลางการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในโลกออนไลน์ ทำให้มนุษย์เราใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดียมากขึ้น เราใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมในการติดต่อสื่อสารมากกว่าที่จะพูดคุยกันเองเสียอีก โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่เกิดมาในยุคนี้ ที่สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ก่อนที่จะเขียนหนังสือเป็นเสียที

 

          ด้วยวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปลี่ยนไป ทำให้โซเชียลมีเดียแต่ละแพทฟอร์มแทบจะพัฒนาเป็นมหานครที่มีผู้คนหลากหลาย ผ่านเข้าออกในรูปแบบของข้อมูลนับหลายล้านหน่วย หลายคนใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ในการติดต่อสื่อสาร  ทำงาน  ประกอบธุรกิจ หรือแม้แต่แสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นไปในทางที่ดีและไม่ดี ซึ่งข้อดีของมันก็คือ เราสามารถที่จะสื่อสิ่งที่เราต้องการกับกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดได้ เช่น สมมุติว่าเราสนใจในเรื่องของการปลูกต้นไม้ เราอาจติด แฮชแท็กเกี่ยวกับต้นไม้ ในข้อความที่พิมพ์ลงไป เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการสื่อพุ่งประเด็นไปสู่คนที่มีความสนใจเหมือนกัน เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราโพสต์ลงไปในโลกโซเชียลมีเดียนั้น ล้วนปรากฎอยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งสามารถเรียกดูจากตรงไหนก็ได้ บางครั้งเราอาจจะหลงลืมไปว่า เราสื่อสารอะไรไปบ้าง ในช่วงเวลาใด ซึ่งบางทีเรื่องที่เราโพสต์อาจจจะเป็นเพียงความคึกคะนองตามวัยหรือแค่เพียงความคิดชั่ววูบ ณ ขณะนั้น แต่สำหรับโลกออนไลน์แล้ว ไม่มีคำว่าลืม และรอวันที่จะมีใครขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์จากมัน

 

          Digital Footprint หรือร่องรอยทางดิจิทัล ถ้าจะให้อธิบายสั้น ๆ ก็หมายถึง สิ่งที่หลงเหลือจากการกระทำต่าง ๆ บนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดจากการที่เราโพสต์ แชร์ หรือแม้แต่การกดถูกใจหรือติดตามเรื่องราวที่เราสนใจ สิ่งเหล่านี้จะไม่เลือนหายไปไหนตราบใดที่ข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกลบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

          - Passive Digital Footprint คือ ข้อมูลที่เราทิ้งไว้แบบไม่รู้ตัว เช่น IP Address หรือ Search History ต่าง ๆ ที่ถูกจัดเก็บเอาไว้ตามระบบ 

          - Active Digital Footprint : ข้อมูลที่เราตั้งใจเปิดเผยอย่างจงใจ เช่น อีเมล์ต่าง ๆ หรือสิ่งที่เราตั้งใจโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย

 

          ในโลกอินเตอร์เน็ต ผู้คนสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่าย ซึ่งสมมุติว่าถ้าเราอยากสืบค้น เกี่ยวกับเรื่องของใครสักคนหนึ่ง ขอเพียงแค่รู้ชื่อ เราก็สามารถสืบค้นในอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยากเย็น และยิ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยแล้วก็ยิ่งค้นหาได้ง่าย

 

          ปัจจุบัน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนใช้ Digital Footprint เป็นส่วนหนึ่งในการคัดกรองผู้ที่มาสมัครงาน เพื่อให้ได้พนักงานที่มีทัศนคติที่ดีและเหมาะสมกับองค์กร หรือแม้แต่ในวงการศึกษาเองก็ใช้ประโยชน์จาก Digital Footprint ในการคัดกรองผู้สมัครหรือประเมินผลผู้เรียน เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ตัดสิทธิผู้ที่สมัครเรียนหลายราย เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นได้มีการโพสต์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนได้หันมาให้ความสำคัญกับการแสดงทัศนคติของบุคคลในโลกโซเชียลมากขึ้น

 

          ในสมัยก่อนการแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดบังคับอย่างจริงจัง ทำให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นในทิศทางใดก็ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้ตราบใดที่ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จึงทำให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุน ติเตียน หรือใส่ร้ายป้ายสีใครก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับศีลธรรมและวุฒิภาวะของผู้ใช้เอง แต่ปัจจุบันการกระทำเหล่านั้นอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้เข้ามาควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียและธุรกรรมออนไลน์ของเราให้เหมาะสมและมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ควบคุมแต่ก็มีผู้ใช้หลายท่านที่มันจะท้าทาย หลีกเลี่ยงและแอบทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางส่วนที่พบมักจะเป็นเด็กและเยาวชนที่เพิ่งเข้าสู่สังคมออนไลน์

 

          ด้วยความที่ปัจจุบันนี้เครื่องมือสื่อสารมีความหลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ทุกช่วงวัยสามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือสื่อสารตามความเหมาะสมของตัวเองได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชนที่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้เฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ สิ่งนี้ทำให้เด็กสามารถใช้ฟีเจอร์ในการติดต่อสื่อสาร โพสต์ข้อความ ถ่ายและแชร์รูปภาพได้อย่างเสรี ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ดีถ้านำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตัวเอง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเด็กและเยาวชนถ้าขาดความยับยั้งชั่งใจหรือไม่มีภูมิคุ้มกันทางเทคโนโลยีอาจจะใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่ระวังระมัดและส่งผลกระทบต่อตัวเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ ดังที่เป็นข่าว ซึ่งเกิดกับบุคคลสาธารณะในวงการต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Footprint จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและชีวิตส่วนตัว

 

          Digital Footprint นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับเหล่านักการตลาดและผู้ติดต่อประสานงานในการค้นหาข้อมูลของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการพูดคุย เช่น ความเชี่ยวชาญ ความสนใจ หรือพื้นฐานการใช้ชีวิตต่าง ๆ และนอกจากนี้ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญของบรรดาผู้ไม่หวังดีและเหล่าแฮกเกอร์อีกด้วย เพราะช่วยทำให้พวกเขาเข้าใจบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ได้มากขึ้น ทำให้เขาสามารถคาดเดาและปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ ของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ และใช้ประโยชน์ในการแบล็กเมล์หรือเล่นงานในจุดอ่อนต่าง ๆ ของบุคคลนั้นได้

 

          สำหรับคุณครู Digital Footprint อาจมีประโยชน์ ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน เพราะจะทำให้ทราบถึงปัญหา ทัศนคติหรืออุปนิสัยของนักเรียนและสามารถส่งเสริมหรือช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที แต่อย่างไรก็ดีการสืบจาก Digital Footprint ก็ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เพราะถือเป็นความผิดทางกฎหมายที่สามารถฟ้องร้องได้ เนื่องจากเป็นการเข้าดูโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ และถ้ายิ่งเอาข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่หรือโฆษณา อาจจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ใช้อย่างมาก

 

          ดังนั้นการจัดการกับ Digital Footprint ของตัวเองนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และต่อไปนี้คือแนวทางสำคัญที่เด็กและเยาวชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ควรรู้ และดำเนินการกับ Digital Footprint ของตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวเองในภายหลัง

 

ต้อง Log in และ Log out เสมอ

          การเข้าใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละแอปพิเคชั่น ล้วนต้องมีการ Log in เพื่อเข้าใช้เสมอ ดังนั้น ถ้าเราจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สื่อสารที่เป็นสาธารณะ เมื่อ Log in ใช้งานเสร็จแล้ว ก็ควร Log out ทุกครั้ง และไม่ควรตั้ง Log in อัตโนมัติ สำหรับอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้งานหลายคน

 

ตั้งสาธารณะเท่าที่จำเป็น

          การโพสต์โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะมีการตั้งรูปแบบการโพสต์ในหลายลักษณะ เช่น โพสต์แบบสาธารณะคือใครสามารถเข้ามาเห็นหรือแชร์ได้ หรือโพสต์แบบเฉพาะกลุ่มที่กำหนดให้เฉพาะกลุ่มที่เราเลือกเท่านั้นถึงจะเห็นโพสต์นี้ได้ ควรเลือกใช้สถานะให้เหมาะสมและถูกกาลเทศะ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราแสดวความคิดเห็นไว้นั้น อาจย้อนมาทำร้านเราในภายหลังได้

 

ล็อกอุปกรณ์สื่อสารของตัวเองทุกครั้ง

          การล็อกอุปกรณ์สื่อสารถือเป็นสิ่งที่ควรทำเบื้องต้นในการใช้เครื่องมือสื่อสาร เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว และยากต่อการโจรกรรมในกรณีที่อุปกรณ์เหล่านี้ถูกขโมยหรือสูญหาย บางครั้งแม้เราโพสต์ข้อความโดยตั้งความเป็นส่วนตัวไว้ แต่ถ้าอุปกรณ์ไม่ได้ตั้งระบบป้องกัน บุคคลอื่นก็สามารถเข้าถึงความเป็นส่วนตัวนั้นได้

 

คิดก่อนอัพโหลด ก่อนโพสต์ และก่อนแชร์

          สิ่งนี้คือการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ แทนที่เราจะต้องมากังวลกับ Digital Footprint การคิดก่อนที่จะลงข้อมูลหรือแชร์สิ่งใดจะช่วยคัดกรองให้เราเลือกลงข้อมูลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับตัวเอง

 

ลบข้อมูลที่ไม่ใช้งาน

          ปัจจุบันมีหลายแอปพิเคชั่นที่เป็นโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีเกิดใหม่และปิดตัวลงไปอยู่ตลอดเวลา บางแอปพิเคชั่นอาจได้รับความนิยมมายาวนาน แต่บางแอปพิเคชั่นก็เสี่อมความนิยมลงไป ดังนั้นโซเชียลมีเดียใดที่ไม่ได้เล่นแล้ว ควรลบเสียเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ควรตั้งให้ระบบลบข้อมูลการค้นหาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยจากผู้ไม่หวังดีแล้ว ยังช่วยให้อุปกรณ์สื่อสารทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

          จะเห็นได้ว่าการจัดการกับ Digital Footprint เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะกับผู้คนในยุคสมัยนี้ ที่การมีตัวตนอยู่บนอินเตอร์เน็ตสำคัญพอๆกับการมีตัวตนอยู่บนโลกแห่งความจริง ดังนั้น ถ้าเด็กและเยาวชนอยากมีประวัติขาวสะอาดในโลกโซเชียล ก็ควรสอนให้พวกเขาใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ Digital Footprint ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเขาได้ในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

https://contentshifu.com/computer-law/

https://thematter.co/brief/digital-footprint-explained/79341

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow