Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความรู้จักไซเบอร์บลูลิ่ง Cyberbullying การกลั่นแกล้งบนโลกอินเตอร์เน็ต

Posted By Plook Teacher | 10 ต.ค. 62
5,597 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

           อุปกรณ์สื่อสารของเราในยุคปัจจุบันนี้ สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งช่วยให้พวกเราดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การเชื่อมต่อสู่โลกอินเตอร์เน็ตนั้น ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล ทำให้เราสามารถเรียนรู้เรื่องราวจากหลาย ๆ ที่ได้พร้อม ๆ กันโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่นั่นด้วยตัวเอง หรือช่วยให้เราสามารถคุยกับคนอีกซีกโลกหนึ่งด้วยเวลาการเชื่อมต่อเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก

 

           นอกจากนี้อินเตอร์เน็ตก็เป็นสังคมที่เปิดกว้างกับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้ามีทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ พวกเขาก็สามารถก้าวเข้ามาเป็นพลเมืองในโลกดิจิทัลได้อย่างไม่ยากเย็น แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าโลกอินเตอร์เน็ตจะมีประโยชน์มากมายเพียงไร แต่ถ้าผู้ใช้เอาไปใช้ในทางที่ผิด สิ่งนี้ก็กลายเป็นอาวุธที่อันตรายอย่างมากได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในการกระทำผิดในโลกอินเตอร์เน็ตที่มักจะพบเจอกันส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นเรื่องของไซเบอร์บลูลิ่ง Cyberbullying

 

           ไซเบอร์บลูลิ่ง Cyberbullying หมายถึง การกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งโดยการใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากการบลูลิ่ง หรือ การกลั่นแกล้งแบบธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นจากการกระทำในโลกอินเตอร์เน็ตที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงออนไลน์ตลอดเวลา จึงทำให้การกลั่นแกล้งสามารถแพร่กระจายได้ง่าย และตัวผู้กระทำนั้นสามารถหลีกเลี่ยงการแสดงตัวโดยการปลอมตำแหน่งหรือใช้นามแฝงแทนการแสดงที่อยู่หรือตัวตนจริง ๆ ได้  และจากการที่ผู้กระทำสามารถหลีกเลี่ยงการแสดงตัวตนของตัวเองได้นี้เอง ทำให้ผู้กระทำสามารถที่จะนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็นอย่างใดก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจต่อความรู้สึกของผู้ถูกกลั่นแกล้ง และไม่อาจทราบได้เลยว่าสิ่งที่นำเสนอหรือแสดงออกไปนั้นกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ถูกกลั่นแกล้งมากแค่ไหน จึงไม่รู้ตัวว่าการกลั่นแกล้งนั้นควรจะพอหรือหยุดเมื่อใด สิ่งนี้นับเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะยิ่งการกลั่นแกล้งขยายตัวมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกลั่นแกล้งมากขึ้นเท่านั้น จนอาจทำให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งมีทัศนคติทางลบต่อตัวเองและหาทางระบายออกด้วยความรุนแรง เช่น การแก้แค้นหรือการทำร้ายตัวเองจนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็เป็นได้

 

           ด้วยความที่ยุคสมัยนี้เป็นสังคมแบบดิจิทัล ตัวตนบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้น มีค่าและอิทธิพลต่อตัวเรามากพอ ๆ กับตัวตนในโลกของความจริง เราจึงให้ความสำคัญต่อตัวตนที่เราสร้างขึ้นในสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับตัวของเราเอง ดังนั้นการกระทำใด ๆ ในสังคมออนไลน์ อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดการถูกไซเบอร์บลูลิ่งได้ ถ้าการกระทำนั้น ขัดต่อความรู้สึกของคนบางคน และมันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น ถ้ามันขัดกับความรู้สึกของคนจำนวนมาก

 

ภาพ : shutterstock.com

 

           ทุกวันนี้แหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ล้วนให้ความสำคัญกับการขายข่าวที่สร้างให้เกิดประเด็นดราม่ามากกว่าจะรายงานข่าวที่เป็นกลางอย่างเหมาะสม สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดการไซเบอร์บลูลิ่งอย่างหนักโดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกกล่าวหาในเนื้อข่าว ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหานั้น เกิดความอับอายและมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เพราะถูกสังคมออนไลน์ตัดสินแล้วในสิ่งที่กระทำ โดยไม่ทันที่จะได้แก้ต่างอย่างเหมาะสมด้วยกระบวนการยุติธรรมตามสิทธิที่พึงมีเลย และถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีความผิด แต่การไซเบอร์บลูลิ่งที่ถูกสังคมออนไลน์ตัดสินไว้ก่อนนั้นก็ไม่ได้เลือนหายไป และคงส่งผลต่อตัวผู้ถูกกระทำไปอีกนาน สำหรับลักษณะของการไซเบอร์บลูลิ่งนั้น เราสามารถแบ่งการไซเบอร์บลูลิ่งได้ตามรูปแบบการกระทำผิด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 6 ลักษณะใหญ่ ๆ อันได้แก่

           1. โพสต์หรือคอมเมนต์ด่าทอ เสียดสีเพื่อสร้างความเสียงหายให้ผู้ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งมีทั้งการแสดงความเห็นอย่างเป็นสาธารณะหรือการส่งข้อความถึงผู้ถูกกลั่นแกลั่งโดยตรง

           2. ใช้คลิปวีดีโอที่ส่งผลให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งเสียหายและอับอาย เช่น คลิปอนาจาร  คลิปรุมทำร้าย  คลิปการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม รวมถึงคลิปตลก ๆ จากการแสดงออกของผู้ถูกกลั่นแกล้งที่เจ้าตัวไม่ได้อนุญาต เป็นต้น

           3. ตัดต่อภาพหรือทำภาพปลอมเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเพื่อโจมตีผู้ถูกกลั่นแกล้ง

           4. สวมรอยเป็นผู้ถูกกลั่นแกล้งในโลกอินเตอร์เน็ตแล้วแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกไม่ดีต่อตัวผู้ถูกกลั่นแกล้ง

           5. ข่มขู่จะเปิดเผยความลับหรือเรื่องราวที่อับอายของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เพื่อแลกกับการให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งนั้น ๆ ทำสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการ

           6. สร้างกลุ่มเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อโจมตีผู้ถูกกลั่นแกล้งโดยเฉพาะ

 

           การถูกไซเบอร์บลูลิ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะตราบใดที่มนุษย์เรายังใช้สังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร การไซเบอร์บลูลิ่งก็ยังคงมีต่อไป และมีแนวโนมที่จะพัฒนาความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดได้กับทุกคน แต่สำหรับเด็กและเยาวชนนั้นดูจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่า เพราะด้วยวัยวุฒิและวุฒิภาวะทำให้พวกเขาไม่สามารถจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้เทียบเท่ากับผู้ใหญ่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ถ้าเด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันด้านเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ก็มีแนวโน้มทำให้เด็กและเยาวชนมีปัญหาทางจิตใจ เครียด ซึมเศร้า และเลือกที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ด้วยการกระทำที่เลวร้ายก็เป็นได้

 

           ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองและครู ควรสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนอยู่ตลอดเวลา ถ้าพบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย เครียด มีความวิตกกังวล ห่างเหินจากคนใกล้ชิด ดำเนินกิจวัตรประจำวันอย่างผิดปกติ และประสิทธิภาพในการเรียนลดลง ควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กกำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่าง ซึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์กมักเป็นหนึ่งของตัวการในเรื่องนี้ การใส่ใจต่อเด็กและเยาวชนและเปิดโอกาสให้เขาได้ระบายหรือขอคำปรึกษาจะช่วยให้เขาสามารถเผชิญกับปัญหาและแก้ไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และต่อไปนี้คือสิ่งควรทำหรือควรแนะนำ เมื่อพบว่าตัวเอง บุคคลใกล้ชิดหรือผู้อยู่ในความดูแลของคุณถูกไซเบอร์บลูลิ่ง

           1. หยุดอ่านโพสต์หรือคอมเมนต์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และไม่ควรตอบโต้คอมเมนต์ต่าง ๆ ที่กล่าวหาเราในทางลบ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของไซเบอร์บูลลิ่ง

           2. บล็อกผู้ใช้ที่ไม่หวังดี เพื่อตัดการรบกวน รวมถึงแจ้งรายงานผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการกับต้นตอของปัญหา

           3. ในกรณีสิ่งที่เราโพสต์นั้นกระทบต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เช่น ความเห็นทางศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือความรู้สึกคนส่วนใหญ่ การลบโพสต์ที่เป็นประเด็นคือแนวทางที่ควรทำเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ

           4. งดใช้โซเชียลชั่วคราว เพราะธรรมชาติของโซเชียล ถ้าเราไม่ได้ต่อความยาวสาวความยืด เรื่องต่าง ๆ ก็มักจะผ่านไปหาสิ่งที่น่าสนใจกว่า การงดใช้โซเชียลหรือไปให้ความสนใจกับสิ่งอื่นแทนนอกจากจะช่วยบำบัดอารมณ์ความรู้สึกของเราแล้ว ยังไม่ทำให้ปัญหาบานปลายอีกด้วย

           5. ถ้าการไซเบอร์บูลลี่กระทบต่อชีวิตและการทำงาน การดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ คือสิ่งที่ควรทำ เพื่อช่วยให้ตัวเองปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

           6. จงปล่อยวาง เพราะในโลกนี้มีคนรักและก็มีคนเกลียด มีคนที่เข้าใจและก็ไม่เข้าใจ การปล่อยวางและไม่ยกเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นสาระจะช่วยให้เรามีความสุขกับชีวิตมากกว่าการยึดมั่นถือมั่น

 

           ไซเบอร์บลูลิ่ง แท้จริงแล้วอาจทำอะไรเราไม่ได้เลย ถ้าเรามีจิตใจที่เข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันด้านเทคโนโลยีที่มากพอ การรักษาตัวตนที่ดีในโลกอินเตอร์เน็ตและการเลือกทำกิจกรรมบนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม จะเป็นเกราะป้องกันให้เราไม่โดนไซเบอร์บลูลิ่งได้ง่าย และถึงแม้เราอาจจะโดนไซเบอร์บลูลิ่ง จากผู้ไม่หวังดีบางคน แต่ก็มีอีกหลายคนที่เห็นในความดีของเรา ก็พร้อมจะอยู่เคียงข้าง คอยชี้แจงหรือให้การช่วยเหลือเราอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับสำนวนไทยในโลกแห่งความจริงที่ว่า คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้นั่นแหละครับ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow