Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวทางการรับมือกับนักเรียนจอมขี้เกียจ

Posted By Plook Teacher | 26 ก.ย. 62
14,682 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

ในห้องเรียนที่คุณครูดูแล มีนักเรียนที่มีนิสัยเกียจคร้านไหมครับ ? ผู้เขียนมั่นใจเลยว่าอย่างน้อยต้องมีสักหนึ่งหรือสองคนแหละ ที่คุณครูมองว่าเป็นเด็กขี้เกียจ

 

              ความเกียจคร้าน เป็นภาวะของมนุษย์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ  มีความกลัวในผลลัพธ์หรือรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ  มีภาวะของความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย  มีความเบื่อหน่าย เสพติดความสบาย จนไปถึงปัญหาของพันธุกรรมและสารเคมีในสมอง

 

              สำหรับนักเรียนความเกียจคร้านคือภาวะที่ขัดขว้างให้พวกเขาเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ มีความเบื่อหน่ายต่อกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งมีผลมาจากทั้งภายในตัวของเด็กเอง หรือมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การเลี้ยงดูที่หย่อนยานและตึงเครียดมากจนเกินไป หรือเกิดในครอบครัวที่นักเรียนไม่ต้องทำอะไรเลย ความขี้เกียจของนักเรียน เป็นสิ่งที่หนักอกหนักใจของครู เพราะส่งผลกระทบอย่างมากในระบบการเรียนการสอนโดยรวม ทำให้แทนที่ครูจะได้ส่งเสริมการเรียนรู้ต่อไปอย่างก้าวหน้า กลับต้องเสียเวลาในการจัดการและช่วยเหลือนักเรียนที่เกียจคร้านเพื่อให้สามารถทำงานและเรียนรู้ได้เท่าทันเพื่อน ๆ ส่งผลให้ทั้งนักเรียนที่ขยันอยู่แล้วและนักเรียนที่มีความเกียจคร้านก็เรียนรู้กันได้ไม่ถึงไหน

 

ภาพ : shutterstock.com

 

              ต่อไปนี้คือวิธีรับมือกับนักเรียนที่มีความเกียจคร้าน  เมื่อคุณครูประเมินนักเรียนในห้องเรียนที่คุณครูดูแลและพบว่ามีนักเรียนบางคนที่เข้าข่ายอุปนิสัยเกียจคร้าน ก็ควรจะต้องดำเนินการแก้ไขและปรับพฤติกรรมเพื่อให้นักเรียนมีอุปนิสัยและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังนี้

กำหนดขอบข่าย เวลาและผลการทำงานให้ชัดเจน

              การกำหนดขอบข่ายและเวลาของงานที่ให้นักเรียนทำ จะช่วยย้ำเตือนความสำคัญของงาน และสร้างความกดดันเล็กน้อยให้กับนักเรียน ซึ่งความกดดันนี้จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมุมานะที่จะทำงานให้เสร็จ เพื่อที่จะไปสู่ผลที่ตั้งไว้ เช่น ถ้าใครทำงานชิ้นนี้เสร็จ จะได้รับรางวัล หรือ ต้องทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จก่อนถึงจะสามารถไปเล่นได้ อย่างไรก็ดีการกำหนดขอบข่าย เวลา และผลการทำงานของนักเรียนนั้น จะต้องมองที่ศักยภาพของนักเรียนด้วยว่าสามารถตอบสนองได้ดีแค่ไหน

ย่อยเนื้องานลงเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการทำ

              บางครั้งการให้งานที่มีขนาดใหญ่เกินไป อาจทำให้นักเรียนรู้สึกท้อใจและมีความรู้สึกไม่อยากทำงาน การแยกย่อยงานออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ และทยอยให้นักเรียนทำ จะส่งผลให้เกิดการตอบสนองที่ดีกว่า

จัดสรรเวลาเรียนและเวลาพักของนักเรียนให้เหมาะสม

              หลายครั้งที่ครูมักจะเบียดบังเวลาพักของนักเรียน โดยการต่อเวลาเรียนและเพื่อเสริมเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ซึ่งคุณครูอาจมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ความรู้เพิ่มเติมกับนักเรียนได้เต็มที่ แต่การทำเช่นนั้น ทำให้การจัดสรรเวลาของนักเรียนเกิดการแปรปรวน และเมื่อเวลาพักที่นักเรียนควรได้รับกลับลดลง ความสนใจในการเรียนของนักเรียนก็มีแนวโน้มที่จะลดลงตามไปด้วย สิ่งนี้ทำให้เด็กมีความรู้สึกเกียจคร้านที่จะเรียน เพราะไม่รู้ว่าการเรียนแต่ละครั้งจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ดังนั้นคุณครูควรจัดสรรเวลาเรียนให้เหมาะสม และพยายามไม่กินเวลาพักของนักเรียนมากจนเกินไป

ให้คำปรึกษากับครอบครัว

              นักเรียนที่มีอุปนิสัยเกียจคร้านนั้น เมื่อเรามาพิจารณาในระดับครอบครัวจะพบว่า ครอบครัวของนักเรียนกลุ่มนี้ มักจะขาดการจัดสรรเวลาที่ดี  ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก หรือมักจะไม่สอนให้ลูกรับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน ซึ่งพฤติกรรมที่พบเจอมากที่สุดคือ การที่นักเรียนมาโรงเรียนสาย  และผู้ปกครองไม่ค่อยร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน การที่จะปรับอุปนิสัยตรงนี้ของนักเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ปครอง เพื่อให้ครอบครัวช่วยเหลือและร่วมมือกับนักเรียนในการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เช่น การเข้านอน การตื่นนอน การทำการบ้าน หรือการพักผ่อน รวมถึงการมอบหมายงานในครอบครัวให้นักเรียนรับผิดชอบ ซึ่งการจัดสรรเวลาที่ดีของครอบครัวนั้น จะทำให้อุปนิสัยความเกียจคร้านของนักเรียนลดน้อยลงตามไปด้วย

ให้คำชมเชยและให้กำลังใจ

              การที่นักเรียนทำงานที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จ คือความพยายามในการเอาชนะความเกียจคร้านภายในตัวเอง ดังนั้น แม้ว่าผลงานที่นักเรียนทำออกมาจะไม่ถูกต้องหรือถูกใจ การชมเชยและให้กำลังใจต่อความพยามที่เขาทำนั้นคือยาขนานเอกที่ช่วยลดนิสัยความเกียจคร้านของนักเรียนลงได้   

จัดสรรสภาพแวดล้อม

              ห้องเรียนที่ร้อนเกินไปหรืออุดอู้เกินไป มักจะไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ดังนั้นการจัดสรรห้องเรียนที่สะอาด น่าเรียนและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้สึกอยากที่จะเรียน หรือแม้แต่การย้ายไปเรียนในส่วนอื่น ๆ นอกห้องเรียนบ้าง ก็ถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ช่วยผลักดันให้นักเรียนที่มีความเกียจคร้านสนใจในการเรียนมากขึ้น

กีฬา ๆ เป็นยาวิเศษ

              ริชาร์ด ไวเลอร์ และเอมมานูเอล สตามากิส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษ 2 นาย เรียกร้องให้ความเกียจคร้านนั้นเป็นโรค ด้วยเหตุผลที่ว่า ความเกียจคร้านเกี่ยวพันถึงการเจ็บการตายอยู่อย่างสำคัญ บางทีการไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อน ไหวร่างกาย ควรจะถือว่า เป็นโรคภัยอย่างหนึ่งได้ในตัวของมันเอง จากคำกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ความเกียจคร้านนั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกอยากเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกายนั้นมีผลต่อการเพิ่มของโดพามีนในสมอง ซึ่งมีผลดีทำให้รู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระฉับกระเฉง มีสมาธิ และความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีมากในการแก้ปัญหาความเกียจคร้าน  มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความเกียจคร้านมาก ในสมองจะมีการหลั่งสารโดพามีนน้อยลง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสัน มีอาการเสพติด มีความแปรปรวนด้านอารมณ์และมีระดับการเรียนรู้ที่แย่ลง ด้วยเหตุนี้ทำให้การออกกำลังกายหรือการให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวจะช่วยขจัดความเกียจคร้าน

พูดคุยกับนักเรียน

              วิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงสาเหตุของความเกียจคร้านของนักเรียน คือ การได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาอย่างเป็นส่วนตัว การให้นักเรียนเปิดใจเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงหรือพฤติกรรมของตัวเองจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้นักเรียนกล้าที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง ซึ่งเมื่อเราทราบถึงที่มาของปัญหาอาจจะทำให้เราเข้าใจตัวตนของนักเรียนหรือหาแนวทางในการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

ส่งเสริมให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจในการเรียน

              แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนมีความมุมานะในการเรียน การส่งเสริมให้นักเรียนเห็นแนวทางในการเรียนแต่ละวิชา จะช่วยให้พวกเขาเห็นความสำคัญและมีความสนใจในสิ่งที่เรียนหรือศึกษาอยู่ แทนที่เราจะบังคับให้พวกเขาเรียนโดยพวกเขารู้สึกต่อต้าน การสร้างให้เขามีแรงบันดาลใจจะเป็นแนวทางส่งเสริมที่ดีกว่า และจากจุดนี้เอง เมื่อนักเรียนมีความมุมานะมากขึ้น ความเกียจคร้านที่มีมาแต่เดิมก็มีแนวโน้มที่จะลดลง จนแทบจะหายไปจากตัวตนของเขาเลยก็เป็นไป

 

              ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ความเกียจคร้าน เป็นหนึ่งใน อบายมุข 6 ซึ่งเป็นหนทางแห่งความเสื่อม ส่งผลให้ชีวิตวุ่นวายไม่สิ้นสุด ทำให้เสียการเสียงาน ทำให้ตัวเองขัดสนและขาดความน่าเชื่อถือ และแม้ว่าความเกียจคร้านในวัยเรียนอาจจะเป็นแค่บางช่วง แต่ถ้าปล่อยไว้ก็อาจจะกลายเป็นอุปนิสัยที่แก้ไขได้ยาก ผู้ใหญ่ที่มีความเกียจคร้านอยู่ในกมลสันดานย่อมไม่อาจสร้างสรรค์ให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า ได้ ดังนั้นก่อนที่เด็กและเยาวชนจะก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ครูอย่างเราก็ควรตัดไฟแต่ต้นลมดีกว่า 

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/103811

https://today.line.me/th/pc/article/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%88+%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99-1VKr1E

https://www.honestdocs.co/do-not-let-go-of-hormones

https://www.childanddevelopment.com/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow