Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สอนอย่างไรให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี

Posted By Plook Teacher | 23 ก.ย. 62
9,426 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

            ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) คือ แนวคิดและแนวปฏิบัติที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและเต็มศักยภาพ  โดยสามารถปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงในสิ่งต่าง ๆ ในโลกออนไลน์  รู้จักเคารพสิทธิของตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไปจนถึงเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อตัวเองและสังคม และใช้มันอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตัวเองและสร้างสรรค์สังคมไปในเชิงบวก

 

            ตามที่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สบร. ได้นำเสนอเรื่องของ 9 ข้อปฏิบัติของการเป็นพลเมืองดิจิทัลยุคใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล อย่างมีวิจารณญาณ มีความรับผิดชอบ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ ผู้เขียนจึงได้นำแนวคิดนี้มาเป็นหัวข้อในออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเรื่องราวดังกกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี ซึ่งสามารถส่งเสริมผู้เรียนได้ดังนี้

 

Digital Access สิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

            ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ตามความเหมาะสมของแต่ละวัย โดยต้องไม่มีการปิดกั้นหรือจำกัดสิทธิต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีสิทธิที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยไม่ปิดกั้นหรือจำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็นในโรงเรียนจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะใช้อินเตอร์เน็ตอย่างชาญฉลาดมากขึ้น  และคุณครูควรใช้อินเตอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้กับผู้เรียนอยู่เป็นประจำเพื่อให้ผู้เรียนซึบซับและรู้จักวิธีการใช้ประโยชน์ จากอินเตอร์เน็ตอย่างเหมาะสม

 

Digital Commerce ซื้อขายออนไลน์แบบมีกติกา

            ทุกวันนี้ โลกออนไลน์สามารถทำประโยชน์และช่วยเหลือเราได้อย่างมากมาย ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหนึ่งในประโยชน์ที่ได้จากโลกออนไลน์คือการค้าขาย สอนให้ผู้เรียนรู้จักรูปแบบของการค้าขายออนไลน์ ให้ทราบถึงบทบาทของผู้ค้าและสิทธิของผู้บริโภค รู้จักมารยาทในการค้าขายอย่างเหมาะสม รวมถึงการสอนเรื่องของความเข้าใจในระบบการเงินแบบดิจิทัล จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

 

Digital Communication แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม

            ปัจจุบันนี้ ข้อมูลข่าวสารในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถไปถึงตัวผู้รับสารได้ง่ายดายและรวดเร็ว แต่กลับเป็นดาบสองคม เพราะทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นแทนที่จะรอให้มีใครมาตรวจสอบข้อมูลให้ ตัวผู้รับสารเองควรมีทักษะในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการคัดกรองข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงอย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่ครูผู้สอนต้องส่งเสริมในจุดนี้ โดยกิจกรรมที่ส่งเสริมอาจเป็นการนำเนื้อหาข่าวจากในอินเตอร์เน็ตมาพูดคุยวิพากวิจารย์ร่วมกับผู้เรียน เพื่อชี้ให้ผู้เรียนเห็นข้อเท็จจริงและสามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จได้ นอกจากนี้การสอนให้ผู้เรียนรู้จักสื่อสารผ่านเทคโนโลยีจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้เรียน ซึ่งคุณครูอาจให้เด็กจับคู่คนละห้อง เพื่อให้นักเรียนทั้งสองห้องได้มีโอกาสพูดคุยกันผ่านอีเมลล์หรือโชเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารอย่างเหมาะสม

 

ภาพ : shutterstock.com

 

Digital Literacy เรียนรู้ ถ่ายทอด ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

            ใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้เรียน ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น ให้นักเรียนไปสรุปข้อมูลที่ได้จากการชมคลิปวีดีโอที่กำหนด หรือกำหนดให้นักเรียนผลัดกันแชร์ข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจลงในกลุ่มโซเชียลมีเดีย

 

Digital Etiquette รู้กาลเทศะ ประพฤติดี มีมารยาท

            มารยาทและกาลเทศะ แม้จะดูเป็นเรื่องคร่ำครึในสังคม แต่ก็เป็นพื้นฐานของสังคมที่ดี การสอนให้ผู้เรียนรู้จักแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์อย่างเหมาะสมมีมารยาท  โดยคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมอยู่ในวงสนทนาคือการสร้างให้ผู้เรียนมีอุปนิสัยที่ดี ลองให้ผู้เรียนยกตัวอย่างลักษณะของการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกในโลกอินเตอร์เน็ตที่ตัวผู้เรียนคิดว่าไม่เหมาะสมมาคนละ 5 ลักษณะ แล้วให้พวกเขาอธิปรายทีละคน จะทำให้ผู้เรียนทั้งหมดทราบถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกในโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างดี

 

Digital Law ละเมิดสิทธิ ผิดกฎหมาย

            เรื่องของลิขสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาในทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ การนำผลงานของบุคคลอื่นมาใช้หาประโยชน์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ้างอิงและขออนุญาต เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิที่พึงมีของเจ้าของผลงาน ซี่งในสังคมออนไลน์นั้น การนำภาพ โปรแกรมหรือคลิปวีดีโอใดมาใช้จะต้องสังเกตสัญลักษณ์และเครื่องหมายแสดงลิขสิทธิ์ Creative commons (CC) ซึ่งมี 4 ลักษณะคือ

            สัญลักษณ์ BY ระบุแหล่งที่มา หมายถึง เจ้าของลิขสิทธิ์ยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก และเผยแพร่งาน แต่ผู้ที่ คัดลอก และเผยแพร่งานจะต้องให้เครดิตของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย

            สัญลักษณ์ NC ไม่ใช้เพื่อการค้า หมายถึง เจ้าของลิขสิทธิ์ยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก และเผยแพร่งาน แต่ห้ามนำงานดังกล่าวไปใช้เพื่อการค้าไม่ว่ากรณีใด ๆ 

            สัญลักษณ์ ND ไม่ดัดแปลง หมายถึง เจ้าของลิขสิทธิ์ยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก และเผยแพร่งาน แต่ให้ใช้แต่แบบงานดั้งเดิมเท่านั้น ห้ามนำงานดังกล่าวไปดัดแปลงหรือแก้ไข

            สัญลักษณ์ SA อนุญาตแบบเดียวกัน หมายถึง เจ้าของลิขสิทธิ์ยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก และเผยแพร่งาน แต่ผู้ใช้งานจะต้องใช้สัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน

            โดยในแต่ละผลงานที่สร้างสรรค์ในโลกอินเตอร์เน็ตจะมีปรากฎสัญลักษณ์นี้ตามแต่ความต้องการของเจ้าของผลงาน ซึ่งผู้นำมาใช้จะต้องเรียนรู้และใช้อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องสอนให้ผู้เรียนทราบถึงความหมายของสัญลักษณ์และเครื่องหมายแสดงลิขสิทธิ์ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและไม่มีพฤติกรรมละเมิดลิขสิทธิ์

 

Digital Rights & Responsibilities มีอิสระในการแสดงออก แต่ต้องรับผิดชอบทุกการกระทำ

            การแสดงออกและรับผิดชอบต่อการกระทำนับเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องสร้างให้ผู้เรียนมีอุปนิสัยเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง ลองให้นักเรียนประกาศความตั้งใจที่สามารถทำได้ในโลกอินเตอร์เน็ตภายในเวลา 1 เดือน เช่น ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัม ในเวลา 1 เดือน หรือ ใน 1 เดือนนี้ฉันจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ แล้วคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ ก็นับเป็นแนวทางเล็ก ๆ ที่ช่วยสอนให้ผู้เรียนรู้จักแสดงออกและรับผิดชอบต่อการแสดงออกนั้นได้

 

Digital Health & Wellness ดูแลสุขภาพกายใจ ห่างไกลผลกระทบจากโลกดิจิทัล

            การใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสายตาที่ใช้จ้องมองสิ่งเหล่านั้นและ ยังสร้างให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด หรือโรคออฟฟิศซินโดม (โรคที่เกิดจากการนั่งทำงานบนโต๊ะเป็นเวลานาน) เป็นต้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ไม่ทำลายสุขภาพ และเลือกปฏิบัติต่อความเห็นเชิงลบที่มีต่อตัวผู้เรียนอย่างเหมาะสม

 

Digital Security ระวังทุกการใช้งาน มั่นใจปลอดภัย

            เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการท่องโลกอินเตอร์เน็ต เพราะแม้ว่าอินเตอร์เน็ตนั้นจะเป็นเรื่องที่สะดวกสบายและสามารถจะท่องไปที่ไหนก็ได้ แต่เราก็ไม่ควรทิ้งข้อมูลส่วนตัวไว้บนโลกอินเตอร์เน็ต เพราะอาจเป็นช่องทางให้คนไม่ดีเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้โดยง่าย

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            ทั้งหมดนี้คือไอเดียการจัดกิจกรรมที่สามารถดำเนินการเพื่อให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีได้ในอนาคตได้ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของพลเมืองดิจิทัล  ตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สบร. ได้นำเสนอ ซึ่งผู้เขียนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ครูผู้สอนเกิดไอเดียในการออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีในอนาคตได้

 

เอกสารอ้างอิง

https://thaidigizen.com/digital-citizenship/ch1-digital-citizenship/

http://www.okmd.or.th/okmd-opportunity/digital-age/258/

https://thesensei.info/other-tips/creativecommons-%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow