Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เราจะจัดการศึกษาด้วย PhenoBL ได้อย่างไร

Posted By Plook Teacher | 20 ก.ย. 62
6,815 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

            คราวก่อนเราได้ทำความรู้จัก Phenomenon-Based Learning หรือ PhenoBL ซึ่งเป็นแนวการจัดการเรียนรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยประเทศที่ได้รับการยกย่องด้านการศึกษาอย่างประเทศฟินแลนด์กันมาแล้ว ซึ่งประเทศฟินแลนด์มีเป้าหมายในการพัฒนาแนวการจัดการเรียนรู้นี้  เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในประเทศให้สามารถเติบโตและแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21

 

            Phenomenon-Based Learning หรือ PhenoBL คือแนวการจัดการเรียนรู้ที่นำหัวข้อในการเรียนรู้ต่าง ๆ มาจากปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวที่มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันและชุมชนของนักเรียน เน้นให้เกิดการหลอมรวมบูรณาการการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ โดยไม่แยกย่อยเป็นรายวิชา และมุ่งให้เด็กเรียนรู้ผ่านโครงงานด้วยความร่วมมือ ซึ่งแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ ประเทศฟินแลนด์ได้มีการวิจัยและพัฒนามากว่า 30 ปี เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            สำหรับแนวการจัดการเรียนรู้แบบ Phenomenon-Based Learning  นั้น Kirsten R. Daehler และ ‎Jennifer Folsom นักการศึกษาของ Wested หน่วยงานส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและการบริการที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานร่วมกับสถานศึกษาและชุมชนทั่วสหรัฐอเมริกาและในต่างประเทศ ได้นำเสนอขั้นตอนการนำ Phenomenon-Based Learning หรือ PhenoBL ไปใช้จัดการเรียนรู้ไว้ดังนี้

            1. เลือกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ (Select an Interesting Phenomenon) ปรากฏการณ์ที่เลือกมาควรสอดคล้องกับประสบการณ์และระดับชั้นของผู้เรียน มีความน่าสนใจทั้งต่อตัวครูและนักเรียน แต่ใช่ว่าทุกปรากฏการณ์จะเป็นสิ่งที่ดีเลิศเสมอไป บางครั้งอาจไม่มีปรากฏการณ์ใดเลยที่เหมาะสมจะเลือกมาใช้ในรายวิชา นั่นก็มิใช่เรื่องเสียหาย และควรมองปรากฏการณ์เป็นเซต (Think about the Phenomena as a Set) อย่าหลงใหลไปกับการแสวงหาปรากฏการณ์ที่สมบูรณ์แบบสำหรับบทเรียนแต่ละหัวข้อ เพราะถ้าเลือกปรากฏการณ์ที่ไม่ดีพอจะมีข้อจำกัดหลายอย่างตามมา

            2. วิเคราะห์คุณค่าของบทเรียนที่มีอยู่ (Analyzethe Utility of Your Existing Lessons) ครูควรพิจารณาว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรม และจะประยุกต์สิ่งเหล่านั้นไปสู่ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร หากบางปรากฏการณ์มีประเด็นที่ไม่สามารถตอบโจทย์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของบทเรียนได้ ครูควรหากิจกรรมหรือวิธีการอื่นที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาสาระที่จำเป็น เช่น ใช้วีดีโอหรือสไลด์ในการนำเสนอ การบรรยาย มอบหมายเรื่องให้ไปอ่าน หรือใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกเพราะใช่ว่าเนื้อหาทุกเรื่องจะสามารถเรียนรู้โดยผ่านการลงมือสืบเสาะร่วมกันเฉพาะในห้องได้

            3. วางลำดับกิจกรรม (Plan a Sequence of Activities) เริ่มต้นด้วยการสังเกตปรากฏการณ์ และสนทนาอภิปรายกับนักเรียนเพื่อสำรวจแนวคิดและตั้งคำถาม กระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจความเป็นไปได้ ส่งเสริมให้นักเรียนระบุสิ่งที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ สนับสนุนให้ผู้เรียนร่วมวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้และเพิ่มขั้นตอนการสรุปสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากกิจกรรมโดยอาจใช้คำถามว่า “นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมนี้” “นักเรียนมีคาถามอะไรใหม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้บ้าง” “มีอะไรที่อยากจะเรียนเพื่อให้เข้าใจในปรากฏการณ์นี้ดียิ่งขึ้นอีกบ้าง”

            4. วางแผนการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน (Make a Plan for How You will Know Students havemade Sense of the Phenomenon) โดยให้นักเรียนเขียนคำอธิบาย ออกแบบสไลด์นำเสนอ สรุปในรูปของโปสเตอร์นำเสนอปากเปล่า หรือแสดงออกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อสะท้อนว่าพวกเขามีความคิดรวบยอดและสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ได้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            สำหรับการนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบ Phenomenon-Based Learning นี้ มาส่งเสริมการเรียนรู้ในบริบทการศึกษาไทยนั้น จากเอกสารสรุปการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพผู้นำการศึกษาด้วยแนวทาง Phenomenon-based Learning โดยวิทยากรกระบวนการหลัก Educluster Finland ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 14-16 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เราสามารถที่จะสรุปเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของการศึกษาไทยได้ดังนี้

            - แยกสอนรายวิชา แต่เน้นทักษะเดียวกันหรือสอนร่วมกันด้วยการมีกลุ่มครูที่เลือกแก่นสาระด้วยกัน ไม่แบ่งเป็นรายวิชาอย่างชัดเจน และในระดับสูงสุดคือ ไม่มีรายวิชาและผู้เรียนเลือกปรากฏการณ์ที่จะศึกษาเอง

            - เปลี่ยนกระบวนทัศน์ขนาดใหญ่จากการมองครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มาเป็นนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และครูคือกระบวนกร เป็นการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ คือ มอบความรับผิดชอบให้ผู้เรียนกำกับการเรียนรู้โดยอิสระ ครูและนักเรียนพึ่งพา เคารพซึ่งกันและกัน สามารถแลกเปลี่ยนมุมมองของตัวเองได้

            - จัดห้องเรียนโดยแบ่งหรือจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม เพื่อให้สามารถทำให้เกิดเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม และสำคัญที่สุดคือ ทุกคนในห้องเรียนต้องได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นตัวเอง มีคุณค่า รู้สึกสบายใจ และ โดยนักเรียนต้องเป็นเจ้าของและรับผิดชอบการเรียนรู้ไม่ใช่ครูหรือผู้ปกครอง

            - เปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยเน้้นการมีส่วนร่วมและการสร้างชุมชนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

 

            เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการประยุกต์เอาแนวการจัดการเรียนรู้แบบ PhenoBL มาใช้ในบริบทการศึกษาไทย โดยไม่เป็นการหักล้างรูปแบบการเรียนรู้เดิม แต่เป็นการเสริมเพิ่มเติมให้การศึกษาของเรานั้นมีศักยภาพมากขึ้น

 

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิธีการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ กำลังท้าทายผลคะแนนด้านการศึกษาระดับนานาชาติของฟินแลนด์ แต่ฟินแลนด์กลับสนับสนุนแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ เพราะมีเป้าหมายใหญ่คือการพัฒนาศักยภาพของบุคคลซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ มากกว่าที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้ระดับคะแนนที่ดี แนวคิดนี้นับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาแบบกล้าหาญของฟินแลนด์ที่ต้องยกย่องและเอาใจช่วยจริง ๆ

เอก่สารอ้างอิง

https://www.leadershipforfuture.com/portfolio-view/phenomenon-based-learning

https://library.ipst.ac.th/bitstream/handle/ipst/6110/209_40-45.pdf?sequence=1&isAllowed=y

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow