Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การส่งเสริมทักษะทางภาษาสำหรับเด็กด้วยการสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language)

Posted By Plook Teacher | 19 ก.ย. 62
30,369 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

            สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น เรื่องของภาษานับว่าเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานที่เด็กจะต้องเรียนรู้ เพื่อใช้ในการสื่อสารและดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นการสอนภาษาสำหรับเด็กอนุบาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความท้าทายอย่างมาก เพราะในระดับปฐมวัยนั้นเป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ การส่งเสริมทักษะต่าง ๆ จำเป็นอย่างที่ต้องคำนึงถึงพัฒนาการและความพร้อมของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กเติบโตและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับวัย ซึ่งวิธีการสอนภาษาแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ การสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language Approach)

 

            การสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language Approach)  เป็นนวัตกรรมในการสอนภาษาที่นักการศึกษารวมกับนักภาษาศาสตร์คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเรียนภาษาของเด็ก ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่าธรรมชาติของเด็กนั้น เกิดมาพร้อมกับความสามารถในเรียนรู้ทักษะทางภาษาได้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผ่านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งตรงข้ามกับแนวการสอนภาษาแบบเดิมที่เน้นการท่องจำ ซึ่งทำให้เด็กมีทักษะทางภาษาที่จำกัด นอกจากนี้การท่องจำและการเร่งอ่านเขียนในเด็กยังส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาวอีกด้วย ทำให้การสอนภาษาแบบองค์รวมนี้ จึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการส่งเสริมทักษะทางภาษาให้กับเด็ก โดยไม่ไปขัดขวางพัฒนาการที่เหมาะสมของเด็ก ทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้  และมุ่งเน้นให้เด็กมีความเข้าใจในพัฒนาการทาง โดยจะต้องเกิดขึ้นจากศูนย์กลางความคิดและประสบการณ์ของเด็กเอง

 

สำหรับหลักการสำคัญของการสอนภาษาแบบธรรมชาติ สามารถสรุปรวมจากนักการศึกษาหลายท่านที่ได้อธิบายไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้  ได้ดังนี้

            - การจัดสภาพแวดล้อม เน้นให้เด็กได้คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอย่างมีความหมายและเป็นองค์รวม
            - การสื่อสารที่มีความหมาย ควรให้เด็กมีโอกาสสื่อสารโดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์จริงที่มีความหมายต่อเด็ก
            - การเป็นแบบอย่าง ครูผู้สอนจะต้องให้เด็กเห็นประโยชน์ของการใช้ภาษา จะต้องอ่านและเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้จริงให้เด็กเห็น
            - การตั้งความคาดหวัง ครูควรเชื่อมั่นว่าเด็กมีความสามารถในการอ่านและการเขียนตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับโอกาสที่จะอ่านและเขียนตั้งแต่วันแรกที่มาโรงเรียน และที่สำคัญคือครูไม่ควรคาดหวังให้เด็กอ่านและเขียนได้เหมือนผู้ใหญ่
            - การคาดคะเน ควรให้เด็กมีโอกาสที่จะทดลองกับภาษา และมีโอกาสคิดประดิษฐ์สัญลักษณ์และคิดสะกดเพื่อการเขียน
            - การให้ข้อมูลย้อนกลับ ควรตอบสนองความพยายามในการใช้ภาษาของเด็กในทางบวก ยอมรับการอ่านและการเขียนของเด็กว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายแม้ว่ายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์
            - การยอมรับนับถือ ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก ว่าเด็กเรียนรู้การอ่านและเขียนอย่างแตกต่างกัน ตามช่วงเวลา และอัตราที่แตกต่างกัน
            - การสร้างความรู้สึกเชื่อมั่น ส่งเสริมให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะคาดคะเนในการอ่านหรือเขียน แม้ว่าไม่เคยอ่านหรือเขียนมาก่อน ครูต้องทำให้เด็กไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือด้านการอ่านและเขียนเมื่อจำเป็น และไม่ถูกตราหน้าว่าไม่มีความสามารถในการอ่านและเขียน

 

ซึ่งจากหลักการสำคัญขั้นตอนนี้  เราสามารถประยุกต์เป็นแนวทางในการสอนภาษาแบบองค์รวมอย่างเหมาะสมได้ดังนี้

            1. บรรยากาศของห้องเรียนสอนภาษาแบบองค์รวม

            ห้องเรียนที่สอนภาษาแบบองค์รวมนั้น จะทำหน้าที่เป็นสถานที่จำลองให้เด็กเรียนรู้ทางภาษาด้วยตัวเอง โดยจะมีการจัดมุมประสบการณ์ที่สามารถส่งเสริมทางภาษาได้ไว้ในชั้นเรียน เช่น มุมห้องสมุด  มุมบทบาทสมมุติ   หรือมุมบล็อก เป็นต้น มีการติดป้ายชื่อสัญลักษณ์บ่งบอกแต่ละมุมประสบการณ์อย่างชัดเจน นอกจากนี้สื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องจะมีการทำป้ายชื่อสัญลักษณ์ทั้งหมด เพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงสิ่งต่างๆกับคำที่ปรากฎ
 

            2. รูปแบบการสอนภาษาแบบองค์รวม

            เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยครูผู้สอนจะต้องให้เด็กมีโอกาสเลือกปฏิบัติกิจกรรมด้วยตัวเอง โดยมีการจัดเตรียมกิจกรรมที่หลากหลาย และไม่จำกัดการเรียนรู้ของเด็กด้วยลำดับขั้นตอนหรือเวลา
 

            3. ครูสอนภาษาแบบองค์รวม

            ครูที่เน้นการสอนภาษาแบบองค์รวมจะต้องมีความอดทนและเข้าใจธรรมชาติในการเรียนรู้ภาษาของเด็ก เพราะการสอนภาษาแบบองค์รวมนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการส่งเสริมที่นานกว่าการสอนภาษาตามปกติ ถึงแม้ว่าเด็กที่ได้รับการสอนภาษาแบบองค์รวมจะเขียนได้ช้ากว่า แต่จะพัฒนาและมีทักษะความรู้ที่มั่นคงกว่าในอนาคต นอกจากนี้ในการสอนภาษาแบบองค์รวมจะเน้นให้เด็กสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในทักษะทางภาษาด้วยตนเอง ครูจึงต้องเป็นผู้ทำหน้าที่แนะนำและสนับสนุนมากกว่าที่จะเป็นผู้ควบคุม ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก ชมเชยและให้กำลังใจต่อการแสดงออกของเด็กอย่างเหมาะสม
 

            4. การส่งเสริมทักษะการฟัง

            ตามแนวทางการสอนภาษาแบบองค์รวม ครูสามารถส่งเสริมการฟังให้เด็ก โดยการเล่านิทาน อ่านบทคล้องจองหรือร้องเพลงที่สื่อความหมายถึงสิ่งที่กล่าวถึงได้อย่างชัดเจน มีการใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัย เพื่อให้เด็กสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้ฟังกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ถูกต้อง
 

            5. การส่งเสริมทักษะการพูดและการอ่าน

            การส่งเสริมทักษะการพูดและการอ่าน ตามแนวคิดนี้ จะเน้นให้เด็กแสดงออกโดยการตอบคำถามของครู หรือพูดถึงสิ่งที่ตัวเด็กพบเจอ เช่น ให้เด็กออกมาเล่าถึงนิทานที่ได้อ่าน หรือเล่าถึงกิจกรรมที่ทำช่วงสุดสัปดาห์ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกับสิ่งที่กำหนดหรือตั้งอยู่ในความถูกต้อง เพราะเป้าหมายคือเน้นให้เด็กกล้าที่จะแสดงออกและเชื่อมโยงความคิดและจินตนาการออกมาเป็นคำพูดได้
 

            6. การส่งเสริมทักษะการเขียน

            ครูสามารถส่งเสริมทักษะการเขียนตามแนวคิดนี้ โดยอาจให้เด็กวาดรูปตามที่คุณครูบอก เพื่อเชื่อมโยงภาพกับคำ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการการเขียนของเด็ก อาจมีการสะกดคำง่าย ๆ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การฟัง การพูดและการอ่าน โดยเรียนรู้ที่ตัวคำ ไม่ใช่การท่องจำเป็นหลัก ซึ่งพื้นฐานการเขียนของการสอนภาษาแบบองค์รวมนั้น จะเป็นการเขียนเชิงสัญลักษณ์คือเด็กจะคิดค้นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เขาต้องการสื่อ จึงเป็นเหตุผลว่าเด็กในระดับปฐมวัยที่ใช้แนวการสอนนี้จะยังเขียนหนังสือได้ไม่เป็นตัว แต่จะพัฒนาดีขึ้นในอนาคต
 

            7. การสนับสนุนของผู้ปกครอง

            ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมทักษะทางภาษาให้เด็กได้โดยการพูดคุยสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ กับเด็ก เล่านิทานให้ฟัง หรือชี้ชวนเด็ก ๆ อ่านคำต่าง ๆ ที่ปรากฎในที่ต่าง ๆ เป็นต้น

 

            ทั้งหมดนี้คือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language)  ซึ่งถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในการพัฒนาทักษะทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย แม้การพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กตามแนวคิดนี้ อาจจะไม่ได้เร็วทันใจเหมือนแนวการสอนแบบเก่าที่เน้นการท่องจำ แต่ถ้าดูในระยะยาวแล้ว การสอนภาษาแบบองค์รวมจะส่งผลดีกับการพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กในอนาคตเป็นอย่างมาก ซึ่งเข้าทำนอง ช้า ๆ ... ได้พร้าเล่มงาม นั่นเอง

 

เอกสารอ้างอิง

http://www.nareumon.com/index.php?option=com_content&task=view&id=17&Itemid=50

https://www.rakluke.com/school-zone/11/56/1356/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-whole-language-approach

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow