Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพราะอะไรเด็กเล็กจึงควรใช้เวลากับพ่อแม่มาก ๆ ...ก่อนถูกพรากไปเข้าโรงเรียน

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 27 ส.ค. 62
13,108 Views

  Favorite

          อยากส่งลูกเข้าโรงเรียนไว ๆ จะได้ดูแลตัวเองได้ จะได้โตเร็ว ๆ

          ไม่อยากให้ลูกติดพ่อหรือแม่มาก อยากให้อยู่กับคนอื่น ๆ บ้าง

          ไม่อยากตามใจ ไม่อยากอุ้มบ่อย ๆ เดี๋ยวลูกจะเหลิง

          ทำไมต้องติดแม่ขนาดนี้ก็ไม่รู้ โตขึ้นจะกลายเป็นลูกแหง่ไหม

 

และอีกหลาย ๆ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เวลากับเด็กเล็ก ที่ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านอาจจะยังคงเข้าใจกันแบบผิด ๆ เพราะในความเป็นจริง เด็กจะเติบโตขึ้นได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อเขามีความรู้สึกผูกพันกับผู้เลี้ยงอย่างสุดหัวใจแล้วต่างหากล่ะคะ ไม่ใช่ตามระยะเวลา อายุ หรือการถูกผลักออกไปให้เติบโตอย่างไม่เป็นธรรมชาติ

 

ภาพ : Shutterstock

 

สิ่งหนึ่งที่ครูพิมและนักวิชาการหลาย ๆ ท่านนำเสนออยู่บ่อย ๆ ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรีบให้เด็ก ๆ โตเป็นผู้ใหญ่จนเกินไป โดยมองว่า การติดแม่ การอยากถูกอุ้ม การเกาะแข้งเกาะขาของเด็ก ๆ เป็นเรื่องผิดหรือเป็นเรื่องน่าอาย ไม่รู้จักโต เพราะโดยธรรมชาติแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของเด็ก ๆ วัย 0-3 ปี เด็กในช่วงวัยนี้ ยังคงต้องการความใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงในระดับสูง ยังคงมีความกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety) ยังคงต้องการการสนับสนุนทางใจเป็นระยะ ๆ และยังคงรู้สึกไม่สบายอกสบายใจ เมื่อเห็นพ่อแม่ไปใช้เวลาอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ไม่ใช่เขา

         

เด็ก ๆ ในวัย 2-3 ปี จำนวนไม่น้อย ที่ยังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่มองว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่ไหวแน่ ถ้าอย่างนั้นฉันรีบส่งไปเรียนดีกว่า ฉันปลีกตัวเองออกมาดีกว่า งอแงไม่นาน เดี๋ยวก็หาย ลูกฉันต้องเก่งขึ้นแน่ ๆ ลูกฉันจะได้เลิกติดฉันแจเสียที แต่ในความเป็นจริง เรื่องราวมันไม่ได้ง่ายเช่นนั้นค่ะ เพราะการที่เราแยกจากเด็กในช่วงเวลาที่เขายังไม่พร้อม เด็กจะยังคงยึดติดอยู่กับความรู้สึก “ไม่ปลอดภัย ไม่ไว้ใจ และไม่มั่นใจในความรักที่เรามีให้” แม้ว่าตัวเขาจะแสดงพฤติกรรมการติดผู้เลี้ยงน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่า เขารู้สึกมั่นคงและเติบโตทางใจแล้ว สิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิงค่ะ

 

จริงอยู่ที่ปลายทางของการเป็นพ่อแม่ คือการได้มองเห็นลูก ๆ เติบโตได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องพึ่งพิงหรือพึ่งพาเราอีกต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับความรู้สึก “สมบูรณ์ทางใจ” นี้ ตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว ไม่ใช่ตามกาลเวลาที่ผ่านไปหรือเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างที่ใครหลาย ๆ คนกำลังเข้าใจผิด

 

แล้วอะไรคือการแสดงออกของเด็ก ที่แสดงถึงความไว้วางใจ และมั่นใจในความสัมพันธ์ที่ดีของตนกับผู้เลี้ยง คำตอบคือ ความกล้าของเด็ก ๆ ที่พวกเขาแสดงออกมาด้วยตัวเอง โดยปราศจากการถูกผลักหรือดึงดันจากผู้ใหญ่ สำหรับเด็ก ๆ การกล้าออกจากตักของพ่อแม่ เพื่อไปหาคนที่อยากเล่นด้วย ไปหาของเล่นที่ชอบ หรือไปทำกิจกรรมที่เขาต้องการ โดยไม่มีความกังวลจนต้องเหลียวหลังกลับมาดูเราทุก ๆ 5 นาที (หรือบางทีก็ถี่เสียยิ่งกว่านั้น) ความกล้าที่จะหยิบเสื้อผ้ามาใส่ด้วยตนเอง ความสามารถที่จะช่วยงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้นั่นหละค่ะ สัญญาณที่ดีของการที่เขาพร้อมแล้ว ที่จะเผชิญโลกที่ใหญ่ขึ้นอีกนิด ด้วยตัวของเขาเอง

 

เด็กจะเรียนรู้ได้ดี กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ และกล้าที่จะใช้ชีวิต ก็ต่อเมื่อเขามั่นใจแล้วว่า เขาได้รับความรัก ความผูกพันอย่างเต็มที่ เขามีอิสระที่จะโบยบินได้ ในทางตรงกันข้าม หากเขายังรู้สึกขาดสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะยังไม่หยุดที่จะมองว่า และที่อันตรายกว่า คือการมองหาด้วยรูปแบบที่ไม่น่ารักอีกต่อไป

 

ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยทางใจเป็นเรื่องสำคัญค่ะ สิ่งเหล่านี้ ยิ่งเติมเต็มเร็วตั้งแต่เล็กยิ่งอยู่ได้นาน แต่หากยิ่งขาด ก็เหมือนจะยิ่งเติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ เพราะช่วงเวลาในการสร้างความผูกพันหรือ Attachment นี้ มีจำกัด นี่คือเหตุผลที่ครูพิมพยายามสื่อสารมาตลอด ว่าทำไม จึงไม่ควรรีบผลักลูกออกไป...หากใจเขายังไม่พร้อม

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow