Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาสังเกต พัฒนาการทางภาษา ที่สมวัยของลูกกันเถอะ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 14 ส.ค. 62
8,345 Views

  Favorite

การที่เด็กคนหนึ่งจะพูดจาเป็นประโยค สื่อสารความรู้สึกกับคนรอบข้างได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบทางพัฒนาการในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางการได้ยิน หรือพัฒนาการด้านร่างกาย เช่น ประสาทหูมีการทำงานดีไหม หรือปากและลิ้นทำงานได้ปกติหรือเปล่า

 

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ความใส่ใจและคอยหากิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการที่รอบด้าน เพื่อส่งเสริมให้ลูกเกิดทักษะทางภาษาที่สมวัย วันนี้เรามีข้อสังเกตง่าย ๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่นำไปใช้ในการเฝ้าดูพัฒนาการทางภาษาของลูกมาฝากกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ตามเกณฑ์ปกติของพัฒนาการด้านการพูดของเด็กไทยพบว่าเริ่มพูดคำแรกเมื่ออายุ 9 เดือน - 1.6 ขวบ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและการเลี้ยงดูของพ่อแม่

อายุ 1.6 ขวบ

ถึงแม้จะยังพูดไม่ได้ แต่เด็กจะมีความเข้าใจภาษา เช่น แม่เรียกให้ “มานี่” แล้วลูกเดินมาหา หรือ แม่พูดว่า “หม่ำ ๆ” แล้วลูกรู้ว่าให้มากิน ในช่วงนี้พ่อแม่ควรเฝ้าดูว่าลูกมีพัฒนาการตามนี้หรือไม่ หากลูกไม่เข้าใจภาษาต้องรีบกระตุ้นการฟัง และการพูดโดยใช้ภาษากายเข้าช่วยอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ

อายุ 2 ขวบ

ถ้าเด็กยังไม่เริ่มพูด แสดงว่า “พัฒนาการทางการพูดล่าช้า” หรือมีความผิดปกติบางอย่างของสมองด้านการรับรู้และทำความเข้าใจทางภาษาแล้ว หรืออาจมีความผิดปกติของอวัยวะในช่องปากด้วย เนื่องจากการออกเสียงคำ หรือประโยคต่าง ๆ เกิดจากการควบคุมลม และบังคับปากและลิ้นให้ทำงานร่วมกัน ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรีบปรึกษาหมอด้านพัฒนาการ และนักแก้ไขการพูดเพื่อช่วยกระตุ้นลูกต่อไป

อายุ 3 ขวบ

แม้จะยังพูดไม่เป็นประโยค (มีประธาน กริยา กรรม) แต่เด็กควรมีการใช้ภาษาสื่อสารที่คนอื่นเข้าใจได้ หรือสามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เช่น ไปเล่น, หิวข้าว, อยากได้ แต่ถ้าพูดไม่เป็นภาษา หรือใช้ภาษาประหลาด พ่อแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือช่วยปรับพฤติกรรมการพูดให้ลูก

อายุ 5 - 6 ขวบ

เด็กจะสามารถเล่าเรื่องราวเป็นประโยคยาว ๆ ได้แล้ว โดยมีการเรียงประธาน กริยา และกรรมที่ถูกต้อง เริ่มมีการใช้คำศัพท์ที่หลากหลาย ใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อื่นได้ และมีความเข้าใจ วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มมีพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะทางภาษา และกระตุ้นให้ทักษะทางภาษามีการพัฒนามากขึ้นนั่นเอง

 

หากพ่อแม่สังเกตเห็นถึงพัฒนาการทางภาษาที่ผิดปกติของลูก หากลูกพูดไม่ได้ พูดช้า พูดไม่ชัด พูดติดอ่างจนคนรอบข้างไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่ต้องการสื่อสาร พ่อแม่ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ควรหาวิธีที่จะช่วยกระตุ้นและเสริมพัฒนาการที่ขาดหายไปให้กับลูก เพราะหากปล่อยไปจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ลูก เกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก ที่สำคัญทำให้ลูกเกิดปัญหาในการเข้าสังคมอีกด้วย

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow