Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เปิดโมเดลศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน กับ วัยใส ใส่ใจ Stroke นำร่องเฝ้าระวัง “ชุมชนทุ่งสมอ” ตั้งเป้าลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพระดับประเทศ

Posted By Plook Parenting | 07 ส.ค. 62
6,854 Views

  Favorite

สภาเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จับมือ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดตัวศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน หรือ Social Innovation & Youth (SIY)

 

รุกเฝ้าระวังอันตรายจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขในชุมชน หลังพบผู้ป่วย 4 หมู่บ้านใน ต.ทุ่งสมอ มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าครึ่งจากกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าลดอัตราการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงและการเสียชีวิตของชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ ยังร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนทุ่งสมอ อาทิ การทำขนมละมุด ขนมพื้นบ้านเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก การทำบายศรีดอกไม้สดจำหน่ายในวันสำคัญทางศาสนา และการอนุรักษ์ขบวนกลองยาวเพื่อจัดแสดงในงานพิธีสำคัญตามโอกาสต่าง ๆ  โดยศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ เป็น 1 ใน 34 โมเดลจากทั่วประเทศที่ร่วมโครงการ SIY ซึ่งขณะนี้ทุกโมเดลอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่

 

 

ทั้งนี้ การเปิดตัวศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จัดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ณ ที่ทำการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ “SIYPROJECT”

 

 

รองศาสตราจารย์ ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) และอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จับมือ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดแคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ เพื่อเป็นพื้นที่ของเด็กในชุมชนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของเด็กในท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างมีส่วนร่วม โดยมีเด็กและเยาวชนใน ต.ทุ่งสมอ ที่ร่วมกิจกรรมจำนวน 40 คน โดยประเดิมภารกิจแรก คือ การเฝ้าระวังอันตรายจากโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นภัยเงียบด้านสาธารณสุขในชุมชนที่เรื้อรังมานาน และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตของชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย

 

 

แคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke จัดขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนในศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ได้แสดงศักยภาพของตนเองในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ ด้วยการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด

 

 

นายณัฐพล แผนกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ กล่าวว่า แคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ จะเป็นโมเดลการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขระดับชาติ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง และที่สำคัญทุกกิจกรรมเริ่มต้นจากไอเดียของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานในพื้นที่ โดยปัจจุบันแคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ได้นำร่องในพื้นที่หมู่ 2 โดยได้ทำงานร่วมกับเบญจภาคี 5 ภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ ภาคเด็กและเยาวชน คือ คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ภาครัฐ คือ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งสมอ (รพ.สต.) ภาควิชาการ คือ โรงเรียนวัดทุ่งสมอ ภาคประชาสังคม คือ กลุ่ม อสม. และภาคเศรษฐกิจ คือ บานาน่าฟาร์ม และ ยูแอนด์มี  โดยจะนำข้อมูลการดำเนินงานในพื้นที่หมู่ 2 ไปขยายผลสู่หมู่บ้านที่เหลือใน ต.ทุ่งสมอ ต่อไป

 

 

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังสำรวจข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่แล้ว ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน และเจ้าหน้าที่รพ.สต. จะใช้โปรแกรม CVD Risk ในคอมพิวเตอร์ หรือ แอปพลิเคชัน Thai CV Risk Calculator ในสมาร์ทโฟน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคล โดยความเสี่ยงแบ่งเป็น 4 ระดับ เริ่มจากความเสี่ยงน้อยที่สุดเป็นแถบสีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดงตามลำดับ จากนั้น ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต. ทุ่งสมอ จะแจ้งภาวะเสี่ยงของแต่ละคนว่าอยู่ในระดับใด พร้อมแนะนำผู้ป่วยและผู้ดูแลในการดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อลดทอนภาวะเสี่ยงให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชน ยังร่วมแชร์ไอเดียและคิดค้น “อิไต๋ เตือนภัย” ที่มีลักษณะเป็นเกราะไม้ไว้ใช้ตีให้เกิดเสียง นำไปติดให้บ้านของผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงระดับสีแดง เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณให้เพื่อนบ้านรับรู้ โดยให้ชาวบ้านช่วยกันสังเกตุอาการ เมื่อรู้สึกว่าเริ่มชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า หรือแขน ขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ชัด มุมปากตก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นต้น โดยคณะกรรมการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต. ทุ่งสมอ จะติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงรายบุคคลทุกเดือน โดยใช้สมุดคู่มือการดูแลสุขภาพ เพื่อบันทึกความก้าวหน้าในการป้องกันกลุ่มเสี่ยง

 

 

ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก มาจากอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองตายในที่สุด ปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก ซึ่งองค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization: WSO) รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต โดยทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยกว่า 80 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่พิการจากโรคดังกล่าวกว่า 50 ล้านคน โดยมีสาเหตุจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. โรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และ ไขมันในเลือดสูง
  2. ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการรับประทานยา คือเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว จึงไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
  3. พฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ รับประทานอาหารสำเร็จรูป ใส่สารปรุงแต่งเป็นจำนวนมาก

 

 

และสำหรับประเทศไทย พบว่าช่วงปี 2555 – 2559 มีอัตราเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน เท่ากับ 31.7 , 35.9 , 38.7 , 43.3 และ 48.7 ตามลำดับ และอัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน ช่วงปี 2554 – 2558 เท่ากับ 330.60 , 354.54 , 366.81 , 352.30 และ 425.24 ตามลำดับ และพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของประชากรไทย คือทุก 6 วินาที จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อย 1 คน โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในพื้นที่ของ ต.ทุ่งสมอ มีกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 209 ราย พบว่ามีผู้ป่วยมากกว่าครึ่งของกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งแคมเปญ วัยใส ใส่ใจ Stroke ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน จะส่วนช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงและการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองศาสตราจารย์ ชานนท์ กล่าว

 

 

นอกจากการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขแล้ว คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนทุ่งสมอ อาทิ การทำขนมละมุด ตำนานขนมพื้นบ้านเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุตำบลทุ่งสมอ การทำบายศรีดอกไม้สด ร่วมกับกลุ่มประดิษฐ์ใบตองและดอกไม้สด เพื่อใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา และการอนุรักษ์ขบวนกลองยาว เพื่อจัดแสดงในงานพิธีสำคัญตามโอกาสต่าง ๆ

 

 

ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน ต.ทุ่งสมอ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้พัฒนายุทธศาสตร์เยาวชนกับนวัตกรรมทางสังคม ภายใต้ “โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน”  (Social innovation and youth) หรือ “SIY” ตามหลักคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยมีท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศจำนวน 34 แห่ง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเข้าไปที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “SIYPROJECT”

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow