Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาระสำคัญในพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย

Posted By Plook Teacher | 02 ก.ค. 62
18,617 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

หลังจากที่มีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องจากตัวแทนองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านเด็กปฐมวัย ในที่สุดพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พุทธศักราช 2562 ก็ได้มีผลบังคับใช้เมื่อเร็วๆนี้ และถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ได้หยุดยั้งเป้าหมายที่แรงกล้าขององค์กรเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในเรื่องของการงดการสอบเข้า ป.1 โดยสิ้นเชิง แต่ก็ทำให้เกิดความตระหนักรู้ในด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยแล้วสร้างให้เกิดหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่องของปฐมวัยขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ชัดเจนมากขึ้น

 

          ตลอดมาการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น ไม่ได้มีหน่วยงานใดเป็นผู้ที่ดูแลโดยเฉพาะ แต่อาจจะมีความเกี่ยวเนื่องตามภาระงานบ้าง เช่น ในการศึกษาปฐมวัยจะถูกรวมอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ดูแลเด็กแรกเกิดก็จะมีการวางแนวทางโดยกรมอนามัย เป็นต้น ทำให้การศึกษาปฐมวัยถูกสร้างขึ้นมาอย่างสะเปะสะปะ ขาดการบูรณาการ ใครอยากใส่อะไรลงมาก็ได้ เพราะไม่มีหน่วยงานใดกำกับ ทำให้การพัฒนาเด็กมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระยะยาว

          และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เกิดคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก (กอปศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง และเป็นไปตามข้อบังคับในรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยสามารถสรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญได้ดังนี้

 

          1. ส่งเสริมการบูรณาการงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน

          ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พุทธศักราช 2562 ในมาตราที่ 9 นั้น ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยอยู่ในการดูแลของ 4 กระทรวงหลัก อันได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น องค์กรด้านการศึกษา การศึกษาพิเศษ สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ และสื่อมวลชน อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีหน้าที่หลักในการจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย จัดทำมาตรฐาน สมถรรนะ ตัวชี้วัดและแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงซึ่งจากข้อกำหนดนี้ ทำให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นและมีหน่วยงานที่บูรณาการร่วมดูแลอย่างชัดเจน

 

          2. มีแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเน้นการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้ และเป็นหลักประกันในการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยไม่มุ่งเน้นการสอบแข่งขัน

          เด็กปฐมวัยตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีบริบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ การดูแล (Care) การพัฒนา (Development) และ การจัดการเรียนรู้ (Education) ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ครอบคลุมทั้งตัวเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน ครูผู้สอนในระดับปฐมวัย ผู้ที่ทำงานกับเด็กปฐมวัย รวมไปถึงท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งต้องมีบทบาทในส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่อีกด้วย โดยการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น จะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ สร้างเจตคติที่ดี มีเตรียมความพร้อมตามวัย และที่สำคัญที่สุดคือต้องพัฒนาโดยไม่มุ่งเน้นให้เด็กปฐมวัยต้องสอบแข่งขัน อันเป็นหัวใจสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้เลยก็ว่าได้

 

          3. มุ่งเน้นให้เกิดการจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยและจัดทำข้อมูลเด็กปฐมวัย

          หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแล้ว ภาระงานอย่างหนึ่งที่คณะกรรมคณะนี้ต้องดำเนินการคือ การจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องมีการกำหนดกรอบ การบริหารจัดการแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงระบุหน่วยที่รับผิดชอบและติดตามผล ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สนับสนุนแผนงานและโครงการการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ดูแลความปลอดภัยและคุ้มครองเด็กปฐมวัยให้พ้นจากการล่วงละเมิด พัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความสามารถ และสุดท้ายคือจัดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย

 

          4. ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย

          พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลและจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาการศึกษาปฐมวัย โดยในมาตรา ๒๓ นั้น ได้ระบุว่า ในการผลิตครูหรือพัฒนาครูด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเพื่อดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตามหลักการและปรัชญาของการพัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในการพัฒนาผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาผู้ดูแลเด็กปฐมวัยจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นผู้ดูแลเด็ก มีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการดูแลเด็กปฐมวัยตามหลักการพัฒนาเด็กปฐมวัย

 

          5. กำหนดบทบาทของหน่วยงานต่างๆในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

          ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะมีการระบุหน้าที่ของหน่วยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน อาทิเช่น ในมาตรา 24 ซึ่งระบุว่า สถานพยาบาลของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชนที่มีหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขแก่หญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย ต้องจัดให้มีการให้บริการสุขภาพแก่มารดาและบุตรอย่างทั่วถึง โดยให้บริการวางแผนครอบครัว การอนามัยเจริญพันธุ์ การฝากครรภ์การเตรียมความพร้อมการเป็นบิดามารดา ตลอดจนให้บริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การส่งเสริมโภชนาการ การส่งเสริมพัฒนาการ และการส่งเสริมการให้นมมารดาแก่บุตรตั้งแต่แรกเกิดอย่างน้อยหกเดือน

หรือ ในมาตรา 25 สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีหน้าที่จัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย ต้องจัดให้มีการอบรมเลี้ยงดู เพิ่มพูนประสบการณ์ ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ และจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดให้มีการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยที่เหมาะสมในช่วงรอยต่อตั้งแต่ก่อนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          ต้องยอมรับว่าพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พุทธศักราช 2562 นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย ที่จะได้มีหน่วยงานเฉพาะที่ดำเนินการในด้านนี้โดยตรง ทำให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความเป็นเอกภาพและชัดเจนมากยิ่งขึ้น และยังถือเป็นชัยชนะของผู้ที่ทำงานด้านเด็กปฐมวัยที่ต้องการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีการพัฒนาที่ดีและเหมาะสมตามวัย มากกว่าที่จะให้ใครใส่อะไรลงไปก็ได้ และแม้ว่าชัยชนะนี้อาจจะไม่ได้เป็นชัยชนะที่เด็ดขาด แต่ก็ทำให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยกลายเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติที่ทุกคนควรต้องหันมาใส่ใจอย่างจริงจังกันเสียที

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.thaiedreform.org/knowledge/1099/

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0005.PDF

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow