Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มีอะไรน่าสนใจใน พรบ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

Posted By Plook Teacher | 02 ก.ค. 62
7,120 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

          ตลอดมาเรื่องของการศึกษาไทย เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันแทบจะทุกสมัย นับตั้งแต่มีการกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และถึงแม้ว่าจะเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่การปฏิรูปการศึกษาของไทยก็ยังเป็นเรื่องที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

 

          ถึงแม้ว่าตลอดว่า เราจะดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 กันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประจวบกับประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงจำเป็นจะต้องมีพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ที่ตอบสนองกับสังคมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน โดยในมาตราที่ 54 วรรคที่ 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ระบุถึงเรื่องของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเอาไว้ว่า

 

          รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับและ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วยและเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นี้ ก็ถึงเวลาที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

 

          ร่างพระราชบัญญัติแห่งชาติ ฉบับใหม่นี้ หน่วยงานสำคัญที่เป็นผู้เสนอร่างคือ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จำนวน 25 คน ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 โดยมีหน้าที่จัดทำร่าง และพิจารณาข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างเกี่ยวกับกฎหมายด้านการศึกษาเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และได้เปิดโอกาสรับฟังความเห็นตั้งแต่วัน 5 มีนาคม 2562 ซึ่งจากฉบับร่างจนถึงฉบับปรับปรุงตามความคิดเห็น ผู้เขียนสามารถสรุปประเด็นสาระสำคัญที่น่าสนใจคร่าวๆ ได้ดังนี้

 

แบ่งการส่งเสริมด้านการศึกษาตามช่วงวัย

          ตามที่ปรากฎในร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฉบับใหม่ที่คณะกรรมการได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ (แต่ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณารับฟังความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ต) ได้ระบุในมาตรา 8 ถึงเรื่องของการส่งเสริมนักเรียน โดยแยกออกเป็น 7 ช่วงวัยคือ แรกเกิดถึง 1 ปี 1-3 ปี 3-6 ปี 6-12 ปี 12-15 ปี 15-18 ปี และระดับอุดมศึกษา ซึ่งการระบุเช่นนี้ทำให้การพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาสามารถตอบสนองกับเด็กและเยาวชนในแต่ะกลุ่มได้มากขึ้น

 

          แบ่งการจัดการศึกษาเป็น 3 ระบบ

          พระราชบัญญัติฉบับนี้แบ่งการจัดการศึกษาออกเป็น 3 ระบบคือ

          1. การศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ คือ การศึกษาตามระดับขั้น ตั้งปต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมุ่งเน้นให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย โดยจะจัดในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา จัดโดยบุพการีหรือผู้ปกครองหรือโดยวิธีการอื่นใดที่กระทรวงศึกษาธิการกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย

          2. การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความถนัดของตน สําหรับการประกอบอาชีพ หรือสําหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว สังคม หรือเพื่อประโยชน์แห่งความรอบรู้ของตนเองโดยอาจจัดให้มีใบรับรองคุณวุฒิตามความเหมาะสมได้

          3. การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การดําเนินการด้วยวิธีการใด ๆเพื่อให้บุคคลเรียนรู้ในเรื่องที่ตนสนใจได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นหรือวิธีการอื่นใดที่มิใช่เป็นการบังคับ ที่จะเอื้ออํานวยให้บุคคลมีช่องทางในการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและสะดวก และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้โดยง่ายโดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร สามารถเพิ่มพูนความรู้ได้อย่างกว้างขวาง รู้เท่าทันพัฒนาการของโลกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และนําความรู้ไปเติมเต็มชีวิตให้แก่ตนเอง และเกิดประโยชน์ต่อสังคม

 

ให้สิทธิในการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล

          การจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล คือการจัดการเรียนการสอนที่บ้าน ซึ่งสามารถจัดโดยลำพังหรือจัดร่วมกันโดยกลุ่มผู้ปกครองก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ได้รับความนิยมพอสมควร โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่นี้ ได้ระบุ ในมาตรา 11 หัวข้อที่ 2 ว่า บุพการีหรือผู้ปกครองมีสิทธิจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้แก่ผู้สืบสันดานหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความปกครองของตนได้ โดยจะจัดโดยลําพังหรือร่วมกันจัดก็ได้ ซึ่งจากข้อความนี้ ทำให้ผู้ปกครองสามารถที่จะจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลได้ ตั้งแต่อายุ 1 ปี ถึง 18 ปี เลยทีเดียว

 

เปลี่ยนจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นครูใหญ่

          นับว่าเป็นประเด็นร้อนที่กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องความเป็นธรรมและริดรอนสิทธิของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพราะในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษา ได้เปลี่ยนจากคำที่เคยใช้ว่า ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นคำว่า ครูใหญ่ ซึ่งเคยใช้กันมาแต่เดิม ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องของวิทยฐานะของผู้บริหาร และยังให้สิทธิแต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดมาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ก็ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นครูมาก่อน สร้างความไม่พอใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาล่าสุดได้เพิ่มข้อความใน มาตราที่ 38 ว่า ให้ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครูในสถานศึกษาของรัฐได้รับเงินเดือนเงินวิทยฐานะ เงินประจําตําแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครูอาจมีระดับตําแหน่งเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น ครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่อาจมีชื่อตําแหน่งเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้ ซึ่งจากข้อความนี้ ทำให้สถานศึกษาสามารถเรียกผู้บริหารสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า ครูใหญ่ และยังเป็นการย้ำเรื่องของสิทธิและค่าวิทยฐานที่ยังคงได้เช่นเดิม

 

เปลี่ยนจากใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู

          อีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงในพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เรื่องของการเปลี่ยนการใช้คำว่าใบประกอบวิชาชีพครูที่ใช้มาแต่เดิม เป็นใบรับรองความเป็น ครู ซึ่งหลายท่านมองว่าเป็นการทำลายความเป็นวิชาชีพชั้นสูงและลดค่าความเป็นครูอย่างมาก โดยมีการกำหนดเกี่ยวกับใบรับรองความเป็นครูในมาตราที่ 37 ดังนี้

          1. ครูซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 (2) (3) (4) (5) และ (6) (ข) ต้องมีใบรับรองความเป็นครู เว้นแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและจัดกระบวนการเรียนรู้วิชาหนึ่งวิชาใดเป็นการเฉพาะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกําหนด

          2. ภายใต้บังคับมาตรา 33 และมาตรา 35 การกําหนดมาตรฐานความเป็นครู การออก การพักใช้ และการเพิกถอนใบรับรองความเป็นครู และการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของความเป็นครู ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่คุรุสภาต้องนําผลการศึกษาวิจัยตามมาตรา ๓๖ มาเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งในการออกใบรับรองความเป็นครู

          3. ใบรับรองความเป็นครูให้ใช้ได้ตลอดไป แต่ครูต้องเข้ารับการพัฒนาตามระยะเวลาที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

 

          จะสังเกตได้ว่าถึงแม้ว่าผู้ออกใบอนุญาตหรือเพิกถอนสิทธิยังคงเป็นคุรุสภาเช่นเดิมตามกฎหมายและดูเหมือนว่าใบรับรองจะทดแทนคำว่าใบประกอบวิชาชีพได้ แต่ถ้าดูตามตัวบทกฎหมายแล้ว ก็เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้เรียนสายครูมาตรงสามารถทำงานเป็นครูได้เลยโดยไม่ต้องมีใบรับรอง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเช่นไรและจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมและไม่กระทบกับคนที่เรียนสายครูมาโดยตรง

 

ให้สิทธิการจัดการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ

          พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ ให้สิทธิในการบริหารของโรงเรียนในสังกัดของรัฐค่อนข้างมาก โดยจะต้องมีอิสระ 4 ประการคือ อิสระในการบริหารสถานศึกษา อิสระในการจัดกระบวนการเรียนรู้ อิสระในการบริหารการเงินและการใช้จ่ายเงิน และ อิสระในการบริหารงานบุคคล นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน ในระดับประถมศึกษา (6-12 ปี) สถานศึกษาจะต้องไม่ใช่วิธีสอบเข้าหรือคัดเลือกด้วยวิธีการใด ยกเว้นแต่มีความประสงค์จะเรียนมากกว่าสิทธิที่พึงได้ ให้ใช้วิธีจับฉลาก ส่วนในระดับมัธยมศึกษา สามารถจัดสอบคัดเลือกได้ แต่ต้องเป็นไปโดยการวัดความรู้เดิมของนักเรียนเป็นสำคัญ

     

          สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่นี้ เป็นการปรับปรุงจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูปการศึกษา และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถึงแม้ว่าพระราชบัญบัติการศึกษาแห่งชาติจะมีสิ่งที่ทั้งถูกใจหรือไม่ถูกใจไปบ้าง แต่ก็มีมุมมองที่น่าสนใจที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาควรศึกษาเพิ่มเติมเป็นอย่างยิ่ง


 

เอกสารอ้างอิง

https://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=53195&Key=news6

https://www.thairath.co.th/news/politic/1408721


 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow