Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย

Posted By Plook Teacher | 02 ก.ค. 62
28,296 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

          ในการแข่งขันที่ยุติธรรม เราทุกคนจะเริ่มจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน มีระยะทางและจุดหมายเดียวกัน ถึงจะวัดได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ แต่ในโลกความเป็นจริงคำว่ายุติธรรมนั้น แทบจะไม่มีให้เห็นเพราะแต่ละคนล้วนมีต้นทุนชีวิตที่ติดตัวมากแตกต่างกัน บางคนมีต้นทุนชีวิตที่ดี ก็เสมือนเข้าใกล้ความสำเร็จมากกว่าคนที่มีต้นทุนชีวิตที่จำกัด แต่ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จ เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางครั้งปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวกับต้นทุนชีวิตเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่ากันตรงนี้เองที่เป็นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำในหลาย ๆ ส่วน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องของการศึกษา

 

          สาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น รองศาสตราจารย ดร. เปรื่อง กิจรัตนภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้เอ่ยถึงสาเหตุความความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไว้ในบทความที่ชื่อว่า “ความเหลื่อมล้ำาทางการศึกษาไทย : ที่มาและทางออก” โดยกล่าวว่าที่มาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยนั้น มาจากสองแหล่ง คือ

          1. จากสภาพสังคมไทย โดยมี 3 ประเด็นหลัก คือ เรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อการส่งเด็กมาเรียน เรื่องของภูมิลำเนาที่ห่างไกลต่อระบบการศึกษา และเรื่องของวัฒนธรรมในครอบครัวที่ไม่สนับสนุนการศึกษาให้กลับบุตรหลาน

          2. จากการจัดการศึกษา โดยมี 3 ประเด็นหลัก คือ เรื่องของการจัดสรรงบประมาณและกำลังคนด้านการศึกษาที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบการศึกษา เรื่องของการจัดสรรอัตราครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนและพื้นที่ และเรื่องของระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของนักเรียน

 

          การศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจ เป็นแรงผลักดันสำคัญเพื่อให้เกิดการพัฒนาภายในประเทศ โดย นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กล่าวถึงมิติใหญ่ ๆ 3 มิติเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา ในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย : ข้อสรุปจากผลการสอบปิซ่า (PISA)” ซึ่ง 3 มิติที่กล่าวถึงมี ดังนี้

          1. มิติด้านปริมาณ ซึ่งหมายรวมถึง การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา (Mankiw, Romer and Weil, 1992) และการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยให้กับนักเรียน/นักศึกษา เพื่อที่จะได้รับความรู้ที่มากเพียงพอในการสนับสนุนการทำงานในอนาคต (Barro and Lee, 1993)

          2. มิติด้านคุณภาพ ซึ่งหมายถึง คุณภาพการเรียน การสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มข้น และสอดคล้องกับการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต (Hanushek and WoBmann, 2007)

          3. มิติด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึง ความแตกต่าง ในผลลัพธ์ของการศึกษา ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆที่มากกว่าแค่คุณภาพของการเรียนการสอน แต่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

 

          โดยทั้ง 3 มิตินี้ นายนณริฏ มองว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่ดีนั้น จะต้องมีการพัฒนาทั้ง 3 มิตินี้ไปพร้อมๆกัน จะเน้นมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดเราพัฒนาแต่เชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว คือ เน้นให้เด็กเข้ามาในระบบการเรียนจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีระบบรองรับ อาจทำให้เรามีแรงงานจำนวนมากที่ไม่สอดคล้องกับตลาด หรือการพัฒนาที่เน้นเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยให้ทรัพยากรเท่ากันในทุกโรงเรียน ก็จะเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเช่นเดียวกัน ถ้าเรามัวแต่มองเรื่องของคุณภาพ โดยเน้นแต่ผลคะแนนการประเมินผลลัพธ์ทางการศึกษา ก็รับรองได้ว่าปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะหนักหนามากขึ้น

 

          จากแนวคิดขั้นต้น ถ้าสังเกตในระบบการศึกษาของไทยจะพบว่า การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้ง 3 มิติมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 ที่กล่าวถึงการส่งเสริมการศึกษา โดยมีทั้งการจัดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบการศึกษาตามความต้องการและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล รวมถึงจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาด้านศึกษาที่ค่อนข้างชัดเจน แต่กลับพบว่าการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของประเทศไทยนั้นไม่มีความสอดคล้องกัน ทำให้การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของไทยนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งนับว่าจะมีแนวโน้มการเหลื่อมล้ำที่มากยิ่งขึ้น

 

          ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาค่อนข้างมากระหว่างภูมิภาค รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยในรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าอัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net enrolment rate) ในกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมปลาย (รวม ปวช.) สูงถึงร้อยละ 70.1 ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับระดับมัธยมปลาย (รวม ปวช.) เพียงร้อยละ 38.9 เท่านั้น

 

          ส่วนอัตราการเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี พบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net enrolment rate) ในกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) สูงถึงร้อยละ 62.8 ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) เพียงร้อยละ 3.6

 

          จากการประเมิน PISA ครั้งที่ผ่านพบว่าประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านวิทยาศาสตร์ 421 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) การอ่าน 409 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) และคณิตศาสตร์ 415 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 490 คะแนน) และมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ 436 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 500 คะแนน) โดยกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนน 559 คะแนน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุดห้าอันดับแรก (Top 5) และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนน 520 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

 

          ซึ่งจากข้อมูลขั้นต้นและผลการประเมินของ PISA จะพบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการศึกษาไทย เพราะถึงจะมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ แต่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นยังมีอยู่เฉพาะในวงจำกัด ซึ่งหากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้

 

          สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษานั้น ครูที่มีความตั้งใจและคุณภาพนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลงได้ ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่สอดคล้องในเรื่องนี้ ได้แก่การที่สำนักงานวิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ได้ทำการวิจัยต่อเนื่องกว่า 20 ปี กับนักเรียน 2.5ล้านคน พบว่า คุณภาพของ “ครู” นั้นมีผลต่อเด็กในเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยหลังจากนักเรียนได้รับคำแนะนำในการศึกษาเล่าเรียน และติวเข้มจากบุคลากรครูที่มีมาตรฐานวิชาการสูง ส่งผลให้คะแนนข้อสอบวัดระดับมาตรฐานเพิ่มขึ้น

 

          คุณภาพด้านวิชาการของบุคลากรวิชาชีพครูอาจารย์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จของลูกศิษย์ โดยไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในการเรียนการศึกษามากกว่านักเรียนโดยเฉลี่ยแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานได้เงินเดือนที่สูง นอกจากนี้ นักเรียนที่มีโอกาสเป็นศิษย์ของครูอาจารย์ที่มีคุณภาพยังมีสถิติในการตั้งครรภ์ในช่วงวัยเรียนน้อยลงอีกด้วย นั่นหมายความถึงนักเรียนมีการเรียนรู้ในด้านสังคมที่เหมาะสมมากขึ้นนั้นเอง

 

          ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย นอกจากจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องมองว่าเป็นงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแล้ว ครูก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้นได้ ดังนั้นการปฏิบัติตนที่ดีของครู ทั้งในด้านคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ นับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยฉุดดึงนักเรียนที่แม้ว่าจะประสบปัญหาต่างๆจนส่งผลต่อการเรียน ให้สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาทัดเทียมกับคนอื่นได้

 

          ดังนั้น ครูจึงเสมือนเป็นสายน้ำอันอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สามารถช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงามได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำกัดว่าจะหย่อนเมล็ดลงที่ใด เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำหมายถึงผืนดินที่แตกต่างกันแล้ว แม้เมล็ดพันธุ์จะถูกหย่อนท่ามกลางผืนดินที่แห้งแล้งจนแทบจะเป็นทะเลทราย สายน้ำที่ขึ้นชื่อว่าครูก็อาจจะช่วยให้มันเติบโตเป็นต้นไม้สูงเด่นท่ามกลางความแห้งแล้งนั้นก็เป็นได้


 

เอกสารอ้างอิง

https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=2647

https://thai-inequality.org/

http://apps.qlf.or.th/member/UploadedFiles/prefix-15082557-113331-p19D4A.pdf

https://pisathailand.ipst.ac.th/news-8/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow