Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นกับลูกอย่างไร ให้ฉลาดสมวัย (ตอนที่ 3)

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 21 มิ.ย. 62
9,644 Views

  Favorite

เพราะการเล่นคือ กิจกรรมหลักในวัยเด็ก ถ้าได้รับการส่งเสริมให้เล่นอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ให้กับลูกได้

 

วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงการเล่นตามวัยที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกกันต่อค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ขั้นพัฒนาการ ‘การเล่น’ ของเด็กแต่ละวัย

ขั้นที่ 5 Associate Play (3 - 4 ปี)

เด็กวัย 3 - 4 ปีเริ่มเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นระหว่างการเล่น แต่จะยังไม่มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบอะไรกันมากนัก เพราะเด็ก ๆ ยังคงให้ความสนใจกับกิจกรกรรมหลักที่ตนเองสนใจอยู่ แต่สามารถเล่นร่วมกับเพื่อนได้ในสิ่งที่มีความสนใจเหมือนกัน แต่การเล่นจะไม่ซับซ้อน เช่น เมื่อเห็นม้าโยกแล้วอยากเล่นเหมือนกัน พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้ที่จะต่อแถวเพื่อขึ้นไปเล่นต่อจากเพื่อน หรือเมื่อเล่นทรายในบ่อเดียวกัน เด็กสามารถเล่นกับเพื่อนโดยอาจจะดูว่าเพื่อนสร้างอะไร แล้วอาจจะสร้างตาม เป็นต้น แต่ยังไม่ใช่การเล่นที่มีกติกาที่ซับซ้อน หรือมีการตกลงร่วมกันเพื่อแบ่งปัน หรือผลัดกันเล่น

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นของเด็กวัย 3 - 4 ปี คือ การสอนเขาเรื่อง ‘การรอคอย’ และ ‘การผลัดกันเล่น’ ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะรอคอยบ้าง หรือสอนให้ลูกรู้จักปฎิเสธ เมื่อมีคนอื่นมาแย่งของลูก ให้ลูกเริ่มเรียนรู้การรักษาสิทธิ์ของตนเอง อย่าบังคับให้ลูกต้องสละของชิ้นนั้นให้เพื่อนถ้าเขาไม่ยินยอม และการเคารพกติกาเป็นสิ่งสำคัญของการเล่นกับผู้อื่น กติกาง่าย ๆ ใช้ได้เสมอ

ขั้นที่ 6 Cooperative Play (4 ปีขึ้นไป)

ในวัย 4 ปีขึ้นไป เด็ก ๆ เริ่มสนใจเล่นกับเด็กคนอื่น (ที่วัยใกล้เคียงกับพวกเขา) พวกเขาอยากทำกิจกรรมร่วมกัน เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้การตอบโต้พูดคุยกับเด็กคนอื่น การผลัดกันเล่น การแบ่งหน้าที่กันทำงาน และการแบ่งปันกันในช่วงนี้ ถ้าพวกเขาอยากเล่นด้วยกันพวกเขาจะต้องฝึกการประนีประนอม ดังนั้นเด็ก ๆ ที่ได้เล่นกับเด็กคนอื่นจะเรียนรู้ ‘การให้ (เพื่อจะได้เล่นด้วยกัน)’ ‘การอดทนรอคอย (ให้ถึงตาตัวเอง)’ และ ‘การต่อรอง (เพื่อจะได้เล่นที่ตนและผู้อื่นอยากเล่นด้วย)’ ในช่วงวัยนี้ลูกจะได้พัฒนาทักษะทางสังคมอย่างมาก ถ้าหากพ่อแม่สนับสนุนให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่น

สิ่งสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นของเด็กวัย 4 ปีขึ้นไป คือ ‘การสื่อสาร’ ‘การเคารพกติกาทางสังคม’ ‘การแบ่งปัน’ ถ้าหากเด็กอยากเล่นกับเด็กคนอื่น เขาจะเรียนรู้การลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางลง เพื่อที่จะได้เล่นร่วมกับผู้อื่น เขาต้องเคารพกติกาของกลุ่ม และเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน

 

ในวัยนี้ การเล่นเป็นกลุ่มจึงมีความสำคัญมากต่อการช่วยกระตุ้นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน เพราะทักษะจะเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างการเล่น เด็กเรียนรู้หลายอย่างจากการเล่นด้วยกัน เพราะพวกเขาจะได้ใช้จินตนาการสร้างสรรค์การเล่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะควบคุมและปรับพฤติกรรมตนเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกเติบโต และใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างมีความสุข

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow