Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นกับลูกอย่างไรให้ฉลาดสมวัย (ตอนที่ 1 )

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 21 มิ.ย. 62
7,125 Views

  Favorite

ในวัยเด็ก นอกจากการเลี้ยงดู ให้ความรัก และความเอาใจใส่จากพ่อแม่แล้ว สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้ง่าย ๆ ก็คือ การเล่นกับลูก ค่ะ

 

วันนี้เราจะมาพูดถึงขั้นพัฒนาการการเล่นของเด็กแต่ละวัย เพื่อทำความเข้าใจ และช่วยส่งเสริมการเล่นที่เหมาะสมให้กับลูกได้  โดยไม่ต้องซื้อของเล่นราคาแพงกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ขั้นพัฒนาการ ‘การเล่น’ ของเด็กแต่ละวัย

ขั้นที่ 1 Unoccupied Play (เด็ก 0 - 3 เดือน)

เด็กวัยนี้จะเล่นผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขยับแขนขา หน้าตา และการสำรวจสภาพแวดล้อมรอบร่างกายตนเอง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และเมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการการตอบสนองจากพ่อแม่ ควรได้รับการตอบสนองทันที การทำเช่นนี้บ่อยครั้งจะช่วยให้ลูกค่อย ๆ เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรส่งเสริมการเล่นของเด็กวัย 0-3 เดือน คือ การตอบสนองที่เพียงพอและเหมาะสมของผู้ที่ดูแลเด็กเป็นหลัก (Primary care giver - พ่อแม่และผู้ปกครอง) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถวางใจ เรียนรู้ และเล่นเพื่อเติบโตต่อไป

ของเล่นที่ควรเน้น สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน คือ การเล่นที่ส่งเสริมการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสเป็นหลัก เช่น การสัมผัสจากคุณพ่อคุณแม่ ของเล่นที่มีสีสันสดใส หรือมีเสียงดังชัดเจน โดยที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้อย่างหลากหลาย ด้วยวิธีปฏิบัติง่าย ๆ  แม้ขณะกำลังเลี้ยงลูก เช่น ตอนอาบน้ำ ก็สามารถร้องเพลง และนวดสัมผัสให้ลูกอย่างนุ่มนวล นวดผ่อนคลายให้ลูก เล่นปูไต่ พูดคุยกับลูก และร้องเพลงให้ลูกฟัง

ขั้นที่ 2 Solitary Play (เด็ก 3 เดือน - 2 ปี)

เมื่อย่างเข้าสู่วัย 2 ปี การเล่นยังต้องอาศัยการเล่นร่วมกับผู้อื่น เพื่อช่วยให้เกิดความสนุกสนาน เขาจะยังใช้ร่างกายเพื่อการเล่น หรือค้นหาการตอบสนองจากคนรอบตัว เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ เด็กจะเอาผ้าคลุมตัวเอง แล้วโผล่หน้าออกมา หากคนรอบตัวหรือผู้ใหญ่รอบตัวเขาเล่นด้วยโดยการส่งเสียง ทำหน้าทำตาตอบสนองการเล่นของเขา เด็กก็จะได้มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้เด็กวัยนี้ยังต้องการการเล่นที่ใช้ร่างกายตอบสนอง เช่น การกอด การหอม การเป่าพุงให้เกิดเสียง และการเล่นอื่น ๆ ที่ใช้ร่างกายในการเล่น และไม่ซับซ้อนจนเกินไป เป็นการเล่นเเบบ Cause and effect play คือ การเล่นที่ได้รับการตอบสนองทันที เช่น กดปุ่มแล้วได้ยินเสียงเพลง เสียงสัตว์ กลิ้งบอลไปแล้วมีคนรับแล้วส่งกลับมาให้เขา เป็นต้น

 

และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเล่นของเด็กวัย 0 - 2 ปี ให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาการสูงสุด ก็คือ การที่พ่อแม่ได้ใช้เวลาเล่นกับลูกด้วยตนเอง

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow