Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Computing Science วิชาแห่งศตวรรษที่ 21

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
15,980 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

            วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing science) เป็นวิชาที่พัฒนามาจากวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่แต่เดิม โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้วิชานี้เป็นวิชาบังคับ โดยต้องเรียนตั้งแต่ ป. 1 – ม. 6 โดยข้อแตกต่างระหว่างวิชาวิทยาการคำนวณกับวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเดิมนั้น คือ เด็กจะเรียนแค่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปหรือการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน แต่วิชาใหม่จะสอนลงลึกถึงกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและสามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมเรื่องของการใช้สื่อเทคโนโลยีที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันและมีประสบการณ์ในการเขียนโปรแกรม (Coding) เบื้องต้นอีกด้วย

            

วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) มีเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้อง 3 องค์ประกอบ อันได้แก่

            1. วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science: CS) คือเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) รู้จักแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ สามารถแบ่งปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อย ๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น สามารถใช้จินตนาการมองปัญหาด้วยความคิดเชิงนามธรรม ทำให้เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและมีลำดับวิธีคิด

            2. เข้าใจศาสตร์ดิจิทัล (Digital Literacy: DL) คือเน้นให้ผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) รู้จักเทคนิควิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตัลที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน

            3. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology: ICT) คือเน้นให้ผู้เรียนรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (media and information literacy) แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            ด้วยสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งทุกๆประเทศต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญตรงจุดนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ได้มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นมาซึ่งเน้นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพื่อชิงความได้เปรียบในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่ละประเทศจึงพยายามพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ตอบสนองต่อการเติบโตตรงจุดนี้ ซึ่งการกำหนดให้วิชาวิทยาการคำนวณเป็นวิชาบังคับในประเทศไทยก็นับเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนของประเทศ

 

            การเรียนวิทยาการคำนวณ แม้ว่าจะเน้นเรื่องของการเขียนโปรแกรมและการใช้เทคโนโลยี แต่เป้าหมายของการเรียนวิชานี้ ไม่ได้เน้นว่านักเรียนจะต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ เขียนโปรแกรมได้ทุกคน แต่เป็นการหล่อหลอมให้ผู้เรียนมีทักษะความคิดที่เป็นระบบ (Systematic) ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้น อิงหลักการทำงานด้วยความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นขั้นตอน การเรียนวิชาวิทยาการคำนวณจะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้จักโครงสร้างคำตอบและเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาหรือทำงานต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบแบบแผน ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีโอกาสทำงานได้สำเร็จลุล่วงมากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังสร้างให้นักเรียนเป็นคนที่รู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีและและสามารถเลือกรับสื่อที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเองได้

 

            ต้องยอมรับว่าการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำสิ่งต่าง ๆ คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กสมัยนี้ เพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบและสามารถเข้าถึงได้ง่ายดังที่ รศ. ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาของสสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วิชานี้ กล่าวว่า เด็กที่เกิดในยุคดิจิตอลนั้นเขาก็จะเป็น DIGITAL NATIVE หมายความว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา ที่จะเรียนรู้หรือใช้คอมพิวเตอร์ได้เป็น

 

            จากคำกล่าวนี้เอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จำเป็นจะต้องปรับปรุงวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศแบบเดิมนั้นอาจไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เพราะในขณะที่เรายังสอนให้นักเรียนจับเมาส์ เปิดปิดเครื่อง เขาอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ได้ดีและเกินกว่าวิชาที่สอนไปไกลมากแล้วก็ได้ และเราจะมัวเสียเวลาสอนเรื่องที่นักเรียนรู้แล้วอยู่ทำไม เราควรใช้โอกาสนี้ส่งเสริมให้เขามีทักษะทางเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจะดีกว่า

 

            ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 การมีความฉลาดในการสื่อสาร รู้จักอัพเดตทุกข้อมูลข่าวสาร รู้เท่าทันสื่อ และรอบรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ ล้วนมีความสำคัญอย่างมากกับยุคสมัยนี้ เพราะเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราแทบจะทุกอย่าง การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เปิดสอนวิชาวิทยาการคำนวณในโรงเรียนตั้งแต่ ป. 1- ม. 6 นั้น นับเป็นการตื่นตัวที่สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีให้กับประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมต่อการพัฒนาประเทศตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และทำให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดต่อการพัฒนาในสังคมโลกท่ามกลางศตวรรษที่ 21 นี้ได้อย่างสมบูรณ์

 

            การออกกแบบวิชานี้นับได้ว่า เป็นการคิดในเชิงก้าวหน้า คือ มองถึงการพัฒนาในอนาคตมากกว่าที่จะมองแค่ปัจจุบัน หลายท่านอาจมองถึงความเหมาะสมและความยากของวิชาซึ่งอาจไม่เข้ากับวัยของนักเรียน ซึ่งนักเรียนอาจไม่เข้าใจและทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แต่ถ้าลองเปิดใจศึกษาศาสตร์ของวิชาให้ถ่องแท้ เราอาจทำให้วิชานี้สนุกและมีคุณค่ากับนักเรียน ซึ่งคุณค่านี้จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะต่อไปนี้จะเป็นยุคใครเร็วใครได้ ใครใช้เทคโนโลยีได้ดีกว่า เร็วกว่า และฉลาดกว่าก็เป็นผู้ชนะไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://school.dek-d.com/blog/coding/kidcoding/computational-science/

https://www.facebook.com/SparkCodingAcademy/posts/3-%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%931-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89-computer-science-coding-and-engineering-/2042379172697556/

https://campus.campus-star.com/education/62881.html

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow