Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เยาวชนกับความหลากหลายทางเพศ

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
5,761 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

                 ในเช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ณ บาร์ Stonewall Inn ย่านกรีนวิช วิลเลจ ในช่วงที่ความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ได้เกิดจลาจรขึ้นระหว่างกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ และจากชนวนเหตุนี้เอง ทำให้เกิดการชุมนุมและเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ที่เมืองนิวยอร์ก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์  Stonewall จนในที่สุด ในปี ค.ศ. 2000 นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัญ ณ ขณะนั้น ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน’ (Gay & Lesbian Pride Month) และใน ค.ศ. 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBT ทำให้เดือนมิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride Month) สำหรับคนทั่วโลก

 

                 กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) นั้นประกอบด้วย กลุ่ม lesbian (เลสเบี้ยน)  gay (เกย์) bisexual (ไบเซ็กชวล) และ transgender/transsexual (คนข้ามเพศ) ซึ่งสมัยก่อนนั้น คนกลุ่มนี้เคยถูกระบุว่ามีความผิดปกติทางจิต แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศแล้วว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้ถือเป็นความผิดปกติทางจิตอีกต่อไป

 

                 หลายประเทศเริ่มเปิดกว้างและยอมรับตัวตนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา และบางส่วนในเอเชียที่ให้สิทธิกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานและจดทะเบียนได้ ส่วนในด้านการส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในสหราชอาณาจักรก็กำลังจะมีสอนหลักสูตรความหลากหลายทางเพศให้แก่เด็กประถม โดยระบุในหลักสูตรภาคบังคับว่าด้วยการมีสัมพันธภาพที่ดีและเพศศึกษา (relationships and sex education - RSE) และความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ซึ่งจะเริ่มสอนในเดือน ก.ย.ปี 2020 นี้ แม้ว่าจะมีการต่อต้านจากผู้ปกครองกลุ่มอนุรักษ์นิยมบ้าง แต่ก็นับว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่ช่วยให้เด็กเข้าใจและใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

                 สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อให้สิทธิกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานและดูแลทรัพย์สินร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ยังไม่อนุญาตเรื่องรับบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ ร่วมถึงการไม่ได้สวัสดิการและการลดหย่อนภาษี ทำให้แม้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีสิทธิมากขึ้นแต่ก็มีหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าที่ควรในปัจจุบันนี้ มีเด็กหลายคนที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายทางเพศ และมีถึงหนึ่งในสามที่โดนรังแกในโรงเรียน โดยในงานวิจัยขององค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล, ยูเนสโก และมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเกือบหนึ่งในสามของนักเรียนที่ระบุตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (LGBT) เคยมีประสบการณ์ว่าถูกทำร้ายร่างกาย โดยร้อยละ 29.3 ระบุว่าตัวเองเคยถูกกระทำทางวาจา นอกจากนี้มีถึงร้อยละ 7 ของผู้ที่ถูกรังแก ที่เคยพยายามจะฆ่าตัวตายจากการโดนรังแกดังกล่าว

 

                 นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า โรงเรียนในประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายหรือมาตรการเฉพาะที่จะป้องกันปัญหาการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการรับมือต่อปัญหาแบบเฉพาะหน้าและลงโทษผู้กระทำผิดเมื่อได้รับทราบเหตุการณ์เท่านั้น ซึ่งทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

 

                 อีกส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน อันส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นั่นคือการมีครูหรือผู้ดูแลเด็กในโรงเรียนเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งมักจะถูกมองว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็ก และอาจจะส่งผลให้เด็กอยากเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว ผลกระทบนี้เกิดจากความกลัวและความไม่เข้าใจ ซึ่ง ครูเคท คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ นักเคลื่อนไหวด้าน LGBT จากบทสัมภาษณ์ เรื่อง “สังคมไทยยอมรับ LGBT แบบมีเงื่อนไข กำแพงปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ ในมุมมองของครูเคท” ของเว็บไซต์ Thematter ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในตอนหนึ่งว่า เป็นเพราะสังคมไทยขาดการอธิบาย การให้ความรู้ เรื่องความเป็นเพศที่หลากหลาย เด็กหลายคนยังไม่เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความกลัวว่าครูที่เป็น LGBT จะทำให้เด็กอึดอัด และมีพฤติกรรมเลียนแบบ แต่จริงๆ เด็กอย่างเรา เด็กที่เป็น LGBT ก็ไม่ได้เลือกเลียนแบบว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชายตามพ่อแม่ ดังนั้นพฤติกรรมเลียนแบบจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ถ้าครูแป็นกะเทย นักเรียนก็จะเป็นกะเทยด้วย

 

                 จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศไทยจะยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็มีหลายคนที่ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความแปลกแยกและไม่เหมาะสม ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เข้าใจและอคติส่วนตัว ซึ่งควรได้รับการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่ผิดแปลกอะไรในสังคมยุคสมัยนี้ ผู้เขียนมองว่า ครอบครัวถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีให้กับเด็ก ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการให้ข้อมูลกับเด็กถึงความแตกต่างของบุคคลและแสดงการปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นเดียวกับทุกๆคน รวมถึงยอมรับตัวตนที่เด็กเป็น ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็ควรจะเป็นสังคมจำลองที่แสดงให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงแนวทางในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นโดยมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตนต่อสนองในเรื่องนี้ได้อย่างดี

 

                 ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ ความมีสิทธิเท่าเทียมกันถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ คนปกติ คนพิการ เพศชาย เพศหญิง หรือแม้แต่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ล้วนแล้วแต่มีสิทธิเท่าเทียมกันนั่นคือ สิทธิความเป็นมนุษยชน มันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรส่งเสริมเรื่องของความเสมอภาคของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้กับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยให้มองกลุ่มคนกลุ่มนี้เฉกเช่นเดียวกับการมองบุคคลทั่วไป ไม่ได้มองด้วยความรังเกียจหรือตลกขบขันอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

 

                 อย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างมากมาย จนเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทยในหลาย ๆ เรื่อง แต่ประเทศเรากับมองพวกเขาแปลกแยกมากกว่าที่จะมองพวกเขาเฉกเช่นเดียวกับเรา ทำไมต้องแบ่งแยก ? ทำไมมีแค่หญิงกับชาย ? ถ้าเราก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถพูดว่า เป็นประเทศที่มีอารยะ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจเลยทีเดียว

 

เอกสารอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8

https://www.bbc.com/thai/international-48509936

https://thestandard.co/news-world-come-out-lgbt-pride-before-bangkok-pride-2017/

http://3c4teen.org/?p=1960

https://thematter.co/pulse/lgbt-inequality-with-krukath/48901

https://www.prachachat.net/d-life/news-276539

https://voicetv.co.th/read/HJVbWd8ZX

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow