Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ “ลูก” กลายเป็นพี่คนโต

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 26 เม.ย. 62
3,889 Views

  Favorite

เรื่องราวของความเป็น “ลูกคนโต” และ “น้องคนเล็ก” ของบ้าน มักถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวของ “พี่คนโต” ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพี่แกล้งน้อง พี่มีภาวะถดถอยทางอารมณ์ และพัฒนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความกังวลของพ่อแม่ในทุกยุคทุกสมัย

 

 

แต่...พ่อแม่เคยทราบไหมคะว่า ทำไมปัญหาเหล่านี้ถึงเกิดขึ้น ทำไมลูกที่น่ารักของเราถึงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเมื่อเขามีน้อง วันนี้เราจะมาหาสาเหตุของสิ่งเหล่านี้กันค่ะ

 

ภาพ : Pixabay

 

เมื่อกลายเป็นพี่ ลูกถูกบอกว่า “ต้องโต” ขึ้น

พ่อแม่มักบอกกับลูกตลอด เมื่อเขากำลังจะมีน้องว่า “ลูกจะเป็นพี่แล้ว ลูกต้องโตขึ้น” ลูกต้องไม่งอแงแล้วนะ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ในบางครั้ง ลูกอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองขนาดนั้น ทำไมเขาถึงงอแงไม่ได้ ร้องไห้ไม่ได้เมื่อมีน้อง เพราะในวัยเด็กการแสดงอารมณ์ หรือการบอกความรู้สึกในบางอย่าง เขาอาจจะอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ ดังนั้นการแสดงความรู้สึกด้วยการร้องไห้ หรือการแสดงออกทางร่างกายบ้างอย่าง จึงเป็นการสื่อสารของลูกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจ และให้ความใกล้ชิดกับลูกเช่นเดิม

เมื่อกลายเป็นพี่ ลูกถูกบอกว่า “ต้องแบ่งปัน”

ในวัยเด็กที่ต่ำกว่า 5 ขวบลงมา การบอกให้ “แบ่งปัน” อาจเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กในวัยนี้ โดยเฉพาะการแบ่งปันของรัก ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ของใช้ อาหาร รวมไปถึงพ่อแม่ ดังนั้นคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ลูกจะรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกแย่งของรัก หรือแย่งความรักไป ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการที่พ่อแม่ต้องพยายามให้พื้นที่กับลูกเช่นเดิม ให้ความรักลูกเท่าเดิม ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการดูแล หรือให้ความรักกับน้อง และในบางกรณีที่พ่อแม่ต้องการนำสิ่งของที่เคยเป็นของเขาไปให้น้อง พ่อแม่ควรจะถามถึงความสมัครใจ หรือขออนุญาตลูกก่อน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยรักษาความรู้สึกของการเป็นที่รัก และยังเป็นการสอนให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องการแบ่งปันไปด้วย

เมื่อกลายเป็นพี่ ลูกถูกบอกให้ “ดูแล” คนอื่น

ในบางครอบครัว มักมอบหน้าที่ของการเป็น “ผู้นำ” และ “ผู้ดูแล” น้องให้กับพี่ ดังนั้นพี่จึงกลายเป็นผู้ที่จะต้องรับ “ผิด” ชอบ ในตัวน้องไปเสียทุกเรื่อง เมื่อมีปัญหาพี่จะเป็นคนที่จะต้องถูกตำหนิก่อนน้องไปเสียหมด ซึ่งในบางครั้งพ่อแม่อาจจะลืมไปว่า การที่ลูกกลายเป็นพี่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีประสบการณ์หรือมีความพร้อมในการดูแลคนอีกหนึ่งคน การให้พี่ช่วยดูแลน้องนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เด็กอย่างไร ก็คือ เด็ก ความสามารถหรือวุฒิภาวะในบางอย่างของเขา ยังไม่สามารถที่จะดูแลหรือปกป้องใครได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่

 

ในวัยเด็กนั้น ทุกการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้เสมอ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้ภาวะการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่รุนแรงหรือไม่ส่งผลเสียกับลูกก็คือ การที่พ่อแม่มีความเข้าใจ ใส่ใจ และให้เวลาในการช่วยกันประคับประคองอารมณ์ของลูก ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ รอเวลาที่เขาจะเติบโตและมีความพร้อมอย่างอดทนและเข้าใจนั่นเอง

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow