Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลำดับผู้บริโภคที่ได้รับพิษสูงสุด

Posted By Guide NT | 26 เม.ย. 62
120,141 Views

  Favorite

หากพูดถึงลำดับการบริโภคแล้ว คงหนีไม่พ้นการบริโภคของสิ่งมีชีวิตต่อกันเป็นทอด ๆ เพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารจากสิ่งมีชีวิตที่ได้บริโภคเข้าไป สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ห่วงโซ่อาหาร”

 

โดยห่วงโซ่อาหารจะประกอบไปด้วยผู้ผลิตและผู้บริโภคลำดับต่าง ๆ ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นพืชและเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร จากนั้นก็จะมีสิ่งมีชีวิตหนึ่งมากินพืช จึงจะกลายเป็นผู้บริโภคลำดับที่ 1 และเมื่อมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมากินผู้บริโภคลำดับที่ 1 สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะกลายเป็นผู้บริโภคลำดับที่ 2 เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่หลายคนน่าจะเคยเรียงลำดับของผู้บริโภคไปเรื่อย ๆ เป็นสายยาว จนอาจจะมีลำดับผู้บริโภคมากกว่า 5 หรือ 6 ลำดับ และจบด้วยมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย แต่ประสิทธิภาพในการถ่ายทอดพลังงานของสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งในห่วงโซ่อาหาร จะสามารถถ่ายทอดได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ตามกฎ 10 เปอร์เซ็นต์ (Law of ten percent)

 

กฎ 10 เปอร์เซ็นต์มีใจความว่า “พลังงานศักย์ที่สะสมในรูปเนื้อเยื่อของผู้บริโภคแต่ละลำดับขั้น จะน้อยกว่าพลังงานศักย์ที่สะสมในเนื้อเยื่อผู้บริโภคลำดับขั้นต่ำกว่าที่ถัดกันลงมาประมาณ 10 เท่า” หมายความว่า จะมีพลังงานเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกสะสมอยู่ในพืช ส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึม ดังนั้น ผู้ที่มาบริโภคสิ่งมีชีวิตหนึ่งจะได้รับพลังงาน 10 เปอร์เซ็นต์จากสิ่งมีชีวิตนั้น ซึ่งก็คือลำดับผู้บริโภคก่อนหน้าลำดับของตน

 

กฎ 10 เปอร์เซ็นต์ อธิบายได้ง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น พืชได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ 10,000 kcal จากนั้นมีตั๊กแตนมากินพืช ตั๊กแตนจะได้รับพลังงานจากพืชแค่ 1,000 kcal เมื่อมีกบมากินตั๊กแตน กบจะได้พลังงานจากตั๊กแตน 100 kcal เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตามกฎ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหากมีผู้บริโภคลำดับสูงมาก ๆ ผู้บริโภคลำดับนั้นอาจจะไม่ได้รับพลังงานเลย

 

ในทางกลับกันหากเปลี่ยนพลังงานเป็นสารพิษแล้ว ผู้บริโภคลำดับสูง ๆ จะได้รับสารพิษสะสมมากกว่าผู้บริโภคลำดับล่าง ๆ เนื่องสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ดีดีที ปรอท แคดเมียม เหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สร้างพลังงานให้แก่เซลล์ของสิ่งมีชีวิต แต่จะถูกสะสมอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้น และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามการบริโภค แล้วถ่ายทอดไปให้ผู้บริโภคตามลำดับการกิน (Biomagnification) โดยผู้บริโภคลำดับสุดท้ายจะได้รับปริมาณสารพิษมากที่สุด เช่น แพลงก์ตอนสัตว์สะสมสารพิษในร่างกายไว้ 0.05 ppm แล้วมีปลาขนาดเล็กมากินแพลงตอนสัตว์ไป 10 ตัว ปลาขนาดเล็กจะมีสารพิษสะสมในร่างกาย 0.5 ppm จากนั้นมีปลาขนาดใหญ่มากินปลาขนาดเล็กไป 10 ตัว ปลาขนาดใหญ่จะมีสารพิษสะสมในร่างกาย 5 ppm และสุดท้ายมีนกมากินปลาขนาดใหญ่ไป 3 ตัว นกจึงมีสารพิษสะสมในร่างกาย 15 ppm

 

จะเห็นได้ว่าหากเรารับประทานอาหารที่มีสารพิษเจือปน ซึ่งส่วนใหญ่มนุษย์จะเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย ดังนั้น เราจึงได้รับสารพิษสะสมในร่างกายมากที่สุดและบางครั้งอาการป่วยจากสารพิษเหล่านี้จะยังไม่แสดงในทันที เพราะฉะนั้นแล้วเราควรเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด แหล่งผลิตน่าเชื่อถือ และไม่ควรรับประทานอาหารแบบเดิม ๆ ซ้ำกันเป็นเวลานาน

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- ห่วงโซ่อาหาร (Food chain) คืออะไร
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow