Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คำนี้ได้ยินบ่อย ย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร ? ต้องไปหาหมอมั้ย ?

Posted By Jkulisara | 31 ม.ค. 62
6,111 Views

  Favorite

สวัสดีค่ะสาว ๆ  วันนี้เรานำเอาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพใจมาฝากกัน ทุกคนน่าจะเคยได้ยินวลีที่ว่า “ย้ำคิดย้ำทำ” กันอยู่บ่อย ๆ ใช่ไหมคะ 

 

บางคนพูดอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะโดนเพื่อนว่า “ย้ำคิดย้ำทำจังเลยนะเธอ” หรือใครที่รอบคอบมาก ๆ จนต้องเช็คอะไรซ้ำ ๆ เช่น ปิดแก๊สหรือปิดน้ำแล้วหรือยัง รวมไปถึงคนที่รักสะอาดมาก ๆ ชนิดว่าโดนอะไรนิดหน่อยก็ต้องล้างมือโดยด่วน อาจถูกเหมารวมว่ามีอาการย้ำคิดย้ำทำ แต่ทราบไหมคะว่า วลี “ย้ำคิดย้ำทำ” นี้ยังเป็นที่เข้าใจผิดกันอยู่มาก คนที่มีอาการหรือเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำจริง ๆ นั้นต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่เป็นคนรอบคอบหรือขี้กังวลธรรมดาเท่านั้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

 

ภาพ : thefix.com

 

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) หรือที่เรียกกันว่า OCD  คือโรคที่ผู้ป่วยจะมีความคิดซ้ำ ๆ ซึ่งความคิดดังกล่าวจะก่อให้เกิดความกังวลใจอย่างมาก และผู้ป่วยจะตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความกังวลใจดังกล่าว โดยที่ผู้ป่วยเองทราบดีว่าการกระทำหรือความคิดดังกล่าวนั้นไม่สมเหตุสมผล แต่ไม่สามารถหยุดทั้งความคิดและการกระทำของตนเองได้

 

อาการเป็นยังไง ?

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ แบ่งได้เป็น 2 อย่าง คือ

ภาพ : spiritgroups.org

 

1. อาการย้ำคิด (Obsession)

เป็นความคิดแปลกปลอมหรือจินตนาการของผู้ป่วยที่ผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ ทำให้เกิดความกังวลใจ โดยที่ตัวผู้ป่วยทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล เช่น คิดว่ามือสกปรก คิดว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อคประตูบ้าน คิดว่าลูกหรือสามีเสียชีวิต หรือมีจินตนาการเกี่ยวกับสิ่งผิดศีลธรรมซ้ำ ๆ เช่น คิดว่าตนเองเปลือยในที่สาธารณะ คิดว่าไปลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ควรเคารพ ความคิดและจินตนาการเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลใจอย่างมาก และผู้ป่วยจะตอบสนองด้วยอาการต่อไป คือ อาการย้ำทำ

2. อาการย้ำทำ (Compulsion)

เป็นการกระทำซ้ำ ๆ ที่ผู้ป่วยทำตอบสนอง อาการย้ำคิด เพื่อลดความกังวลใจที่เกิดขึ้น หรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ขึ้นตามความคิดซ้ำ ๆ นั้น เช่น เมื่อย้ำคิดว่ามือสกปรก ผู้ป่วยจะต้องล้างมือซ้ำ ๆ เมื่อคิดว่าลืมปิดแก๊สหรือล็อคประตู ผู้ป่วยจะต้องเช็คแก๊สและล็อคประตูซ้ำ ๆ เมื่อคิดว่าลูกหรือสามีตาย ผู้ป่วยจะพูดบทสวดมนต์ซ้ำ ๆ เพื่อเป็นการแก้เคล็ด หรือป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

 

ภาพ : usatoday.com

 

ที่ผู้ป่วยต้องกระทำอาการย้ำทำซ้ำ ๆ นั่นก็เพราะ เมื่อย้ำทำแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายใจขึ้นเพียงระยะหนึ่ง จากนั้นไม่นานอาการย้ำคิดหรือความคิดร้าย ๆ เหล่านั้นก็จะกลับมาใหม่ ทำให้ผู้ป่วยต้องคอยย้ำทำเพื่อแก้ไขความคิดนั้นซ้ำ ๆ วนไปวนมาเช่นนี้ วัน ๆ เสียเวลาเป็นชั่วโมง เช่น เช็คแก๊สหรือล็อคประตูทั้งวัน ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานมาก บางรายไม่สามารถไปทำงาน เรียนหนังสือ หรือใช้ชีวิตตามปกติได้ เห็นไหมคะว่าอาการย้ำคิดย้ำทำจริง ๆ แล้วแตกต่างจากความรอบคอบปกติมาก

 

คิดอะไรอย่างนั้น เป็นโรคจิตหรือเปล่า ?

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะรู้สึกสับสนว่า ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นเป็นโรคจิตหรือเปล่า ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงเกิดเชื่อว่ามือตัวเองสกปรก หรือคิดว่าตัวเองเปลือยในที่สาธารณะ ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า โรคทางจิตเวช แบ่งได้กว้าง ๆ เป็น 2 ประเภทคือ โรคจิต และ โรคประสาท ความแตกต่างของโรคทั้งสองประเภทนี้คือ ผู้ป่วยโรคประสาทจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมและตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ตามปกติ รับรู้ความเป็นจริงได้ ส่วนผู้ป่วยโรคจิตจะขาดความรับรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รับรู้ความเป็นจริง และใช้ชีวิตในสังคมไม่ได้ตามปกติ ซึ่งโรคย้ำคิดย้ำทำ ถือเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง นั่นหมายถึงผู้ป่วยยังรับรู้ความเป็นจริง และรู้ผิดชอบชั่วดี เช่นเดียวกับคนปกติคนอื่น ๆ

 

ภาพ : health.clevelandclinic.org

 

เปรียบเทียบง่าย ๆ หากมีผู้ป่วยโรคจิต เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งจะมีอาการหลงผิดและหวาดระแวง ผู้ป่วยจิตเภทอาจเชื่อว่าพี่สาวของเขาเป็นมนุษย์ต่างดาวปลอมตัวมา เชื่อแบบสนิทใจและมีอาการหวาดระแวงโวยวายเมื่อพี่สาวเข้าใกล้ ส่วนผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ อาจมีความคิดแปลกปลอมว่าพี่สาวของตนเองเป็นมนุษย์ต่างดาวปลอมตัวมา แต่รู้ดีอยู่ว่าไม่เป็นความจริง จึงต้องย้ำทำซ้ำ ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าพี่สาวไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว พอจะเห็นความแตกต่างของผู้ป่วยสองคนนี้ใช่ไหมคะ

 

สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ

ภาพ : carehospitals.com

 

มีการค้นพบว่าผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ มีการทำงานของสมองเพิ่มขึ้นในบางส่วนของสมอง และมีความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน (Serotonin) นอกจากนี้ยังพบว่าพันธุกรรมมีผลต่อการเกิดโรคนี้ด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดอาการย้ำคิด คือ การเกิดภาวะเงื่อนไข โดยสถานการณ์ปกติถูกเชื่อมโยงกับสถานการณ์อันตราย จึงทำให้เกิดความกังวล และผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการย้ำทำช่วยให้ความกังวลลดลงได้ ถึงแม้จะเพียงชั่วคราวเท่านั้น เช่น ชายคนหนึ่งเคยลืมปิดแก๊สและทำให้เกิดไฟไหม้บ้าน หลังจากนั้นเขาจึงเกิดความกังวลขึ้นซ้ำ ๆ ว่าจะลืมปิดแก๊สอีก ทำให้ต้องเช็คแก๊สซ้ำ ๆ นั่นเองค่ะ

 

การรักษา

ภาพ : themuse.com

 

หากอ่านดูแล้วรู้สึกตัวว่าอาการเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับเรา ก็อย่าลังเลที่จะไปพบจิตแพทย์นะคะ เพราะโรคย้ำคิดย้ำทำจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์อาจจะรักษาด้วยยา ซึ่งจะช่วยปรับการทำงานของสมองให้เป็นปกติ หรือใช้พฤติกรรมบำบัดเข้าช่วย หรืออาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน ซึ่งการทำพฤติกรรมบำบัดเป็นวิธีที่ได้ผลค่อนข้างดีค่ะ

พฤติกรรมบำบัด ทำได้โดยให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวลใจ โดยไม่ต้องทำพฤติกรรมย้ำทำเพื่อลดความกังวลใจนั้น เช่น หากผู้ป่วยคิดว่าลืมปิดแก๊ส ก็ให้อดทนอยู่กับความกังวลใจนั้นโดยไม่ต้องรีบไปเช็คแก๊สเหมือนแต่ก่อน รอสัก 5-10 นาทีแล้วจึงอนุญาตให้ไปเช็คแก๊สได้ และเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5-10 นาที ไปจนเป็นชั่วโมง ซึ่งช่วงแรก ๆ ผู้ป่วยจะมีความกังวลใจมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ว่าถึงแม้ไม่ทำพฤติกรรมย้ำทำ เรื่องร้ายที่กังวลเหล่านั้นก็ไม่ได้เกิด ความกังวลใจของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง อาการย้ำคิดย้ำทำลดลง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติมากขึ้นค่ะ

 

ไม่ว่าเราจะรู้สึกผิดปกติทางใจหรือกังวลด้วยเรื่องอะไรก็ตาม และไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ถึงแม้จะไม่ได้ป่วยเป็นโรคก็ตาม การเลือกไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์นั้นเป็นทางเลือกที่ดีมากนะคะ เพราะจะได้ช่วยให้เราจัดการความเครียดได้อย่างถูกวิธี จนไม่พอกพูนสะสมและส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาวค่ะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Jkulisara
  • 1 Followers
  • Follow