Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรให้ครูเป็นที่รักของนักเรียน

Posted By Plook Teacher | 29 ม.ค. 62
20,616 Views

  Favorite

นายนรรัชต์  ฝันเชียร

            เส้นทางของการเป็นครูนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนการศึกษาอย่างเหมาะสมแล้ว ทักษะและความสามารถที่ส่งเสริมการทำงานในอาชีพครูก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นครูจะต้องมี เช่น การกล้าแสดงออก การพูดในที่สาธารณะ ทักษะในการถ่ายทอด การอธิบาย และรวมไปถึง การปฏิสัมพันธ์และวางตัวอย่างเหมาะสมกับนักเรียนด้วย 

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการทำงานค่อนข้างมาก เพราะด้วยอาชีพครูนั้น จำเป็นต้องทำงานกับเด็กและเยาวชนในวัยของการเข้ารับการศึกษา จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ถูกเพ่งเล็งจากบุคคลทั่วไป ทั้งจากตัวนักเรียนเอง ผู้ปกครอง หรือรวมถึงบุคคลภายนอกที่อาจมองดูด้วยความรู้สึกผิวเผิน ซึ่งการวางตัวในฐานะของครูต่อลูกศิษย์โดยสนิทชิดเชื้อหรือห่างเหินกับนักเรียนเกินไป ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อตัวครูไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นเราเองในฐานะที่เป็นครูก็ควรที่จะต้องวางตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี มีจรรยาบรรณและในขณะเดียวกันก็ต้องนึกถึงจิตใจของนักเรียนในความดูแลเป็นสำคัญด้วย เพราะผลจากการปฏิสัมพันธ์ที่ดีของครูที่มีต่อนักเรียนนั้น จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความไว้วางใจและส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นผลดีต้องการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องต่างๆได้เป็นอย่างดี

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            สำหรับลักษณะของครูที่นักเรียนไม่ชอบ ถ้าได้มีโอกาสไปถามผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ ผมเชื่อว่าคงมีคำตอบมากมายร้อยแปดพันเก้าอย่าง ซึ่งแตกต่างไปตามคุณวุฒิและวัยวุฒิของผู้เรียน ในช่วงวัยหนึ่ง เราอาจชอบครูที่มีเรื่องเล่าที่สนุกสนานมากมาย แต่พอมาอีกช่วงวัยหนึ่งเราก็อยากได้ครูที่สามารถสอนได้เข้าใจง่าย เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวตนของผู้เรียน ณ ขณะนั้น ว่าถูกจริตกับครูที่มีบุคลิกลักษณะเช่นไร หรือแม้กระทั่งในแต่ละวิชาเอง เราก็มักจะอยากได้ครูที่สอนในสาขาวิชานั้นๆ ไม่เหมือนกัน  แต่ถ้าให้สรุปรวม จากที่ได้อ่านบทความหรือผลสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจึงได้นำข้อมูลที่พูดถึงลักษณะของครูที่นักเรียนไม่ชอบ มาร้อยเรียงเป็นบทกลอน ออกมาได้ดังนี้

 

ทำหน้าบึ้งโกรธขึงอยู่เป็นนิจ                    จะถูกผิดก็ไม่คิดไม่ฟังเหตุผล

ถือตัวสูงเป็นใหญ่กว่าทุกคน                    เดี๋ยวก็บ่นเดี๋ยวก็ด่าระอาใจ

เจอนักเรียนเหมือนเจอหมาอารมณ์ขึ้น       ชีกเป็นที่หนึ่งรับไม่ได้

ไม่เข้าสอนทำงานนอกอู้สบาย                  มาก็สายกินเวลาไม่ใส่ใจ

สอนไม่ดีพางงไม่รู้เรื่อง                          ไม่ปราดเปรื่ององค์ความรู้เป็นเรื่องใหญ่

เลือกที่รักมักที่ชังนั้นปะไร                       เป็นพ่อค้าแม่ขายในคราบครู

ไม่ปรับตัวหลงยุคดึกดำบรรพ์                   ถือไม้เรียวฟัดกันน่าอดสู

ความรู้ใหม่ไม่สนใจหรือใคร่รู้                    เหมือนว่าตูเก่งแล้วไม่สนใจ

สั่งการบ้านมากมายเกินอัตรา                   ใช้เวลาทั้งวันทำทันไหม

ประจานเด็กโจ่งแจ้งแถลงไป                    สร้างให้เด็กอับอายไม่น่าดู

ถึงครูคือปุถุชนธรรมดา                          แต่ก็แบกศรัทธาที่เลิศหรู

ครูดังกล่าวไร้ค่าคำว่าครู                         ศิษย์จะขู่บอกว่าน่าไม่อายถ

 

            จากบทกลอนที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ จะเห็นถึงคุณลักษณะของครูบางประเภทที่ปฏิบัติตนกับลูกศิษย์ไม่เหมาะสม ซึ่งในสมัยก่อนนั้น นักเรียนอาจไม่ค่อยจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากครูผู้สอนมากเท่ากับยุคปัจจุบันที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมสังคมมากขึ้น ดังนั้นครูที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับนักเรียน นอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน ก็อาจจะถูกฟ้องร้องในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่ออาชีพครูเป็นอย่างมาก ครูทุกคนจึงควรระมัดระวังและสำรวจพฤติกรรมของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่ไว้ซึ่งแนวทางของความเป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียนอย่างเหมาะสม

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะเป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียน ? สำหรับการจะตอบคำถามนี้ ผมขอหยิบยกหลักธรรมในพุทธศาสนามาเป็นหลักในการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียน ซึ่งหลักธรรมที่ผมยกมาใช้ในการพัฒนาตัวเองนั้น คือ พรหมวิหาร 4

 

            พรหมวิหาร 4 คือหลักธรรมประจำใจที่ใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม อันประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ซึ่งถ้าหยิบยกมาอธิบายในมุมมองของการพัฒนาตัวเองของครู ก็สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. เมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาดี ซึ่งในความเป็นครูนั้น จะต้องมีไมตรีจิตอันดีเช่นนี้ต่อนักเรียนเป็นที่ตั้ง มีความมุ่งหมายและปรารถนาให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพและเติบโตเป็นคนดีของสังคม ไม่ใช่จงเกลียดจงชังนักเรียน ถึงแม้ว่านักเรียนบางคนอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ตาม

2. กรุณา คือ ความสงสารและปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ปกตินักเรียนแต่ละคนต่างๆก็มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน เด็กบางคนเพียงแค่อธิบายเล็กน้อยก็สามารถปฏิบัติได้อย่างดี แต่ก็มีหลายคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากครูผู้สอน โดยการที่คุณครูมีหลักธรรมตั้งมั่นอยู่บนความกรุณานี้ จะช่วยให้คุณครูมองปัญหาหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนอย่างแท้จริง และมองเรื่องนั้นเป็นเรื่องควรแก้ปัญหา มากกว่าจะมองเป็นภาระ

3. มุทิตา คือ ความยินดี ต่อความสุขของผู้อื่น ซึ่งในที่นี้คือเรื่องของนักเรียน การที่ครูรู้จักชมเชยด้วยความจริงใจกับสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้ นอกจากจะทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปในแนวทางที่ดีแล้ว การพูดคุยชมเชยยังนับว่าเป็นแรงเสริมที่ช่วยให้นักเรียนอยากแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมนั้นซ้ำๆ อีกด้วย

4. อุเบกขา คือการวางใจเป็นกลาง ถึงแม้ว่าเราจะสนิทกับนักเรียนมากขึ้นเพียงไรก็ตาม แต่ความเป็นครูก็ควรตั้งมั่นในเรื่องของอุเบกขาด้วย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล เพราะถือเป็นวัดศักยภาพของผู้เรียนตามสภาพจริง ซึ่งถ้าคุณครูมีความเอนเอียงต่อการประเมินแล้ว นอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวนักเรียนเอง ยังส่งผลเสียต่อการทำงานของครูอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่อง

 

            จากหลักธรรมนี้ จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4 ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก เพราะเป็นหลักธรรมที่สามารถทำได้ทั่วไป ไม่ว่าใครก็สามารถนำหลักธรรมนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ และเมื่อเรานำหลักธรรมนี้มาเป็นหัวใจในการประกอบอาชีพครู นอกจากเราจะเป็นที่รักของบรรดาลูกศิษย์แล้ว ก็จะส่งผบต่อความเจริญก้าวหน้าในบทบาทหน้าที่การทำงานอีกด้วย

 

            หลายคนอาจมองว่า การเป็นครูที่เป็นที่รักของนักเรียน ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรต่อการส่งเสริมการศึกษาเท่าไหร่นัก เพราะมองว่า อย่างไรเสียนักเรียนก็มีหน้าที่มาเรียนหนังสืออยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่จะดีกว่าไหม ถ้านักเรียนมาเรียนด้วยจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน มากกว่าที่จะมาเรียนด้วยความรู้สึกหดหู่ การปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชัดเจน แต่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักเรียนไม่มากก็น้อย เมื่อสภาพจิตใจของนักเรียนพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมไปกับครูเฉกเช่นนี้แล้ว มันก็ง่ายที่จะจัดการศึกษาที่น่าสนใจให้เขาไม่ใช่หรือ ?

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow