Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การนอนละเมอเกิดจากอะไร

Posted By Amki Green | 25 ม.ค. 62
58,310 Views

  Favorite

คุณเคยถูกถามจากคนรอบข้างหรือไม่ว่า เมื่อคืนเธอพูดว่าอะไรนะหรือเมื่อคืนเธอพูดกับใคร โดยที่เรานั้นไม่รู้สึกตัว ถ้ามีคนพูดแบบนี้กับคุณ นั่นแสดงว่า เมื่อคืนคุณมีอาการของการละเมอซะแล้ว ดังนั้น วันนี้เราจะมีไขข้อข้องใจกันว่า การนอนละเมอเกิดจากอะไร

 

อาการละเมอพูด

การละเมอพูดหรือในทางวิทยาศาสตร์รู้จักกันในชื่อ Somniloquy คือความผิดปกติของการนอนหลับ ซึ่งมักจะมีอาการพูดแบบไม่รู้สึกตัวในขณะที่กำลังนอนหลับ การละเมอพูดสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ เช่น พูดพึมพำเบา ๆ พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัดเจน ไม่สามารถจับประเด็นจากการพูดได้ หรือสามารถพูดได้อย่างชัดถ้อยชัดคำจนสามารถเล่าเป็นเรื่องยาว ๆ ได้

 

การละเมอพูดมักเกิดขึ้นเอง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นโดยที่มีคนอื่นมาพูดด้วยในขณะกำลังนอนหลับอยู่ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากน้ำเสียงที่ใช้ในการพูด กล่าวคือน้ำเสียงที่ใช้พูดขณะที่ละเมอจะมีความแตกต่างจากน้ำเสียงที่พูดในขณะที่ตื่นเป็นปกติ

 

สาเหตุของการละเมอพูด

ส่วนสาเหตุของการละเมอพูดนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของการละเมอได้ ซึ่งบางทีสาเหตุของการนอนละเมออาจจะมาจากครอบครัว พันธุกรรม หรือเกิดขึ้นในช่วงที่จิตใจได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด มีอาการป่วยไข้ ความเครียด ความกังวลหรือตกอยู่ในสภาวะกดดัน สามารถนำไปสู่อาการละเมอได้ นอกจากนี้แล้วอาการละเมอยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมีโอกาสเกิดขึ้นในเด็กช่วงอายุประมาณ 3 - 10 ปี ได้มากกว่าผู้ใหญ่

 

เนื้อหาที่คนมักจะพูดขณะที่ละเมอนั้นเป็นการสุ่มเรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ วัน โดยที่บางครั้งไม่สามารถจับประเด็นในเนื้อหาที่พูดได้

ภาพ : Shutterstock

 

การละเมอพูดนั้นเกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่เป็นอันตรายจนถึงขั้นที่ต้องไปพบแพทย์ ซึ่งการละเมอของคนส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและเกิดขึ้นเอง แต่จะมีเพียงบางอาการที่จะนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพในอนาคต เช่น

1. REM sleep behavior disorder (RBD) เป็นความผิดปกติในการนอน เช่น ละเมอเตะ ต่อยอย่างรุนแรง ตะโกนออกมาในขณะที่กำลังฝัน เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วในขณะที่กำลังนอนหลับ สมองจะสั่งการให้กล้ามเนื้อหยุดทำงาน เพื่อป้องกันการแสดงออกทางร่างกายในขณะที่กำลังฝัน เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ แต่คนที่เป็น RBD กล้ามเนื้อจะไม่หยุดทำงาน และสามารถที่จะแสดงออกทางร่างกายในขณะที่กำลังฝัน ส่งผลให้อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตนเองหรือผู้ที่นอนด้วย

2. Night terrors เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก (ต่ำกว่า 7% ในเด็กและประมาณ 1% ในผู้ใหญ่) บุคคลที่เป็น Night terrors มักถูกทำให้ตื่นโดยการทำงานของระบบประสาท ตื่นมาด้วยความหวาดกลัว สับสน ประกอบกับมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงและมีเหงื่อออกมาก ซึ่งอาการดังกล่าวจะแตกต่างจากการฝันร้าย นอกจากนี้คนที่มีอาการดังกล่าวจะไม่สามารถจดจำเรื่องราวความหวาดกลัวนั้นได้ และอาจจะมีอาการกรีดร้องหรือเตะต่อยอย่างรุนแรง คล้าย RBD ขณะที่เกิด Night terrors ซึ่งแตกต่างจากการฝันร้ายปกติที่กล้ามเนื้อจะไม่ทำงาน ทำให้ไม่เกิดการแสดงออกทางร่างกาย

ภาพ : Shutterstock

 

หากคุณมีลักษณะสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน หวาดกลัว มีเหงื่อออกมาก หรือมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเช่น เตะ ต่อยอย่างรุนแรงดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งถ้าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการผิดปกติจากการนอนหลับ แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการเพื่อทำการรักษาต่อไป

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หวังว่าผู้อ่านหลายคนคงจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมอ สาเหตุ อาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมอกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงสัญญาณเตือนเมื่อมีอาการของปัญหาสุขภาพ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย แล้วเจอกันบทความหน้านะคะ ขอบคุณค่ะ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ต้องนอนเท่าไรถึงจะพอดีและดีพอ
 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow