Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

9 เทคนิคเพื่อวัยซน ... ก้าวบนสมาธิ

Posted By Plook Parenting | 11 ธ.ค. 61
3,688 Views

  Favorite

“สมาธิ” เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้และจดจำของเด็ก ช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ทำให้เรียนได้ดี  รวมไปถึงด้านสภาวะทางอารมณ์และจิตใจที่ดีพร้อม เรียกได้ว่ามีทั้ง IQ ดี EQ เด่น

 

เด็กอายุ 6-10 ปี อยู่ในช่วงวัยกำลังโต กำลังเรียนรู้ จึงเป็นธรรมชาติของเด็กที่มักจะตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบข้างได้ง่าย เดี๋ยวก็หันซ้ายที เดี๋ยวก็หันขวาที อยู่ไม่สุกบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าเขาถึงขั้นขาดสมาธิ ไม่จดจ่ออยู่กับอะไรเลย คงจะกลายเป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่เป็นแน่

 

เราจึงได้เลือกสรรวิธีการปลูกฝังและฝึกฝนให้เด็กมีสมาธิดีแต่เล็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน กับ 9 แนวทางสร้างสรรค์สมาธิผ่านการเรียนรู้ที่ลูกชอบ

 

1. ของเล่นแสนสนุก

ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือเกมที่ต้องใช้ความคิด เช่น เกมจับคู่ ต่อจิ๊กซอว์ เลโก้ บล็อกไม้ หมากฮอส ฯลฯ  เพราะการฝึกให้ลูกเล่นของเล่นทีละอย่างจะช่วยให้ลูกมีสมาธิกับการเล่นได้นานขึ้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

2. ศิลปะหรรษา

การทำงานศิลปะเป็นกิจกรรมยามว่างที่สนุก เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย แต่สมาธิจดจ่ออยู่กับชิ้นงานที่ทำ โดยช่วยเสริมสร้างทักษะการทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตาให้เด็กได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ ระบายสี ขีด ๆ เขียน ๆ ทำงานประดิษฐ์ ปั้นดินเหนียว ดินน้ำมัน แป้งโด หรือการพับกระดาษก็ตาม

 

ภาพ : Shutterstock

 

3. เพลิดเพลินกับธรรมชาติ

ให้ลูกได้ออกไปสัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติรอบตัว กระตุ้นการเรียนรู้จากต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ในสวนหลังบ้าน หรือตามสวนสาธารณะ ได้ตลอดเวลา อาจเรียนรู้การปลูกต้นไม้ คอยดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ย เพื่อฝึกสมาธิในการเฝ้าสังเกต ติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแต่ละวัน

 

4. ใกล้ชิดธรรมะแต่เล็ก

เรื่องของธรรมะไม่เข้าใครออกใคร หมั่นปลูกฝังให้ลูกซึบซับศีลธรรมอันดีแต่เล็ก การนั่งสมาธิเป็นวิธีการสร้างสมาธิโดยตรงที่สุด หรืออาจชวนสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน เพื่อให้จิตใจนิ่งสงบ มีสติ ใจเย็น  นอกจากนี้ ยังมีวิธีอย่างการเข้าลองไปสัมผัสธรรมะผ่านค่ายธรรมะที่ทางวัดหรือโครงการต่าง ๆ จัดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม เช่น การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน อย่าง “โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม” ที่เปิดรับสมัครเด็กชายอายุ 7-10 ปี มาเข้าร่วมโครงการอีกด้วย (รายละเอียดเพิ่มเติม: www.trueplookpanya.com/truelittlemonk)

 

ภาพ : truelittlemonk

 

5. ฟังเพลง เล่นดนตรี ดีต่อสมาธิ

หลังจากวุ่นวายมาทั้งวันแล้ว วิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้จิตใจสงบ เพียงแค่ลองเปิดเพลงที่ฟังสบาย ๆ เช่น เพลงคลาสสิก เพลงบรรเลง เสียงธรรมชาติ ฯลฯ เพราะเมื่อจิตใจสงบ ทำให้เกิดคลื่นสมองที่เรียกว่าคลื่นอัลฟา (Alpha Wave) ซึ่งเป็นภาวะที่มีสมาธิและเหมาะสมในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน และมีใจจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้เป็นอย่างดี

 

6. อ่านหนังสือนิทาน เสริมความรู้คู่จินตนาการ

คุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนเล่านิทาน เพื่อฝึกให้ลูกได้ฝึกทักษะการฟังและการออกเสียง หรือจะผลัดให้เขาฝึกอ่านออกเสียงด้วยตัวเองก็ได้ ทั้งทำให้ได้จดจ่ออยู่กับตัวหนังสือหรือตัวละคร และเสริมสร้างจินตนาการตามเรื่องราวที่อ่านได้อีกด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

7. จัดมุมสงบเป็นพื้นที่ส่วนตัวให้ลูก

จัดการให้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และบริเวณภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้อึกทึกครึกโครมอยู่ตลอดเวลา มีมุมเงียบสงบส่วนตัว ให้เขาได้นั่งเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเขาเองได้อย่างมีสมาธิ เช่น นั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือทบทวนบทเรียนโดยเฉพาะ

 

8. สนับสนุนสิ่งที่ลูกชอบ

อะไรที่ลูกดูให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือทำกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง เช่น ไปพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ เตะฟุตบอล ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การทำอาหาร ฯลฯ ก็ควรกระตุ้นให้เขาเกิดความอยากเรียนรู้ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับความสนใจนั้นต่อไป  สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังหากิจกรรมอะไรดีให้คุณลูกทำแล้วล่ะก็ www.kiddeepass.com เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่รวบรวมกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวเอามาแนะนำเอาไว้แล้ว

 

ภาพ : Shutterstock

 

9. สร้างวินัยผ่านกิจวัตรประจำวัน

สุดท้าย กับวิธีการง่าย ๆ ใกล้ตัว ที่สร้างนิสัยที่ดีให้ลูกและเสริมสร้างสมาธิได้ในทุกวัน ด้วยการทำให้เด็กรู้จักวินัย มีระบบระเบียบ รับผิดชอบ ผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน เริ่มต้นได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เช่น การเก็บที่นอน การติดกระดุมเสื้อ ตักข้าวทาน การช่วยงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ รดน้ำต้นไม้ ซักถุงเท้า ฯลฯ (แต่ต้องไม่เคร่งครัดมากจนเกินไป)

 

เพียงเท่านี้ … เมื่อเด็กมีสมาธิ เขาก็จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีความตั้งใจจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานขึ้น นิ่งขึ้น ตัดสินใจได้ดี และมีความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น … สมาธิดีแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็หายห่วงได้แน่นอน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow