Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเชื่อผิด ๆ ที่พ่อแม่มักมีต่อลูก

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 07 พ.ย. 61
6,287 Views

  Favorite

ทันทีที่ลูกเกิดมา แน่นอนว่าคนที่ดีใจและพร้อมที่จะให้ความารักกับลูกมากที่สุด ก็คือ พ่อแม่ แต่ในความรักนั้นมักแฝงมาด้วยความคาดหวังและความปราถนาที่จะให้ลูกเป็นในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นความเชื่อที่ทำให้พ่อแม่ใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงดูลูก

 

แต่แนวคิดหรือความเชื่อบางอย่างนั้นใช่ว่าจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของลูกเสมอไป มาดูกันว่าแนวคิดใดบ้างที่กลายมาเป็นความเชื่อแบบผิด ๆ ที่อาจส่งผลพัฒนาการของลูกในอนาคต

 

ภาพ : Shutterstock

 

ตัวอย่างความเชื่อผิด ๆ ของพ่อแม่

1. ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่

พ่อแม่มีสิทธิในตัวลูกที่จะวางแนวทางหรือให้ลูกเป็นอะไรก็ได้ที่พ่อแม่เห็นว่าเหมาะสม สิ่งที่พ่อแม่ได้เลือกแล้ว คือสิ่งที่ดีที่สุด ลูกมีหน้าที่เชื่อฟังและปฎิบัติตามแนวทางที่พ่อแม่วางไว้ และที่สำคัญลูกมีหน้าที่เชื่ิอฟังและเลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าพ่อแม่ เลี้ยงดูลูกมา จริง ๆ แล้วการที่ลูกจะเลี้ยงดูหรือปฏิบัติในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการนั้น ไม่ใช่เกิดจากการ “บังคับ” หรือทำเพราะเป็น “หน้าที่ แต่เกิดจาก ความรักและความผูกพัน ที่ลูกนั้นมีต่อพ่อแม่ ดังนั้นไม่ว่าโตขึ้นลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่จงจำไว้ว่า “ลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่” เขามีสิทธิในการเลือกและดำเนินชีวิตในแบบของเขาเอง

2. เด็กชน คือ เด็กดื้อ

พ่อแม่ส่วนมากมักตั้งกรอบไว้ว่า เด็กซน คือ เด็กดื้อ ซึ่งในความจริงแล้วเราต้องหันกลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ซน” กับ “ดื้อ” คืออะไร ความซน คือ การที่เด็กไม่อยู่เฉย ไม่อยู่นิ่ง ชอบทำกิจกรรมตลอดเวลา ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นธรรมชาติของเด็กที่มักไม่อยู่นิ่ง เพราะวัยเด็กคือวัยแห่งการทดลองและเรียนรู้ กระบวนการทางสมองของเขากำลังทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่เด็กดื้อ คือ เด็กที่รั้น ไม่เชื่อฟัง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำจากใครเลย เห็นไหมคะว่า “เด็กซน” กับ “เด็กดื้อ” มีความหมายที่ต่างกัน

3. สิ่งที่พ่อแม่ชอบ คือสิ่งที่ลูกควรทำ

อีกหนึ่งความเชื่อผิด ๆ ที่เราพบมากที่สุด คือ การคาดหวังว่าลูก ๆ จะต้องเป็นหรือชอบทำในสิ่งที่เหมือนพ่อแม่ เช่น บ้านที่พ่อแม่เป็นหมอทั้งบ้าน ก็คาดหวังและผลักดันให้ลูกเป็นหมอ ซึ่งความเชื่อแบบนี้ อาจเป็นสิ่งย้อนกลับไปทำร้ายลูก ๆ ได้ เพราะในบางครั้ง การที่ลูกต้องเติบโตภายใต้กรอบความคิดหรือความคาดหวังจากพ่อแม่ อาจทำให้ลูกต้องแบกรับความกดดัน จนไปปิดกั้นจินตนาการและความฝันของตนเอง ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ความเข้าใจ และให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ในสิ่งที่ลูกชอบ เพื่อสร้างโอกาสและทางเดินที่เหมาะสมกับลูกในอนาคต

4. เด็กเรียนเก่ง คือ เด็กที่ประสบความสำเร็จ

จริง ๆ แล้วความเชื่อเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่ระบบการศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่มักคิดว่าการที่ลูกเรียนเก่ง ๆ เรียนโรงเรียนชื่อดัง เรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ จะเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสำเร็จในชีวิตของลูกได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ลูกเรียนเก่ง หรือการได้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ใช่คำตอบไปสู่การค้นพบความสุขของชีวิต และการเรียนสูงก็ไม่ได้รับประกันว่าชีวิตเราจะประสบความสำเร็จตามสูตรที่สังคมกำหนดไว้ พ่อแม่ต้องควรเปลี่ยนความคิดมาสอนให้ลูกรู้จักการใช้ชีวิต รู้จักเข้าใจตนเอง และส่งต่อความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปสู่ผู้อื่น  สอนลูกให้รู้จักมีเมตตากับคนอื่น เพราะบุคคลที่จะประสบความสำเร็จได้ นอกจากมีความเก่งและความพยายามแล้ว แรงผลักดันหรือการส่งเสริมจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญ

 

เพราะ “ลูก” เกิดจากความรัก และเติบโตด้วยความรัก ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่จะช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อให้พวกเขาเติบโตไปใช้ชีวิตในสังคมได้ ก็คือ การเลี้ยงดูและสร้างพลังกายพลังใจให้กับลูก ปล่อยให้ลูกได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และได้ใช้ศักยภาพที่ตนเองมี เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตและประสบความสำเร็จในแนวทางที่ตนเองหวังไว้

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow