Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชวนเที่ยวเจาะลึก 7 วัดวังในกรุงเทพฯ ที่ห้ามพลาด !

Posted By ไกด์เตยหอม | 06 พ.ย. 61
6,024 Views

  Favorite

กรุงเทพมหานคร ราชธานีของไทย เมืองที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวที่สุดในโลก และไทยได้รับยกย่องให้เป็น “Best Country for People” จากนิตยสารท่องเที่ยวชั้นนำในต่างประเทศ

 

ในฐานะที่เราเป็นชาวไทย หากมีโอกาสก็อยากชวนทุกท่านตื่นแต่เช้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ บ้านไกด์เตยหอมกันสักครั้ง เส้นทางแนะนำในครั้งนี้เป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ใครเคยบอกว่าวัดพระแก้วแออัดมาก แต่หากไปตั้งแต่ยามตะวันเบิกฟ้าละก็ รับรองว่าปลอดโปร่งโล่งสบายเชียวค่ะ !

 

สถานที่ที่จะพาชมวันนี้: ศาลหลักเมือง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พระบรมมหาราชวัง, พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวราราม

การแต่งกาย: เสื้อมีแขนปิดไหล่ไม่รัดรูป กางเกง (ชาย) กระโปรง (หญิง) ยาวเลยเข่า ห้ามเสื้อผ้าขาดรุ่ย รองเท้าปิดปลายเท้าและส้นเท้า (ไม่เช่นนั้นต้องเช่า ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

จำนวน: ไม่เกิน 10 คน/กลุ่ม (ถ้าเกินต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าชมเป็นหมู่คณะล่วงหน้า 1 สัปดาห์)

อุปกรณ์เสริม: ร่ม หมวก ทิชชู่ ทิชชู่เปียก น้ำดื่มขวดเล็กๆ

 

จุดที่ 1 ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ภาพ : กสิณธร ราชโอรส

 

เวลาเปิด-ปิด: 6.30 – 18.30 น.                            
เวลาที่ใช้: ประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม: ฟรี                                                   
ข้อมูลเพิ่มเติม: มีห้องน้ำ โรงอาหาร และร้านกาแฟใกล้ ๆ

สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล ชาวไทยส่วนมากนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ฮินดูควบคู่กันไป การจะสร้างราชธานีใด ๆ จึงต้องมีการประกอบ พระราชพิธีนครฐาน ณ ชัยภูมิสำคัญของเมืองนั้น ๆ ตามฤกษ์งามยามดีที่โหรกำหนด เพื่อบรรจุชะตาพระนคร (ดวงเมือง) ลงไป ให้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ต่อมาในสมัย ร. 4 หลักเมืองเดิมชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดฯ ให้สร้างหลักเมืองใหม่ทำให้เราเห็นมี 2 ต้นอย่างในทุกวันนี้ โดยต้นสูงหัวบัวเป็นต้นเดิม ต้นปัจจุบันคือต้นเตี้ย อาคารศาลหลักเมืองปัจจุบัน สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ยอดปรางค์ และนภศูล หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบเป็นลายดอกพุดตาน ซึ่งเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัย ร. 3

ในบริเวณใกล้ ๆ กัน จะมีศาลเทพารักษ์สำคัญอันได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี ที่ดูแลปกป้องคุ้มครองเมืองจากผีป่าหรือสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ประดิษฐานไว้อีกด้วย ผู้คนนิยมมาสักการะขอพรให้เกิดความก้าวหน้าหรือเสริมหลักชัยให้ชีวิต  

 

จุดที่ 2 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เวลาเปิด-ปิด: 7.30 (เข้าทางประตูสวัสดิโสภา) – 15.30 น.                
เวลาที่ใช้: ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม: ฟรี (สำหรับชาวไทย)          

วัดคู่บ้านคู่เมืองของไทย เป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง ไม่มีเขตสังฆาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระนครศรีอยุธยา เป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทยที่ปรากฎในเหรียญบาท และเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปหยกสำคัญที่สุดองค์หนึ่งของไทย ภายในวัดพระแก้วมีอาคารสำคัญต่าง ๆ มากมาย เช่น พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ฯลฯ 

นอกจากนี้ ในระเบียงคดรอบพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จำนวนทั้งสิ้น 178 ห้อง เรื่องรามเกียรติ์ และมีนครวัดจำลอง ซึ่ง ร. 4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบปราสาทหินนครวัดองค์จริงในกัมพูชา ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จเพราะพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 เสด็จสวรรคตเสียก่อน โดยย่อส่วนลงและสร้างเลียนแบบด้วยปูนจนสมบูรณ์ เพื่อให้ชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมโบราณอันยิ่งใหญ่ซึ่งปัจจุบันได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก 

ข้อมูลเพิ่มเติม: ช่วงก่อน 8.30 น. เป็นช่วงที่ยังไม่เปิดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้คนไม่มากนัก สงบ และสามารถถ่ายรูป หรือนั่งสวดมนต์ทำสมาธิในวัดได้อย่างสงบสบายที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่าการถ่ายรูปจิตรกรรมฝาผนัง "ห้ามใช้แฟลช" นะคะ และบริเวณทางออกฝั่งประตูศรีรัตน์ (ที่จะออกไปสู่พระบรมมหาราชวัง) มีเครื่อง AED ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อมาให้ไว้สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วยค่ะ

 

จุดที่ 3 พระบรมมหาราชวัง

ภาพ : Yakuzakorat

 

เวลาเปิด-ปิด: 8.30 – 16.30 น.                       
เวลาที่ใช้: ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม: ฟรี (สำหรับชาวไทย)        

พระบรมมหาราชวัง ถูกสร้างขึ้นตามธรรมเนียมอย่างพระราชวังหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อออกจากวัดพระแก้วจะพบกับพระที่นั่งบรมพิมานทางซ้ายมือซึ่ง ร. 5 ทรงให้สร้างขึ้นพระราชทาน ร. 6 ที่ในขณะนั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป หลังคามุงหินชนวนสีดำเป็นโดมประทุนแบบ “มองซาต์ รูฟ” ในสมัย ร. 9 เคยใช้เป็นที่ประทับและพำนักของพระราชอาคันตุกะสำคัญระดับประมุขของประเทศ

ถัดมาทางขวาจะเป็นหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีหลายหลัง เปรียบเสมือน "ที่พัก" ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด เช่นเดียวกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จในพระนครศรีอยุธยา เพียงแต่ไม่มียอดปราสาทอันเป็นการแสดงถึงการถ่อมพระองค์ของ ร. 1 ที่ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะประทับในอาคารชั้นรองกว่าพระมหาปราสาท ในสมัย ร. 9 ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีมงคลสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อเดินต่อมาจะถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตัวอาคารเป็นแบบอังกฤษ แต่เครื่องบนเป็นยอดปราสาทแบบไทยประเพณี ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้รับสั่งเรียกว่าเหมือน “ฝรั่งสวมชฎา” เป็นความงดงามที่เกิดจากผสมผสานของศิลปะไทยและตะวันตก ในสมัย ร. 9  ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะและพระราชทานเลี้ยงอย่างเป็นทางการ 

สุดถนนจะเป็นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจัตุรมุขแบบไทยประเพณีซึ่ง ร. 1 โปรดให้ถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระราชินีแทบจะทุกพระองค์ รวมถึงพระบรมวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าเป็นพิเศษ (ยกเว้น ร. 7 ซึ่งมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในอังกฤษแล้วจึงเชิญพระบรมอัฐิกลับประเทศไทย)   

ข้อมูลเพิ่มเติม: หากไปในวันจันทร์ – ศุกร์ สามารถไปรับประทานอาหารชาววัง เช่น แกงคั่วกระท้อน หมูผัดใบยี่หร่า สาเกแกงบวด ฯลฯ ฝีมือนักศึกษาวิทยาลัยในวังหญิงได้ที่หอนิเพทพิทยา เวลาประมาณ 11.00 น. (เมนูในแต่ละวันจะไม่เหมือนกันนะคะ ราคาก็ย่อมเยาว์ ข้าวราดแกง 1 อย่าง 40 บาท 2 อย่าง 50 บาท แถมอร่อยถึงรสถึงเครื่องที่สุดด้วยค่ะ) 

 

จุดที่ 4 พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ภาพ : Supanut Arunoprayote

 

เวลาเปิด-ปิด: 8.30 – 16.00 น.                       
เวลาที่ใช้: ประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม: ฟรี (สำหรับชาวไทย)      

เดิมเป็นอาคารโรงกษาปณ์สำหรับผลิตเงินตราขึ้นใช้ในประเทศ สร้างสมัย ร. 5 ต่อมาคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525 ได้มีการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งพระอาราม พบชิ้นส่วนเครื่องตกแต่งอาคารฝีมือชั้นครูที่ชำรุดทรุดโทรมแล้ว แต่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นตัวอย่าง รวมทั้งยังมีพระพุทธรูปและสิ่งของที่พระมหากษัตริย์และประชาชนได้ถวายพระแก้วมรกตจำนวนมาก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นแม่กองอำนวยการบูรณะครั้งนั้น จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์แห่งนี้มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุเหล่านั้นตราบจนทุกวันนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม: บริเวณโถงชั้นล่างมีจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังแก่ผู้สนใจ บางเล่มราคาเพียง 20 บาทเท่านั้นเองค่ะ

 

จุดที่ 5 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ภาพ : Supanut Arunoprayote

 

เวลาเปิด-ปิด: 9.00 - 16.30 น.                        
เวลาที่ใช้: ประมาณ 1 ชั่วโมง (รอบสุดท้าย: 15.30 น.)
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 150 บาท, ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 80 บาท, นักเรียน / นักศึกษา (แสดงบัตรประจำตัว) / เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท, เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ฟรี   

ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในเขตพระราชฐานชั้นนอก เดิมเป็นที่ทำการกรมพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาเป็นที่ทำการสำนักงานธนาคารชาติไทย กรมธนารักษ์ ราชบัณฑิตยสถาน กองพระราชพิธี จากนั้นจึงว่างเว้นจากการใช้งานจนกระทั่งใน พ.ศ. 2546 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้อาคารหอรัษฎากรพิพัฒน์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดแสดงผ้าไทยและฉลองพระองค์ รวมทั้งหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าทั้งของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองจากท้องถิ่นต่าง ๆ อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม: บริเวณชั้นล่างมีห้องกิจกรรมซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละช่วง มีร้านกาแฟและร้านผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ต่าง ๆ เป็นของที่ระลึกในราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพของชิ้นงานเหล่านั้นและเป็นการสนับสนุนงานศิลปาชีพของไทยให้คงอยู่ต่อไปด้วยค่ะ

 

จุดที่ 6 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เวลาเปิด-ปิด: 8.30 – 18.30 น. (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณและนวดแผนโบราณ (ในบริเวณวัดโพ) ปิด 17.00 น.)
เวลาที่ใช้: ประมาณ 1 – 4 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม: ฟรี (สำหรับชาวไทย) 

วัดประจำรัชกาลที่ 1 โดยที่ฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน เดิมชื่อ “วัดโพธาราม” มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ร. 1 และ ร. 3 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ เป็นวัดที่มีเจดีย์เป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยเจดีย์สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระเจดีย์อุทิศถวายพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระชนม์ชีพในช่วงเวลาเดียวกัน (เคยทรงเห็นกันทั้ง 4 พระองค์) มีพระนอนที่งดงามที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ ซึ่งมีจารึกมากกว่าพันชิ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์แผนไทย หรือโคลงกลอนกลบทต่าง ๆ ที่ปัจจุบันได้รับการ ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำโลก โดยยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว 

เกร็ดความรู้

ทำไมถึงเขียนว่า "วัดโพ" เพราะเดิมชื่อ "วัดโพธาราม" แปลว่า พระอารามที่มี ต้นโพ และ ต้นโพ ที่ไม่ใช้ต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก็จะเป็น "โพ" ธรรมดา ไม่ใช่ "โพธิ" หรือ "โพธิ์" ที่หมายถึง "ความตรัสรู้" แต่ปัจจุบันหลายๆ คนก็อนุโลมให้เขียนว่า "โพธิ์" ได้ แม้จะไม่ค่อยตรงความหมายนักก็ตามค่ะ

 

จุดที่ 7 วัดอรุณราชวราราม

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เวลาเปิด-ปิด: 8.30 – 16.00 น. (พระปรางค์)
เวลาที่ใช้: ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม: ฟรี (สำหรับชาวไทย)         

อีกชื่อหนึ่งคือ วัดแจ้ง หรือ วัดมะกอก ที่ชื่อวัดแจ้งนั้น เล่าต่อ ๆ กันมาว่าเป็นเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงทำศึกเสร็จ ยกทัพมาถึงบริเวณนี้ในเวลารุ่งสาง ฟ้าแจ้งพอดี เป็นวัดประจำพระราชวังหลวงสมัยกรุงธนบุรี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน และเป็นวัดประจำ ร. 2 โดยพระเศียรของพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นปฏิมากรรมฝีพระหัตถ์ ซึ่ง ร. 2 ทรงปั้นหุ่นดินที่เป็นแบบด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์ประธานซึ่งสร้างขึ้นในความหมายของเจดีย์ตามคติเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้นอาจเทียบได้กับวัดไชยวัฒนารามในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็เป็นวัดที่มีพระปรางค์เป็นประธาน แตกต่างกันตรงที่พระปรางค์วัดอรุณฯ จะสูงเพรียวกว่า และประดับด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบจากเศษเครื่องกระเบื้องเคลือบที่แตกหักเสียหายระหว่างการขนส่งโดยเรือสำเภาจากจีนมาไทย ในสมัย ร. 3 และพระองค์โปรดฯ ให้นำมาประดิษฐ์ใช้ให้เกิดประโยชน์แทนที่จะปล่อยทิ้งให้เสียของ

นอกจากนี้ บนยอดนภศูลเหนือพระปรางค์นั้น ร. 3 ยังโปรดฯ ให้นำมงกุฎมาสวมไว้อาจเพื่อเป็นนิมิตรหมายว่าในกาลภายหน้า เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระนามเดิมของ ร. 4) จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป วัดอรุณจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งและเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ  

ข้อมูลเพิ่มเติม: มีบริการเช่าชุดไทยถ่ายรูปบริเวณลานด้านหน้าวัด

 

ถ้าบริหารเวลาดี ๆ เราก็จะมาถึงจุดสุดท้ายคือ วัดอรุณฯ ตอนราวบ่าย 3 ครึ่ง รีบขึ้นชมพระปรางค์ภายในพระอุโบสถก่อน จากนั้นค่อยมาถ่ายรูปด้านนอก ไม่ว่าจะกับพี่ยักษ์ทั้งสอง หรือหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ก็สวยเก๋ไม่แพ้กัน ถ้าเหนื่อยเต็มทีแล้วก็อาจข้ามเรือกลับไปชิวตามคาเฟ่ บาร์ หรือร้านอาหารริมน้ำ ซึ่งมีให้เลือกไม่น้อยในฝั่งท่าเตียน และปิดท้ายวันดี ๆ ด้วยภาพความงดงามยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแบบสุดคลาสสิกของกรุงเทพมหานคร 

 

ภาพ : KOSIN SUKHUM

 

"เที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋ อย่างยั่งยืน" ของดีมีอยู่ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow