Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กลิ่นหนังสือเก่า เสน่ห์นี้มีที่มา

Posted By sanomaru | 26 ต.ค. 61
12,312 Views

  Favorite

ในงานสัปดาห์หนังสือ งานมหกรรมหนังสือ หรืองานหนังสือลดราคาต่าง ๆ  เรามักเห็นการรวมตัวของผู้ที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือจำนวนมาก ต่างคนต่างเดินเลือกซื้อหนังสือภายในงานอย่างเพลิดเพลิน บ้างก็ว่าเพราะติดตามนักเขียนบางท่านหรือมีแนวหนังสือที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ขณะที่บางคนบอกว่า หลงใหลในกลิ่นของหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง แต่สามารถอธิบายได้โดยหลักวิทยาศาสตร์

 

หนังสือแต่ละเล่มมีกลิ่่นเฉพาะตัว กลิ่นเหล่านี้ก็คือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่หนังสือปล่อยออกมา โดยมีต้นกำเนิดมาจากสารประกอบหลากหลายชนิดที่ประกอบกันขึ้นเป็นหนังสือ เราอาจได้กลิ่นหนังสือคล้ายกับกลิ่นไม้ กลิ่นควันไฟ กลิ่นดิน หรือกลิ่นหมึกที่เพิ่งถูกพิมพ์ลงบนกระดาษได้ไม่นาน มันแตกต่างกันเนื่องมาจากอายุของหนังสือ สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษ สารเคมีในหมึกพิมพ์ และสารเคมีจากกาวหรือวัสดุเชื่อมต่อเพื่อให้หนังสืออยู่ในลักษณะของรูปเล่มได้

 

หนังสือเก่าจะมีกลิ่นแบบหนึ่ง เช่น กลิ่นหอมหวานจากสารที่ชื่อว่า โทลูอีน (Toluene) หรือเอทิลเบนซิน (Ethyl Benzene) กลิ่่นวานิลลาจากสารที่เรียกว่า วานิลลิน (Vanillin) หรือกลิ่นคล้าย ๆ อัลมอนด์จากสารที่เรียกว่า เบนซัลดีไฮด์ (Benzaldehyde) หรือเฟอร์ฟูรัล (Furfural) ซึ่งกลิ่นจากสารเคมีดังกล่าวเกิดจากการสลายของสารเคมีบางอย่างในกระดาษ

 

เนื่องจากกระดาษทำมาจากไม้ที่ประกอบไปด้วยเซลลูโลสซึ่งมีสีขาวและลิกนินซึ่งมีสีเข้ม เมื่อเวลาผ่านไป กระดาษสัมผัสกับอากาศและแสงแดด ลิกนินจะเกิดการออกซิไดซ์ (Oxidized) ได้เป็นกรดฟีนอลิก (Phenolic acid) ซึ่งทำให้กระดาษเป็นสีเหลือง และกรดนี้ยังไปทำปฏิกิริยากับเซลลูโลสจนเกิดเป็นกลิ่นเฉพาะขึ้นมาในที่สุด ดังนั้น กระดาษที่ดีจะประกอบไปด้วยลิกนินในปริมาณน้อย ซึ่งทำให้กระดาษไม่เหลืองง่ายเหมือนกับกระดาษหนังสือพิมพ์

 

สำหรับหนังสือใหม่จะมีกลิ่นที่แตกต่างจากหนังสือเก่า กลิ่นของมันมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ในการผลิต ได้แก่ กระดาษซึ่งมีกลิ่นจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต หมึกพิมพ์ และกาวที่ใช้ยึดเล่มหนังสือ เช่น กลิ่นกาวจากสารเคมีที่ชื่อว่าไวนิลอะซีเตตเอทิลีน  (Vinyl Acetate Ethylene) หรือกลิ่นของกระดาษและน้ำหมึก ที่เรียกว่า แอลคิลทีนคีทีนไดเมอร์ (Alkyl Ketene Dimer)

 

กลิ่นของหนังสือทั้งใหม่และเก่าเป็นกลิ่นของสารประกอบทางเคมีหลายชนิดผสมกัน ไม่ใช่สารเคมีเพียงตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้สารประกอบทางเคมีบางตัวที่ให้กลิ่น เช่น เฟอร์ฟูรัล ยังสามารถใช้เป็นตัวบอกอายุของหนังสือได้อีกด้วย

 

เมื่อหนังสือเก่าปล่อยสารประกอบเคมีในรูปแบบของกลิ่นหวานหอมออกมา ก็คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า ทำไมเราจึงหลงเสน่ห์ของหนังสือเก่า หรือแม้แต่หนังสือใหม่ และเวลาที่แวะเวียนเข้าร้านหนังสือทีไร กลิ่นของหนังสือก็มักจะลอยมาหลอกล่อเราให้ซื้อหาติดไม้ติดมือกลับไปอ่านที่บ้านทุกที

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow